"อดิศร สุวัจนานนท์ กับงานขายรองเท้าอินเตอร์"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

อดิศร สุวัจนานนท์ หนึ่งในนักการตลาดผู้เป็นที่ยอมรับว่า พัฒนางานด้านการตลาดให้กับสินค้าต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เขาบ่มเพาะประสบการณ์ด้านการตลาดเป็นเวลานานกว่า 10 ปี กับสถาบันใหญ่ๆ ด้วยกัน และล้วนเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งสิ้น อย่างเช่น ลีเวอร์ บราเธอร์หรือบริษัทอินซ์ เคป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทำตลาดให้กับสินค้า อุปโภค บริโภค

อดิศรหายเงียบไปจากวงการตลาดเป็นเวลานาน 2 ปีนับจากมีการเปลี่ยนแปลงภายในอินซ์เคป ไม่มีข่าวว่าเขาโยกย้ายไปอยู่สถาบันใดของวงการสินค้าอุปโภค-บริโภคอีก ทว่าเขาแปรผันตนเองเข้าไปเป็นที่ปรึกษาโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการ อาทิ โครงการศุภาลัยซึ่งสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนอีกโครงการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นโครงการระดับชาติคือ โครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งโครงการนี้อดิศรเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ปรึกษาโครงการซึ่งการไฟฟ้าฯ ว่าจ้างให้ทำโครงการนี้ 3 ทีมด้วยกันคือ SWED POWER มาจากสวีเดน DCC INTERNATIONAL และทีมของอดิศรเอง

"การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ของง่าย องค์กรของรัฐส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมามีอายุที่ยาวนาน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขององค์กรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งต่อสภาพ ภาพลักษณ์ภายนอกและสภาพจิตใจของพนักงานเอง บางคนยอมรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่บางคนชอบสภาพเดิม ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนานาจิตตํ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้จึงเสมือนว่ายังไม่มีอะไรเกิดใหม่ในการไฟฟ้า ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เดินไปทีละขั้นตามแผนที่วางกันเอาไว้ คาดว่าอย่างเร็วที่สุดประมาณ 5 ปีหรืออย่างช้า 10 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะเป็นบริษัทจำกัดได้สำเร็จตามนโยบายของรัฐ" เป็นคำอธิบายของที่ปรึกษาโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวแล้ว อดิศรได้ถอนตัวออกมานั่งดูการเปลี่ยนแปลงองค์กรของรัฐกับงานของเขาว่าสำเร็จมากน้อยแค่ไหนเพียงใด แล้วหันกลับมาทำในสิ่งที่เป็นความชอบและชีวิตของตนเอง นั่นคือการกลับเข้าสู่วงการตลาดอีกครั้งแต่การกลับมาในครั้งนี้อดิศรไม่ได้เข้ามาอย่างมือปืนรับจ้างอีกต่อไป แต่เขากลับเข้ามาในฐานะเจ้าของกิจการของตนเองและสวมหมวกกรรมการผู้จัดการบริษัทเสียเองอีกด้วย

"ผมชอบทางด้านนี้และเรียนมาทางด้านนี้ ประสบการณ์ทางด้านนี้ก็มีอยู่มาก หากจะทิ้งไปเฉย ๆ ก็เสียดาย" อดิศรในสถานะกรรมการผู้จัดการบริษัทสปอร์ตสปอต จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ทำหน้าที่เป็นเทรดดิ้ง คัมปะนี มีระบบการบริหารสมัยใหม่และเป็นบริษัทการตลาดที่จะเป็นตัวแทนของสินค้าคุณภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับสูง

อดิศรบอกว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานให้กับลีเวอร์ฯ และอินซ์เคปมานี้ทำให้เขามองเห็นช่องทางการตลาดและการเรียนรู้ระบบบริหาร จาก 2 อย่างนี้เขานำมารวมกันแล้วประยุกต์ใช้กับระบบของบริษัทสปอร์ตสปอต

หมายความว่าระบบบริหารของที่นี่จะเป็นการบริหารแบบยุคใหม่ คือทำหน้าที่ของเทรดดิ้ง คัมปะนีอย่างสมบูรณ์แบบ มีการวางแผนการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับสินค้าที่มียี่ห้อให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้

พูดง่าย ๆ ก็คือ สปอร์ตสปอตทำหน้าที่เสมือนหนึ่งบริษัทสาขา โดยการร่วมกันกับเจ้าของสินค้า ทำให้ยี่ห้อติดตลาดโดยที่เจ้าของสินค้าไม่ต้องยุ่งเรื่องการวางแผน สปอร์ตสปอตจะเป็นคนทำแผนการตลาดและมีทีมบริหารของตนเอง ขณะเดียวกันเจ้าของสินค้าก็จะช่วยกันในแง่ของงบประมาณการทำประชาสัมพันธ์ร่วมกัน

ระบบบริหารแบบใหม่ที่ว่านี้จึงมีข้อแตกต่างจากบริษัทเทรดดิ้งสมัยก่อนก็คือ จะทำหน้าที่เพียงแค่การซื้อมาขายไปและวางจำหน่ายให้กับสินค้าเท่านั้น ซึ่งสินค้าที่เป็นตัวแทนขายนั้นจะขายได้หรือไม่ บริษัทตัวแทนจำหน่ายไม่สนใจ เขาจะทำหน้าที่กระจายสินค้าให้เท่านั้นเป็นอันว่าเสร็จสิ้นภาระกิจของตัวแทนแล้ว ผิดกับบริษัทการตลาด ที่เขาจะทำหน้าที่วางแผนการตลาดให้พร้อมทั้งหาช่องทางจัดจำหน่ายให้กับสินค้านั้น ๆ

จะว่าไปแล้วสปอร์ตสปอตก็ทำหน้าที่ในฐานะเดียวกันกับบริษัทการตลาดทั่วไป แต่บริหารงานในรูปของเทรดดิ้งซึ่งสินค้าที่นำเข้ามาในครั้งแรกของการเปิดบริษัทใหม่คือ รองเท้า "นิว บาล้านซ์"

"นิว บาล้านซ์ ในอเมิรกาได้ถูกจัดอันดับให้เป็นสินค้าอันดับหนึ่งของตลาดรองเท้าไม่ว่าจะเป็นรองเท้ากีฬา หรือรองเท้าหนังก็ตาม ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะมีข้อแตกต่างจากรองเท้าประเภทเดียวกันคือ เน้นจุดขายที่สุขภาพของเท้าเป็นหลักใหญ่"

หมายความว่ารองเท้า NEW BALANCE เป็นรองเท้าที่มีรูปแบบเข้ากับลักษณะของเท้าผู้สวมใส่ทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นขนาดกว้าง ขนาดยาว หรือขนาดสมส่วนได้มาตรฐานก็ตาม

"รูปแบบตามลักษณะของเท้านี้จะทำให้การสวมใส่รองเท้ากระชับ ไม่เกิดอาการ บีบรัด หรือหลวม หรืออาการที่ชอบเรียกกันว่ารองเท้ากัด" อดิศรกล่าวเสริม

ตลาดรองเท้ากีฬาเป็นตลาดใหญ่ ปัจจุบันขนาดตลาดมีมูลค่าปีละ 2,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นการเจริญเติบโตในขั้นสูงเอาการ ซึ่งการเติบโตของตลาด สืบเนื่องมาจากความเจริญของเศรษฐกิจประเทศ ความกินดีอยู่ดีของประชากรในประเทศ ซึ่งตลาดมูลค่า 2,000 ล้านบาทนี้จะมีสินค้าส่วนหนึ่งที่เรียกว่า BRAND QUALITY PRODUCT ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้ามีสัดส่วนตลาดประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี สินค้าเหล่านี้จะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพและการกีฬาแทบทั้งสิ้น

อดิศรเชื่อว่า เขาจะสามารถทำตลาดรองเท้านิวบาล้านซ์ได้สำเร็จ โดยการสร้างยี่ห้อของสินค้าให้เกิดความแข็งแกร่ง (BRAND STRENGTH) เสียก่อน แล้วยอดขายจะตามมาเองในภายหลัง โดยหวังไว้เพียงแค่ 10% ของตลาดสินค้าคุณภาพเท่านั้นก็พอ

บทพิสูจน์ของความสำเร็จด้านการตลาดอยู่ที่กลยุทธ์และข้อแตกต่างของสินค้า จึงเป็นเรื่องน่าจับตามองนักการตลาดคนนี้ ที่สลัดคราบจากมือปืนรับจ้างโดดเข้ามาเป็นเถ้าแก่แห่งวงการตลาดอีกรายหนึ่งของเมืองไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.