"หวั่งหลีสูญเสีย "สุวิทย์" จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญใน 123 ปี"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่ปี 2414 จวบจนถึงปัจจุบัน 123 ปีแห่งตำนานเก่าแก่ของคนในตระกูลหวั่งหลีได้เริ่มต้นเมื่อ "ตันฉื่อฮ้วง" บรรพบุรุษต้นตระกูลหวั่งหลีคนแรก ได้เดินทางมาติดต่อค้าขายและลงหลักปักฐานในเมืองไทย กิจการส่งออก-นำเข้า และโรงสีที่ใหญ่ที่สุดได้กลายเป็นฐานเงินทุนที่สั่งสมให้คนรุ่นหลังในครอบครัวใหญ่เช่นนี้ได้ดำรง รักษาสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจไว้อย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง

สุวิทย์ หวั่งหลี เกิดและตายในห้วงเวลาที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงของคนในตระกูลหวั่งหลี สุวิทย์เป็นคนหวั่งหลีในรุ่นที่สี่ เป็นบุตรชายคนโตของตันซิวเม้งและทองพูน

ช่วงเวลาที่สุวิทย์ยังเยาว์เหตุการณ์ผันแปรทางการเมืองไทยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์และในปี 2488 ตันซิวเม้ง บิดาของสุวิทย์ต้องถูกปองร้ายถึงชีวิตในสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในฐานะผู้นำชาวจีนโพ้นทะเลในไทย

นี่คือสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้คนในตระกูลหวั่งหลีในรุ่นต่อมาไม่พยายามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

จวบจนกระทั่งวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2537 อุบัติเหตุเครื่องบินตกได้ปลิดชีวิตของสุวิทย์ไปอย่างไม่คาดคิด !! เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนตระกูลหวั่งหลีและเป็นโศกนาฏกรรมครั้งแรกของสมาคมสโมสรการบินพลเรือนในรอบ 14 ปี

ในปี 2520 สุวิทย์สมัครเป็นสมาชิกสมาคมสโมสรการเรียนขับเครื่องบินคอร์สพิเศษ คอร์สละ 40,000 บาทฝึกบินจนถึงระดับชั้นแนวหน้าที่มีเพดานบินกว่า 1,000 ชั่วโมงและเป็นอุปนายกสมาคมฯ

เมื่อปี 2534 รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนมีเครื่องบินส่วนตัวได้สุวิทย์ดีใจมากและได้ซื้อพาหนะ คู่ใจ "TB 20/L" มูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทจากฝรั่งเศสมาทันที โดยมีเพื่อนเศรษฐีอีกไม่ต่ำกว่า 76 รายซื้อเช่นกันเช่น รชฎ กาญจนวณิชย์ ชาญ โสภณพานิช กฤษฎา อรุณวงษ์ และบุณยสิทธิ์ โชควัฒนาที่นิยมขับเครื่องบิน บินมาพบปะกันเสมอที่สนามบินบางพระ ศรีราชาและสนามบินบ่อฝ้าย หัวหิน

หนึ่งในหมู่มิตรสหายนักบินที่รักมานาน ก็คือวิลเลี่ยม แอลวู้ด แฮนเนคคี เจ้าของไมเนอร์กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของบริษัทสาธรธานีเจ้าของตึกสาธร ซึ่งเป็นศูนย์รวมกิจการของตระกูลหวั่งหลีและเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาที่ดิน เฮนเนคคีรักใคร่กลมเกลียวกับพี่น้องสุวิทย์มายาวนาน เมื่อทราบข่าวอุบัติเหตุครั้งรุนแรงนี้ เฮนเนคคีแทบช็อคและร่วมฝ่าอันตรายค้นหาสุวิทย์ ด้วยอุปกรณ์อันทันสมัยและมีประสิทธิภาพของเฮนเนคคี ทำให้ในอีกวันต่อมาจึงพบ

แต่ในวันมรณะนั้นสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากสภาพอากาศปิด ทัศนวิสัยเลวร้ายแถบเทือกเขาสูงพญาป่อ จังหวัดแพร่-อุตรดิตถ์ เป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุม อีกสองวันต่อมาทีมค้นหาจึงพบซากเครื่องบินส่วนตัว TB 20/L กับศพผู้สวมเสื้อเชิ๊ตแขนสั้นสีขาว กระเป๋าด้านซ้ายปักชื่อย่อ "S.W"

สุวิทย์ได้จบชีวิตด้วยความรักในการบินและรับผิดชอบต่อภารกิจส่วนรวมในฐานะประธานสภาหอการค้าไทย ครั้งหนึ่งสุวิทย์เคยกล่าวว่า บินแล้วสนุกท้าทายและลืมเรื่องอื่นหมดสิ้น

"ปกติคุณสุวิทย์เป็นคนละเอียดถี่ถ้วน ก่อนบินจะมีช่างลงลายเซ็นดูแลเครื่องเมื่อตรวจสภาพเรียบร้อยแล้ว และก่อนที่จะขับเครื่องบินก็จะมาตรวจเช็คตามรายการที่กำหนดไว้ก่อนบินทุกครั้ง เขาเป็นคนที่มีความสามารถในเกณฑ์ที่ดี แม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม รวมทั้งมีความระลึกเสมอว่า ความสำคัญและความจำเป็นในวิชาชีพจะต้องเดินทางบ่อย ๆ ดังนั้นการบินทุกครั้งจะต้องมีครูฝึกเดินทางด้วยบ่อยๆ" น.ต. กระสินธุ์ นาคะอภิผู้อำนวยการการบินสมาคมสโมสรการบินพลเรือนเล่าให้ฟัง

สิ้นสุวิทย์ เช้าวันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม วรวีร์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวกับนักข่าวว่า "ขาดคุณสุวิทย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญไป ย่อมได้รับผลกระทบบ้าง"

หากย้อนพิจารณาแนวการดำเนินธุรกิจของสุวิทย์ หวั่งหลี จะพบว่าความทะเยอทะยานทางธุรกิจของสุวิทย์มีน้อยมาก ๆ การบริหารงานที่เน้นความมั่นคงทำให้ถูกมองว่าเป็น "อนุรักษ์นิยม" โดยเฉพาะกิจการเก่าแก่อย่างธนาคารนครธนซึ่งสุวิทย์เปลี่ยนชื่อจากธนาคารหวั่งหลีในปี 2528

ภารกิจสร้างธนาคารนครธนในฐานะกิจการครอบครัวในยุคสุวิทย์ สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในตระกูลได้เมื่อสามารถดึง "หวั่งหลี" สายอื่น ๆ เข้ามาร่วม เช่น วรวีร์ หวั่งหลี ลูกชายของตันสิ่วติ่งได้ลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของคาลเท็กซ์ ทำนุ หวั่งหลี ญาติผู้น้องซึ่งทำงานกับธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้

รากฐานโครงสร้างที่ปรับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้สุวิทย์ได้ขึ้นเป็นประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO ของแบงก์นครธน ทำให้วันนี้ วรวีร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่จำเป็นต้องควบตำแหน่งรักษาการของสุวิทย์ไว้ก่อน รอจนกระทั่งสิ้นสุดการไว้ทุกข์ให้แก่สุวิทย์ จึงจะมีการปรับและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงใหม่

อาณาจักรของหวั่งหลีในห้วงเวลานี้จึงตกอยู่ในห้วงเวลาอันโศกสลด ทุกธุรกรรมของทุกธุรกิจในสายที่สุวิทย์ หวั่งหลีสร้างสรรค์ขึ้นมาหยุดนิ่งประหนึ่งไว้อาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจการแบงก์นครธน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พูลพิพัฒน์ บริษัทนวกิจประกันภัย และกลุ่มบริษัทพูนผลที่แตกขยายไปทำธุรกิจพัฒนาที่ดินซึ่งตระกูลหวั่งหลีสายนายแม่ทองพูนครอบครองที่ดินย่านสำคัญๆ เช่น รังสิต ทุ่งมหาเมฆ ตรอกจันทร์ ย่านปู่เจ้าสมิงพรายไว้มากมาย

แต่ประสบการณ์ที่เคยผ่านการสูญเสีย ในช่วงเวลาอันยาวนานนับร้อยปีของตระกูลหวั่งหลี ได้หล่อหลอมให้กิจการในเครือฟื้นตัวให้พ้นจากความวิตกกังวลได้อย่างรวดเร็ว จากฐานธุรกิจอันแข็งแกร่งที่สุวิทย์ได้สร้างไว้รองรับคนรุ่นต่อไป แม้ว่ารุ่นที่ 5 จะมีทายาทธุรกิจน้อยกว่าบรรพบุรุษก็ตามที !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.