"โปรปะกันดาไม่ต้องใหญ่แต่ขอให้เก่ง"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นเวลาสี่ถึงห้าปีมาแล้วที่ความสวยงามของหนังสือรายงานประจำปี ปฏิทินหรือหนังสือสรุปข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เรียกว่า "คัมปะนีโปรไฟล์" (COMPANY PROFILE) ได้กลายเป็นหน้าตาบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชิ้นงานเหล่านี้ได้รับรางวัลทางด้านการออกแบบที่จัดขึ้นโดยคนในธุรกิจโฆษณาอย่างเช่น "แบด อะวอร์ด" ทั้งบริษัท เจ้าของหนังสือและบริษัทที่เป็นผู้ออกแบบและผลิต ต่างก็มีภาพพจน์ที่ดีขึ้น

การประกวดรางวัลแบดอะวอร์ดปีนี้ หนังสือของบริษัทในเครือ เดอะ เอ็มกรุ๊ปและเครือบริษัทสามารถ คว้าไปเล่มละ 2 รางวัล เดอะ เอ็มกรุ๊ปนั้นได้รางวัลออกแบบตัวอักษรยอดเยี่ยม (BEST TYPOGRAPHY) และรูปเล่มดีเด่น (BEST BOOKLET) ส่วนของสามารถได้รางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยม (BEST PHOTOGRAPHY) พ่วงติดด้วยรางวัลออกแบบตัวอักษรยอดเยี่ยมเช่นเดียวกัน

หนังสือทั้งสองเล่มนี้น่าสนใจในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และสวยงาม แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ ผู้เป็นเจ้าของมันสมองในการสร้างสรรค์รูปลักษณ์หน้าตาของหนังสือ เป็นกิจการที่เพิ่งก่อตั้งได้ไม่ถึง 2 ปี

"PROPAGANDA" หรือ "โปรปะกันดา" คือชื่อของบริษัทนี้ แม้จะมีอายุไม่นานแต่สำหรับคนที่เป็นผู้สร้างแล้ว ไม่ใช่คนหน้าใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัททั้งสามคือ สาธิต กาลวันตวานิช ปุณลาภ ปุณโณทก และวิเชียร โต๋ว คือทีมงานหลักที่เคยอยู่คู่กับ "สามหน่อ" บริษัทกราฟฟิค ดีไซน์ด้านสิ่งพิมพ์ชื่อดังของไทยมานานหลายปี

สาธิตนั้นเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสามหน่อ เขาทำงานกับสามหน่อมาร่วม 7 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ ส่วนปุณลาภกับวิเชียรเคยเป็น กรุ๊ปเฮดของสามหน่อ ทั้งคู่เป็นนักออกแบบที่ทำงานเข้าขากับสาธิตนับตั้งแต่วิเชียร จบจากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยและปุณลาภจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จนกระทั่งคว้ารางวัลแบด อะวอร์ดชิ้นแรกให้กับตัวเองในนามของสามหน่อคือ รายงานประจำปีของบริษัท ไทยออยล์ และหนังสือข้อมูลบริษัทของ บุญรอด บริวเวอรี่เมื่อปี 2534 ตามมาด้วยงานระดับรางวัลชิ้นอื่น ๆ เช่นปฏิทินของบริษัทเยื่อกระดาษสยามหนังสือข้อมูลบริษัทของธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เป็นต้น

ด้วยประสบการณ์ของทั้งสามคน จึงไม่น่าแปลกใจว่าโปรประกันดาที่มีอายุปีเศษ ๆ จะคว้ารางวัลแบด อะวอร์ดในปีนี้ไป 4 รางวัล ทั้งยังมีอีก 2-3 ชิ้นงานที่เข้ารอบแต่ไม่ได้รับรางวัล

โปรปะกันดา มีสาธิตเป็นกรรมการผู้จัดการ ส่วนปุณลาภและวิเชียรเป็นผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบสร้างสรรค์หุ้นส่วนนอกเหนือจากทั้งสามแล้วยังมีบริษัทฟีโนมีน่า ของบุญเกียรติ กอสมาน เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนสวนกุหลาบของสาธิตมาลงขันด้วย

"ฟีโนมีน่า เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ทางด้านฟิล์ม ส่วนโปรปะกันดาเป็นบริษัทที่ทำกราฟฟิคดีไซน์ทางด้านสิ่งพิมพ์ มีคุณสาธิตเป็นเอ็มดี ในแง่ที่เป็นครีเอทีฟจริง ๆ ก็จะเป็นผมสองคน" ปุณลาภกล่าวถึงบริษัทที่ร่วมลงทุนด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท

ในส่วนของการทำงานแล้ว โปรปะกันดาเริ่มต้นที่ห้องหนึ่งห้อง คนสองคน อาศัยส่วนหนึ่งของโฟโนมีน่า งานชิ้นแรกก็เข้ามาทันทีที่บริษัททันทีที่บริษัทเปิดโดยการติดต่อของสาธิต เป็นเอกสารโครงการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ "เอสจี สตาร์" ซึ่งนับเป็นงานชิ้นแรกของโปรปะกันดาที่ออกสู่วงการ

"งานที่โปรปะกันดา จะมีก็เพียงไทยออยส์เจ้าเดียวเท่านั้น ที่เป็นลูกค้าเก่าที่เราเคยทำงานให้กับเขาในนามของสามหน่อ ที่เหลือเป็นลูกค้าใหม่หมด คนในแวดวงเขารู้จักกันรู้จักฝีมือเรา เอเยนซี่ก็แนะนำลูกค้ามาหาเราเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขารู้จักคุณสาธิต งานก็เลยอาจมาจากสาธิตมากหน่อย" วิเชียรกล่าว

จำนวนงานที่เพิ่มมากขึ้นบุคลากรของโปรปะกันดาก็เพิ่มมาเป็น 20 คนในปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นเพียงบริษัทขนาดเล็กหากพิจารณาจากจำนวนคนเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในธุรกิจประเภทเดียวกัน เช่นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานร่วม 80 คน บริษัทขนาดกลาง ๆ ก็จะมีประมาณ 40 คนอย่างเช่นสามหน่อ เป็นต้น

ปุณลาภกล่าวว่า โปรปะกันดาพยายามจะรักษาขนาดของบริษัทให้อยู่ในระดับนี้ มีขีดความสามารถรับงานได้ประมาณ 30-40 ราย

"กำไรของธุรกิจนี้มาจาก 2 ทางคือ รับงานมากขึ้น หรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เราชอบที่จะใช้วิธีที่สองมากกว่า ถ้าเป็นทางเลือกแรกเราก็ต้องรับคนมาก ต้องมานั่งจัดคนกันอีกมันไม่สนุก เราเป็นบริษัทของคนออกแบบ เป็นงานที่เกี่ยวกับความคิด ทำงานกับคนที่มีคุณภาพ ไม่ต้องมีคนมากทำงานด้วยแล้วมีความสุขดี" ปุณลาภอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรของเขาให้ฟัง

การขยายตัวของสามหน่อโรงเรียนที่ให้โอกาสแก่สาธิต ปุณลาภ และวิเชียรได้มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจบริการออกแบบ จากพนักงาน 17 คน เพิ่มเป็น 23 จนถึง 45 คน การเปลี่ยนแปลงของ "คน" และ "ระบบ" ที่เกิดขึ้นในสามหน่อน่าจะมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจกำหนดการสร้างองค์กรในสภาพแวดล้อม ที่ทั้งสามอยากจะให้เป็นขึ้นมาใหม่ โดยครั้งนี้ทั้งสามพยายามควบคุมการเติบโตของกิจการในแง่ของกำลังคน และหันมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กรมากกว่า

ความคิดของพวกเขาเป็นแนวทางการบริหารธุรกิจที่กำลังได้รับการพูดถึงและหลาย ๆ องค์กรทำกำลังปรับมาใช้เพื่อ "ยกเครื่อง" องค์กรให้มีขนาดเล็กบาง คล่องตัว แต่มีประสิทธิภาพ

หลังจากที่ชื่อของโปรประกันดาปรากฏอยู่ในทำเนียบรางวัลต่าง ๆ แน่นอนว่างานที่จะเข้ามาก็ต้องมากขึ้น ผลประโยชน์ทางธุรกิจจะพิสูจน์ว่าโปรปะกันดาจะหนีวงจรของบริษัทขนาดใหญ่ ใช้คนมากไปได้หรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.