"สามมิตรมอเตอร์ข้ามรัฐไปสร้างรถที่ฉางชุน"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เชาว์ โพธิศิริสุข แห่งกลุ่มสามมิตรมอเตอร์เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ถึงพร้อมด้วยกำลังทุน สติปัญญาความสามารถ และขนาดของหัวใจที่พร้อมจะลุยไปข้างหน้า สร้างความฝันให้เป็นจริง ขาดอยู่อย่างเดียวคือการสนับสนุนจากรัฐที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง

แต่ในยุคที่โลกทั้งโลกเป็นหนึ่งเดียวด้วยสำเนียงการค้าภาษาเศรษฐกิจ ข้อจำกัดประการหลังก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้คนอย่างเชาว์ ก้าวข้ามรัฐเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองมองเห็นและเชื่อมั่น

ด้วยพื้นฐานการศึกษาด้าน AUTO MECHANICS จากมหาวิทยาลัยเกษตรซัวเถาโดยจบมาตั้งแต่ปี 2503 และความรู้ด้านภาษาจีนกลางที่มีสำเนียงดีเยี่ยม ก็เป็นเครื่องการันตีที่ส่งสัญญาณว่า เชาว์จะต้องอาศัยพื้นฐานด้านวัฒนธรรม และภาษานี้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคต หลังจากจบมาเชาว์ได้เริ่มทำงานเป็นพนักงานของ บริษัท สามมิตร มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ในยุคบุกเบิกที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเพื่อนน้ำมิตร 3 คน

จากพนักงานธรรมดาที่ต้องใฝ่รู้ทุกอย่างที่ขวางหน้าทำให้การไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นไปตามขั้นตอนจนกระทั่งปี 2510 ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการโรงงาน และในปี 2518 ก็ได้กระเถิบฐานะขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของสามมิตรในที่สุด

การสะสมวิทยายุทธ์ของเชาวน์เพื่องานใหญ่ในอนาคตนั้นมีอยู่สม่ำเสมอนับแต่ต้นที่เขามาอยู่กับสามมิตร การเป็นผู้บุกเบิกในการผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนและรถบรรทุกทุกประเภท นับแต่แหนบ สปริง เพลา แชสซี ไฮดรอลิค อันเป็นชิ้นส่วนหลักในการประกอบเป็นรถบรรทุกทั้งคัน ซึ่งในระยะเวลาต่อมา เพดานบินที่สูงขึ้นและกระเถิบฐานะขึ้นเป็นผู้ประกอบและติดตั้งรถบรรทุกขนาดเล็ก ที่เรียกว่า DOUBLE CAT และรถ STATION WAGON

พร้อมไปกับวิทยายุทธ์ที่ก้าวหน้า การก่อตั้งบริษัท เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวก็มีตามมาอย่างต่อเนื่องอย่างเช่น สามมิตร มอเตอร์โอโตพาร์ท ร่วมทุนกับบริษัท ชินเมวาอินดัสตรี จากญี่ปุ่น ก่อตั้ง บ.ไทย ชินเมวา อินดัสตรีเพื่อผลิตอุปกรณ์ไฮดรอลิคและชิ้นส่วนฟอร์จิ้ง รวมถึงแชสซีซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทยรวมถึงการวางรากฐานในการผลิตตัวถังรถสเตชั่น แวกอนขึ้นซึ่งถือเป็นอาวุธทางการตลาดชิ้นสำคัญของสามมิตรมอเตอร์ในอนาคต

และในที่สุดเชาว์ก็มีโอกาสได้ทำสิ่งที่หวังไว้สูงสุดในชีวิตนั่นก็คือ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์บรรทุกรวมถึงรถแวนด้วยกำลังผลิต 300 คันต่อเดือน

แต่ก็เหมือนกับพรหมลิขิตได้กำหนดไว้แล้ว ให้เขาต้องกลับไปยังถิ่นเก่าที่มีช่องทางการตลาดสำคัญไว้รอท่า เขาจึงทำให้แม้เขาได้รับคำอนุมัติจากทางการให้เริ่มต้นผลิตรถบรรทุกในชื่อของสามมิตรได้แต่เขาก็ไม่ค่อยภูมิใจนัก เพราะอุปสรรคที่รอขวางอยู่ข้างหน้าทำให้เขารู้สึกท้อใจอยู่บ้างเหมือนกัน

อุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เขาต้องเพลียใจไปบ้างนั้น คือความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ภายในประเทศ ทั้งในเรื่องของการเอื้ออำนวยความสะดวกด้านขั้นตอนขออนุญาต การนำเครื่องจักรผลิตเข้ามาในประเทศ หรือขั้นตอนในการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีนำเข้าเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าทางรัฐจะช่วยปลดภาระให้กับผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศให้น้อยกว่านี้ได้เมื่อไร เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เชาว์ค่อนข้างเหนื่อยหน่ายใจกับกระบวนการของรัฐเป็นอย่างมาก

โครงการต่าง ๆ ที่เขาคิดจะเริ่มดำเนินการต่อไปในประเทศช่วงต่อไป จึงต้องหยุดชะงักไว้ก่อน แม้แต่โครงการผลักดันบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังไม่อยู่ในหัวคิดของเชาว์ในขณะนี้

ดังนั้นเชาว์จึงได้เบนเข็มเปลี่ยนทิศทางการลงทุนจากไทยเข้าไปสู่ประเทศจีนอย่างเต็มที่ หลังจากได้สำรวจความต้องการ และทำเลที่เหมาะจะก่อตั้งโรงงานแล้ว ก็พุ่งเป้าไปที่ "ฉางชุน" ซึ่งถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ 1 ใน 3 เมืองของจีน อีกสองแห่งคือเซี่ยงไฮ้ และวูฮั่น ที่จีนหวังใจเป็นอย่างมากที่จะผลักดันให้เมืองทั้ง 3 คล้ายดั่ง "ดีทรอยต์" ของสหรัฐที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์เช่นกัน

ด้วยความได้เปรียบทางด้านพื้นฐานวัฒนธรรมของจีนที่เชาวน์คุ้นเคยเป็นอย่างดี และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนที่มีความคล่องตัวของไทย และความรู้ความสามารถของเชาว์ที่พัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิตตัวถัง (BODY) ได้ค่อนข้างดีกว่าทางจีน ที่มักจะเน้นพัฒนาทางด้านเครื่องยนต์ (ENGINE) มากกว่า ทำให้ความสามารถในจุดนี้ของเชาว์ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นของจีน

ในขณะที่ปัญหาและอุปสรรคด้านกฎหมายและการตีความของจีน อาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่ยากเกินกว่าเชาวน์ที่เคยมีรกรากอยู่ที่นี่ และทีมงานซึ่งส่งมาก่อนหน้าที่จะเรียนรู้กฎหมาย ดังนั้นโครงการที่ 1 ในการร่วมลงทุนตั้งโรงงาน เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนพลาสติกกับทางการของจีนโดยตั้งชื่อว่าบริษัท ฉางชุน ได แอนด์ ทูลเวอร์ค ก็ได้เริ่มขึ้น

และตามมาด้วยการร่วมทุนผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงรถบรรทุก รถดัมพ์ รถขยะ รถแทงค์ รถขนส่งไปรษณีย์ ในนามของฉางชุนออโตโมบิลล์ นอกจากนั้นยังมีการร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์บรรทุก ในนามนิสสันและตงฟัง เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก กับบริษัทเฉิงโจว ไลท์มอเตอร์ แพลนท์ ธนาคารชาติจีน ธนาคารเหอหนาน นอกจากนั้นยังมีการร่วมลงทุนตั้งบริษัทซื้อขายรถยนต์ในนามของฉางชุน สามมิตร อินดัสตรี เดเวลอปเมนท์ จำกัด

และที่ดูจะเป็นหน้าเป็นตามากที่สุดของสามมิตรมอเตอร์ในการเข้ามาเปิดตลาดผลิตรถยนต์ในจีนมากที่สุด คือการเข้ามาผลิตรถยนต์สเตชั่น แวกอน ซึ่งใช้ชื่อว่า "SMM" อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องผลิตให้ได้อย่างน้อย 50,000 คันต่อปี

เชาว์ค่อนข้างมีความภาคภูมิใจกับรถสเตชั่น แวกอนที่เริ่มมาเปิดตลาดในจีนนี้ค่อนข้างมาก โดยในช่วงแรกนั้นจะใช้เครื่องยนต์ของนิสสัน 16 วาล์วไปก่อน และต่อไปจะใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทเฟิสท์ ออโตโมบิลล์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ที่สามมิตรได้เข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนในการผลิตลดต่ำลงไปเป็นอย่างมาก และในช่วงต่อไปก็จะได้มีการวางแผนการที่จะผลักดันรถสเตชั่น แวกอนนี้เข้าไปแข่งขันในตลาดรถประเภทนี้ ที่นับวันมีแต่จะสูงขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงต่อไปที่ค่ายใหญ่ในวงการรถจะเริ่มกรีฑาทัพเข้ามาผลิตรถสเตชั่นแวกอนในจีนกันมากขึ้น ช่องทางการตลาดที่ทำกันอย่างง่าย ไม่มีการส่งเสริมการขายแต่อย่างใด ก็คงต้องเปลี่ยนไปการใช้กลยุทธ์ราคาที่จะลดราคาจากปกติที่ตั้งไว้ 150,000-300,000 หยวน หรือประมาณ 400,000-700,000 บาทไทยลงมานั้น ก็คงต้องเป็นสิ่งที่พึงกระทำ

มาจนถึงจุดนี้ ก็คงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า เชาว์และสามมิตรมอเตอร์ได้เข้าไปตั้งหลักปักฐานอย่างเต็มที่ในจีนแล้ว

หลังจากต้อง "อกหัก" กับนโยบายที่ผันผวนของรัฐบาลไทยมาเป็นเวลานาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.