|
บ้านปูสนเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซียเผยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด
ผู้จัดการรายวัน(19 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บ้านปูสนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจาการ์ต้า เผยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและหากเกิดขึ้นจริง จะยกระดับ BANPU เป็นโฮลดิ้งส์ คัมพานี เดินหน้าสำรวจเหมืองบราริโตะ คาดดำเนินการผลิตได้ในปี 50 พร้อมนำถ่านหินที่มีค่าความร้อนต่างกันมาผสมให้ได้คุณภาพเพิ่มมูลค่าให้ถ่านหิน เล็งลงทุนในอินดียและเวียดนามเพิ่มหลังพบว่ามีแหล่งถ่านหินและความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งสองมีน้อย
นายระวิ คอศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เปิดเผยว่าบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากธุรกิจการทำเหมืองถ่านหินของบริษัทในประเทศดังกล่าวมีการขยายตัวและบริษัทยังเดินหน้าสำรวจเพื่อขยายการทำเหมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่บริษัททำการสำรวจและพัฒนาเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียมาหลายปี
"เราก็มีการศึกษาอยู่เหมือนกัน ซึ่งหากจะมีจริง เราก็ต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อเข้าจดทะเบียนด้วย แต่ก็จะมีข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียคือนักลงทุนอาจเกิดความสับสน เพราะ BANPU เองก็จดทะเบียนในตลาดหุ้นของไทยแล้ว เราต้องดูอะไรหลายอย่าง และในอนาคตหากจะเกิดขึ้นจริง เราคงต้องมีพันธมิตรที่จะมาถือหุ้นด้วย เพราะการที่เราลงทุนทำธุรกิจที่นี่ จะทำให้เรารู้มูลค่าตลาดของอินโดนีเซียด้วย ซึ่งเราก็ต้องศึกษาเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ของตลาดหุ้นจาการ์ตาด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ต้องให้ถึงวันนั้นก่อน เพราะเราสนใจและอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดเท่านั้น" นายระวิกล่าว
โดยหากในอนาคตจะมีการระดมทุน เป้าหมายหลักไม่ใช่เพราะต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงาน และหากเกิดขึ้นจริง BANPU อาจยกระดับเป็นโฮลดิ้งส์ คัมพานี ที่จะรับรู้รายได้จากบริษัท
สำหรับการสำรวจเหมืองถ่านหินนั้น หลังจากที่บริษัทได้ลงทุนในเหมืองหลายแห่งในอินโดนีเซียและบางแห่งใกล้จะหมดอายุสัมปทานแล้ว ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายแห่งที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจถ่านหินต่อ ซึ่งปัจจุบันเหมืองบราริโตะเป็นเหมืองอีกแห่งที่บริษัทต้องเข้าสำรวจและเหมืองแห่งนี้มีอายุสัมปทาน 30 ปี
"การสำรวจพื้นที่ในการทำเหมืองบราริโตะนั้น เรามีเป้าหมายต่อเนื่องในการที่จะใช้ท่าเรือ ระบบขนส่งถ่านหินและอื่น ๆ ร่วมกับเหมืองทูบาอินโด อันจะทำให้เราลดต้นทุนการผลิตได้ และเกิด SYNERGY ในการทำงานร่วมกันได้ของเหมืองสองแห่งนี้ เพราะมีพื้นที่ติดต่อเหมืองทูบา อินโด เราตั้งเป้าหมายในการสำรวจเหมืองแห่งนี้ประมาณ 3 ปี"
สำหรับลงทุนในการสำรวจเหมืองดังกล่าวนี้ จะใช้งบทั้งสิ้น 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้ใช้งบลงทุนไปแล้วประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการนี้คาดว่าเหมืองแห่งนี้จะสามารถดำเนินการผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในปี 2008 ซึ่งผลจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีถ่านหิน 28.50 ล้านตัน
โดยงบประมาณของบริษัทส่วนหนึ่งของงบลงทุนของปี 49 ที่จะใช้ทั้งสิ้น 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แผนลงทุนปี 50 นั้น BANPU จะลงทุนในโครงการพัฒนาและขยายท่าเรือ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะขยายเพื่อรองรับการขนถ่ายถ่านหิน 11-12 ล้านตันต่อปีเป็น 13-14 ล้านตันต่อปี
นายระวิกล่าวต่อว่า หลังจากที่บริษัทได้ขยายท่าเรือเสร็จสิ้น จะทำให้บริษัทสามารถขนถ่านหินที่มีคุณภาพต่างกันมารวมกันได้ง่ายขึ้น และค่าความร้อนที่ต่างกันจะนำมาผสมเพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งจะเป็นเหมือนการเพิ่มมูลค่าให้กับถ่านหินที่ด้อยให้มีประสิทธิภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น และยังมีถ่านหินสำรองไว้จำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วย และเหมืองหลายแห่งของ BANPU จะมีกำลังการผลิตลดลงทั้งคิตาดินและเหมืองลำปางที่กำลังการผลิตปีนี้จะไม่เพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนของถ่านหินที่มีเกรดจะสูงขึ้น ส่วนธุรกิจไฟฟ้าของบริษัท บีแอลซีพี พาวเวอร์ เป็นธุรกิจที่ดีและมีอนาคต
นอกจากการขยายการทำเหมืองในอินโดนีเซียแล้ว BANPU ยังจะขยายการลงทุนในอินเดีย เวียดนาม หลังจากที่ไปบุกเมืองจีนมาแล้ว เนื่องจากขณะนี้หลายเหมืองของ BANPU จะปิดเหมืองลงตามอายุสัมปทานที่สิ้นสุด ดังนั้นการหาเหมืองเพิ่มจึงเป็นเป้าหมายที่บริษัทต้องดำเนินการให้ต่อเนื่อง
"เราต้องดูแบบแต่ละโครงการไปตอบไม่ได้ว่าจะเข้าสำรวจที่ไหนก่อน แต่ที่อินเดียทางตะวันออกเฉียงเหนือน่าจะมีโอกาสที่จะเข้าไปสำรวจ เพราะมีแหล่งถ่านหินมากและเขาไม่มีแหล่งน้ำมัน ดังนั้นความต้องการใช้ถ่านหินเพื่อใช้เป็นพลังงงานย่อมมีมากกว่า เวียดนามก็ดีเหมือนกันเพราะเขาเติบโตสูง มีแหล่งแร่แอนทราไซด์ และมีแก๊สอยู่ทางใต้ บวกกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง แต่เราต้องค่อยทำไปแต่ละโครงการ" นายระวิกล่าว
การเข้าสำรวจแต่ละโครงการนั้น บริษัทจะเข้าไปลักษณะของการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น และการลงทุนของ BANPU แบ่งสัดส่วนการลงทุนในไทย 30% อินโดนีเซีย 30% และจีน 30 ขณะที่ปัจจุบันรายได้ของ BANPU มาจากธุรกิจถ่านหิน 60% และที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจการผลิตไฟฟ้า และจะยังรักษาสัดส่วนรายได้ระดับนี้ต่อไป ขณะที่มาร์จิ้นของธุรกิจถ่านหินอยู่ที่ 37-38% และมาร์จิ้นของธุรกิจไฟฟ้า 20-25% ซึ่งผลการดำเนินงานปี 50 รายได้ของบริษัทจะเติบโตแบบมีนัยสำคัญจากการที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี พาวเวอร์ ของบริษัทเดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง
สำหรับกรณีของปัญหาน้ำเสียที่เหมืองทูบาอินโดของบริษัทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่บริษัทเชื่อว่าเรื่องน้ำเสียไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และชาวบ้านที่ร้องเรียนก็อยู่ห่างจากบริเวณเหมืองไปกว่า 15 กิโลเมตร แต่บริษัทก็ต้องเจรจากับชาวบ้านและมั่นใจว่าเหมืองจะไม่ถูกปิดอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|