ผิวถนนในกรุงเทพมหานครนั้น ไม่เคยว่างเว้นจากการถูกขุดเจาะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กับระบบสาธารณูปโภคทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้า การประปาหรือองค์การโทรศัพท์
ซึ่งต่างคนต่างทำ ไม่เคยมีการวางแผนประสานกันเลย จึงเกิดการขุดกันแล้วขุดกันอีก
ชั่วนาตาปีและที่มีผลกระทบอย่างมากก็คือการจราจรที่ติดขัดอยู่แล้วยิ่งต้องเลวร้ายหนักลงไปอีก
ลูกคุณช่างขุดรายล่าสุดแห่งถนนเมืองกรุงก็คือ บริษัทเทเลคอม เอเซีย หรือทีเอ
ที่กำลังเร่งการติดตั้งโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายอยู่ทั่วเมืองในขณะนี้ จนกลายเป็นเป้าของการร้องทุกข์จากบรรดาผู้ใช้รถใช้ถนนที่ต้องเดือดร้อนจากการขุดถนนตามโครงการ
2 ล้านเลขหมาย
ร้อนถึงอาชว์ เตาลานนท์กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีเอต้องออกมาชี้แจงเป็นการด่วนว่าตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นดีและได้มีการหารือกับ
กทม. เพื่อประสานงานกันในการกวดขันกับผู้รับเหมาติดตั้งโทรศัพท์และได้มีการตั้งศูนย์รับการร้องทุกข์จากประชาชนรวมทั้งมีทีมม้าด่วน
ในกรณีที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างฉับไว
"เรื่องนี้ผมต้องขอยอมรับและกราบขออภัยต่อประชาชน เรามีความตระหนักและสำนึกดีว่าต้องรีบเร่งวางข่ายสาย
และดำเนินการบริการต่อประชาชนที่รอคอยอย่างรวดเร็วที่สุดพยายามเร่งรัดให้ได้มากและเร็วจึงจำเป็นอยู่เอง
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านสาธารณูปโภคทั้งการประปาฯ การไฟฟ้าฯ กทม. หรือทศท. ก็คงจะหลีกหนีไม่พ้นการขุดเจาะถนนสำหรับดำเนินงาน"
เบอร์หนึ่งของ ทีเอ. กล่าวขอความเห็นใจ
ความจริงในตอนที่เริ่มต้นโครงการใหม่ ๆ ยังไม่มีการลงมือวางโครงข่าย ในสมัยที่ทองฉัตร
หงส์ลดารมภ์เป็นหัวเรืออยู่ ทีเอ เคยคุยว่า จะนำเทคโนโลยีใหม่ ที่ไม่ต้องมีการขุดถนนมาใช้
เทคโนโลยีสำหรับวางข่ายสายตอนนอกที่ว่านี้เรียกว่า "ไมโครทันเนลลิ่ง"
(MICRO TUNNELLING METHOD) หรือการขุดเจาะอุโมงค์ขนาดเล็ก ซึ่งวิธีนี้ทำให้ไม่ต้องขุดถนนเป็นระยะทางยาว
ๆ เพียงแค่ขุดเปิดผิวหน้าดินประมาณ 2 เมตร เพื่อนำหัวเจาะระบบฉีดน้ำแรงสูงที่สามารถทำงานได้ในระยะทางประมาณ
200 เมตร (ทิศทางการเคลื่อนที่จะบังคับด้วยเครื่องบังคับทิศทาง ที่เรียกว่า
"ทรานสมิตเตอร์" ถืออยู่ข้างบน) มุดลงดินไป เมื่อครบระยะทาง 200
เมตรหัวเจาะจะโผล่ออกที่ท่อพักสาย จากนั้นจะหมุนย้อนกลับมาจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อพ่วงเอาท่อร้อยสายโทรศัพท์ที่มีสายอยู่ภายในเรียบร้อยแล้วกลับออกไปด้วยกินเวลาประมาณ
1 ชั่วโมงต่อ 10 เมตร (แบบขุดจะอยู่ในอัตรา 4-6 เมตร ต่อ 1 วัน) เพียงเท่านี้ก็สามารถวางท่อร้อยสายได้ถึงครั้งละ
200 เมตรต่อจุดเลยทีเดียว เป็นเช่นนี้ไปตลอดโครงการ
แน่นอนว่า วิธีนี้ย่อมต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายแพงกว่าการขุดแบบธรรมดา ๆ
ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้หลายเท่าตัวแน่นอนแม้ว่าเครื่องนี้จะให้ประสิทธิภาพสูงและช่วยร่นระยะเวลาทำงาน
ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหาจราจร และปัญหาข้างเคียงได้อย่างดี แต่มูลค่าของเครื่องมือนั้นค่อนข้างสูง
คือประมาณ 5-20 ล้านบาท ต่อชุด ซึ่งทั้งโครงการ ทีเอ. จะต้องใช้ถึง 20 ชุด
นั่นหมายถึงเงินที่จะต้องลงทุนในส่วนนี้กว่า 100-400 ล้านบาท
ไม่ใช่เงินมากมายอะไรนัก เมื่อเทียบกับมูลค่าของทั้งโครงการ แต่คนที่จะต้องลงทุนในส่วนนี้ก็คือ
ผู้รับเหมาวางข่ายสายตอนนอกโครงการ 2 ล้านเลขหมายทั้ง 3 รายคือ เอ็นอีซี
ซีเมนส์และเอที แอนด์ทีซึ่งหากซื้อเครื่องนี้มาใช้ เมื่อหมดจากงานวางสายโทรศัพท์แล้ว
ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้กับงานอื่น ๆ ต่อไปได้หรือไม่ จึงมีปัญหาว่า การลงทุนกับเทคโนโลยีที่ว่านี้คุ้มหรือไม่
ดังนั้น แนวทางที่จะนำไมโครทันเนลลิ่งมาช่วยในการวางท่อร้อยสายก็ไม่มีทีท่าว่าจะนำมาใช้
กลับเป็นกระแสที่หายไปกับสายลมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จากเดิมที่ว่าจะใช้ไมโครทันเนลลิ่ง
ก็กลับกลายมาเป็นวิธีใช้ท่อร้อยสายขององค์การโทรศัพท์ที่เดินฝังไว้นานแล้วและว่างอยู่มาใช้เป็นหลักทั้งหมด
บางจุดที่ไม่มีท่อร้อยสายของ ทศท. เดินไว้ หรือท่อที่เดินไว้นานแล้วชำรุดใช้การไม่ได้
(ซึ่งก็มีมากมาย) ทีเอจะต้องใช้วิธีการขุดแบบเก่าเพื่อวางท่อร้อยสายลงไป
ซึ่งในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศแถบยุโรปต่างเลิกใช้วิธีการขุดถนนเพื่อวางท่อร้อยสายนี้ไปนานแล้ว
และหันมาใช้ระบบไมโครทันเนลลิ่งแทบทั้งนั้น เพราะแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจใกล้เคียง การจราจร ผิวถนน และอื่น ๆ แต่อย่างใด
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการวางสายโทรศัพท์แบบดั้งเดิมของโครงการที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุด
โครงการหนึ่งของโลกการสื่อสาร จึงถูกโยนให้เป็นภาระของผู้ใช้รถ ใช้ถนนในกรุงเทพที่จะต้องเสียผิดการจราจรที่มีน้อยอยู่แล้วลงไปอีกและเมื่อขุดกันเสร็จแล้วสภาพการกลบและซ่อมแซมก็ไม่ดีเหมือนเดิม
กรณีผิวถนนที่ถูกขุดเจาะจนเสียสภาพความเป็นถนนไปแล้ว มีคำชี้แจงจาก ทศท.
ว่า ตามระเบียบกฎเกณฑ์ของ ทศท. สำหรับการขุดถนนเพื่อวางท่อร้อยสายโทรศัพท์นี้เมื่อวางท่อร้อยสายเสร็จแล้วในระเบียบกำหนดให้กลบอย่างถาวร
จะต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาตรวจ และเซ็นรับให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนจึงจะอนุญาตให้กลบอย่างถาวรได้
ซึ่งหมายถึงจะต้องมีการขุดปรับผิวถนนเอายางมะตอยออก (การกลบชั่วคราวจะใช้ยางมะตอย)
เพื่อทำการตรวจรับโดยเจ้าหน้าที่ ทศท. หลายคนที่ไม่ทราบกฎเกณฑ์ของรัฐที่มิเคยแจ้งให้ทราบนี้
จึงทึกทักว่า ทีเอไม่รับผิดชอบการขุดถนนไปโดยปริยาย ฉะนั้นปัญหาในที่นี้คือ
ช่วงเวลาที่กลบชั่วคราวและรอเจ้าหน้าที่ ทศท. มาตรวจรับไปนั้นใช้เวลานานแค่ไหน
ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ละเลยการปฏิบัติงานหรือตรวจรับงานล่าช้า ปัญหาการจราจร
ณ จุดนั้น ก็คงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทีเอก็ต้องรับหน้าเสื่อไป
"จริง ๆ ต้องกลบให้เหมือนเดิมแน่นอน แต่ในช่วงระหว่างรอการตรวจก็ต้องมีการกลบแล้วก็มีการลาดยางมะตอยไว้เมื่อฝนตกก็เสียหายได้
แม้ว่าเป็นการก่อปัญหาได้ทางหนึ่งแต่เรื่องนี้ทางบริษัทรับปากว่าจะเข้มงวดกวดขันต่อไป"
กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทีเอย้ำถึงเจตนาในการแก้ปัญหากับ "ผู้จัดการ"
อีกครั้งหนึ่ง
ฉนั้นเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อขบคิดให้รัฐได้ตระหนักต่อไปว่าเมื่อมีโครงการในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก
รัฐก็น่าจะมีมาตรการหรือข้อกำหนด ข้อบังคับอะไรดี ๆ ออกมาบ้างในเรื่องนี้
ไม่ใช่จะผลักภาระตกอยู่กับประชาชนแต่ฝ่ายเดียว โดยคิดแต่เพียงการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของเจ้าของโครงการเท่านั้น