"ครั้งแรกในชีวิตโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ลูกจ้างของแบงก์กรุงเทพ"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ก้าวเข้าเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการและวางแผนของธนาคารกรุงเทพอย่างเต็มตัวตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนศกนี้ ตำแหน่งนี้เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อปรับแต่งโครงสร้างองค์กรแบงก์เก่าแก่อายุ 50 ปีนี้ให้คล่องตัวมีความสามารถเชิงแข่งขันในอนาคต 5 ปีข้างหน้าและรองรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ของทายาทผู้นำ

"ถ้าถามผมว่า คุณโฆษิตมีสิทธิ์ที่จะมานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์หรือไม่ ? ผมคิดว่ามีสิทธิ์ เพราะคุณโฆษิตเข้ามารับตำแหน่งที่สูงพอสมควร และเขาก็มีประสบการณ์ด้านการเงินจากลอนดอนประเทศอังกฤษ แต่ผมคิดว่าเขาเหมาะสมที่จะมานั่งฝ่ายวางแผนและควบคุมมากกว่า" บิ๊กบอสแห่งกรุงเทพ ชาตรี โสภณพานิชกล่าวอย่างหมายมาดตัวไว้แล้ว

ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตของโฆษิตที่ก้าวเข้ามาเป็น 'ลูกจ้าง' ในภาคการบริหารธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน หลังจากที่ครึ่งชีวิตที่ผ่านมานานนับ 27 ปีโฆษิตเป็นข้าราชการชั้นสูงที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการและเทคโนแครต ประสบการณ์ที่สภาพัฒน์ในฐานะรองเลขาธิการฯ คีย์แมนสำคัญในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้บทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทโดดเด่น จนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนและเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร

"ผมไม่เคยสนใจการต่อสู้ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ผมจึงเลือกจะเป็นข้าราชการ เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นอย่างไร ผมก็ทำงานได้หมด ผมเชื่อว่าเรื่องที่ผมเห็นสำคัญแม้ผมจะทำได้แค่ 1% ผมก็จะทำ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมรักชีวิตข้าราชการ" นี่คือเลือดเนื้อและวิญญาณของโฆษิต

โฆษิตเป็นเทคโนแครตที่ได้รับการยอมรับในความสามารถ และประสานความคิดกับฝ่ายต่าง ๆ ได้ ทั้งยังเป็นนักปฏิบัติที่มีผลงานพัฒนาชนบทจนเป็นที่รู้จักในวงการเมืองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มองระดับมหภาค เข้าใจปัญหาระดับโครงสร้างมากกว่าคนอื่น ๆ รวมทั้งสามารถวิพากษ์เศรษฐกิจและธุรกิจฟองสบู่ได้ถึงแก่น

กล่าวกันว่าการที่โฆษิตเดินเข้ามาอยู่ในห้วงเวลาอันเป็นทางสองแพร่งของชาตรี โสภณพนิชขณะนี้ ได้ทำให้โฆษิตถูกจับตามองบทบาทและภารกิจในฐานะ "คนนอก" คนใหม่

"ผมได้วางเป้าหมายไว้แล้วว่า อยู่ที่ไหนก็ตามเมื่อรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายสำเร็จแล้ว ก็คงต้องออกจากที่นั่น โดยในองค์กรแต่ละแห่งคิดว่าจะอยู่เพียง 2-3 ปีก็พอแล้ว แต่ในตำแหน่งดังกล่าวผมก็เคยคิดมานานแล้ว ว่าจะต้องทำให้ได้ เพราะผมอยากเข้ามาสัมพันธ์ในงานด้านนี้ ดังนั้นเมื่อมีผู้ชักชวน ผมใช้เวลาตัดสินใจไม่นานก็ตอบรับไป" อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ผู้ที่มาทำงานกับแบงก์กรุงเทพเล่าให้ฟัง

บางทีคำพูดข้างต้นของโฆษิตนี้อาจเป็นเบื้องลึกในใจของโฆษิตที่ตัดสินใจหันหลังให้ระบบข้าราชการไทยที่ยังมีลักษณะ "ล้อติดโคลน" มาสู่วังวนธุรกิจการธนาคารที่เป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเศรษฐกิจ

จากสายสัมพันธ์เก่าแก่กับอาสา สารสิน ผู้ชักนำโฆษิต เข้ามาเริ่มต้นในฐานะรองกรรมการผู้จัดการที่บริษัท ผาแดง อินดัสทรี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมรากฐานของประเทศ โฆษิตได้ถูกวางตัวขึ้นสู่ผู้บริหารระดับสูงที่ผาแดง

แต่เมื่อแบงก์กรุงเทพซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในผาแดงฯ ต้องการตัวโฆษิตไปทำงาน โฆษิตจึงได้ย้ายมาสวมหมวกใบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการและวางแผน เป็นงานวิชาการที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษในการเข้าใจพฤติกรรมขององค์กรแบบแบงก์กรุงเทพที่อุ้ยอ้ายที่มีพนักงานมากที่สุด และมีขั้นตอนมากคล้ายระบบราชการ

ดังนั้นงานยกเครื่องปรับตัวโครงสร้างองค์กรจึงเป็น "งานยักษ์" มาก ๆ สำหรับโฆษิต !! แม้ว่าโดยประสบการณ์โฆษิตจะเคยจับโครงการยักษ์ใหญ่ระดับชาติมาแล้วก็ตาม แต่อาจกล่าวได้ว่างานยักษ์ชิ้นใหม่นี้ โฆษิตไม่อาจเข้าไปถึงหัวใจของกิจการแบงก์พาณิชย์นี้ได้ หากไม่อาศัยบารมีบิ๊กบอสส์อย่างชาตรีและลูกหม้อเก่า

แต่โฆษิตมีแนวทางความคิดของตัวเอง ที่แตกต่างกว่าผู้บริหารแบงก์ในยุคทศวรรษที่แล้วอย่างวิระ รมยะรูปชัยรัตน คำนวณการบริหารสายสัมพันธ์ในแนวทางเก่าของธุรกิจหมุนกระดาษได้กลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้ว ภายใต้แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมธุรกิจการทำกำไรของแบงก์สมัยใหม่ยุคโลกานุวัตรที่ธุรกิจไร้พรมแดน ไทยถูกบีบให้ต้องเปิดเสรีแก่แบงค์ต่างประเทศทำให้สงครามการแข่งขันดุเดือด

ศักยภาพของการแข่งขันของแบงก์กรุงเทพจะเข้มแข็งหรือไม่ในทศวรรษใหม่? จึงขึ้นอยู่วิสัยทัศน์และความสามารถของทายาทผู้นำอย่างชาติศิริ กับฝีมือการผ่าตัดโครงสร้างองค์กรแบงก์กรุงเทพของโฆษิต ให้แบงก์ไม่อุ้ยอ้ายและมีความคล่องตัวที่จะฉกฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้เร็ว

ห้วงเวลาเดือนกรกฎาคม ขณะที่ "คนใหม่" อย่างเช่นโฆษิตก้าวเข้ามา "คนเก่า" อย่างวิชิต สุรพงษ์ชัยและไชย ณ ศีลวันต์พร้อมกับวาณิชธนกรอีก 9 คนก็เปิดหมวกอำลาไป ทำให้ส่วนของฝ่ายธุรกิจโครงการ ที่ไชยเคยรับผิดชอบและทำรายได้มหาศาลถึง 500 ล้านบาทในครึ่งปีนี้จากค่าธรรมเนียมในโครงการใหญ่ ๆ ฝ่ายธุรกิจโครงการนี้ต้องถูกยุบหน่วยงานไปรวมกับฝ่ายทุนธนกิจซึ่งชาติศิริทาบทาม 'คนใหม่' ศรีวิชัย ศรีสุวรรณ จากบริษัทไทยเชลล์เอ็กซพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่นเข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายทุนธนกิจ

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ของการปรับตัวของแบงก์กรุงเทพยุคชาติศิริ ช่วงต้นปีหน้า 2538 เป็นที่คาดว่าโครงสร้างการบริหารใหม่จะนำมาซึ่งความโกลาหลเป็นข่าวใหญ่อีกระลอก เมื่อมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหาร

เมื่อถึงเวลานั้น โฆษิตคงจะต้องหาเกราะป้องกันตัวเองไว้ให้ดี มิฉะนั้นจะกลายเป็นแพะรับบาปไปในที่สุด !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.