"วันนี้ของกลุ่มศรีกาญจนาต้องประกันความเสี่ยงสูง"


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

พยัพและจุลพยัพ ศรีกาญจนา เพิ่งจะรู้สึกว่าโล่งใจ เหมือนยกภูเขาออกจากอก หลังจากวันที่ 5 สิงหาคม ศกนี้ มีคำสั่งศาลให้ศักดา บุณยรักษ์ และวิชัย นิวาตวงศ์คู่กรณีในศึกชิงอำนาจในอาคเนย์ประกันภัย ให้เพิกถอนหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2534 ของบริษัทอาคเนย์โฮลดิ้ง 1, 2 และ 3 ห้ามเรียกประชุมผู้ถือหุ้นอาคเนย์ประกันภัยในคราวอื่น ๆ นอกเหนือการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ 4/2533 เท่านั้น

ศึกช่วงชิงอำนาจที่มีห้องประชุมผู้ถือหุ้นเป็นสมรภูมิรบนั้น เกิดขึ้นสองครั้งสองคราในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ

กฎแห่งกรรมในวังวนประวัติศาสตร์ 48 ปีของอาคเนย์ประกันภัย หากสร้างเป็นภาพยนต์แบบหนังจีนจอแก้วในชื่อ "ศึกสองสิงห์ชิงบัลลังก์เลือด" ก็คงจะได้มินิซีรีส์ขนาดยาวมาก ๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งมีคนในตระกูล "ศรีกาญจนา" เป็นตัวเอกดำเนินเรื่องราว

เจ็ดปีเต็ม ๆ ที่ความเครียดวิตกกังวล และแรงกดดันจากการกรำศึกชิงอำนาจระหว่างกลุ่มศรีกาญจนากับกลุ่มโชติกเสถียรและต่อมากับกลุ่มบุณยรักษ์ ได้สั่นคลอนภาพพจน์ความมั่นคงของกิจการอาคเนย์ประกันภัยอย่างรุนแรง

ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2530 ระหว่างกลุ่มโชติกเสถียรกับกลุ่มศรีกาญจนา ความขัดแย้งสืบเนื่องจากกลุ่มโชติกเสถียร ต้องการนำอาคเนย์ประกันภัยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พร้อมกับขยายธุรกิจเพิ่มทุนให้ต่างชาติร่วมถือหุ้น แต่กลุ่มศรีกาญจนาไม่เห็นด้วยเพราะวิตกว่าจะถูกลดบทบาทลง จึงดึงพันธมิตรอย่างกลุ่มบุณยรักษ์เข้าร่วมโดยผู้ถือหุ้นอื่นเช่นตระกูลนิวาตวงศ์และตระกูลชุมพลวางตัวเป็นกลาง ผลปรากฏว่ากลุ่มโชติกเสถียรถูกจำกัดบทบาทการบริหาร ทำให้ต่อมาต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ 39.08% ให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดี ยอกนักซื้อกิจการแห่งทศวรรษนี้

ความหวาดระแวงด้วยการการป้องกันการหวนกลับมาเทคโอเวอร์ ทำให้เกิด "บริษัทอาคเนย์โฮลดิ้ง 1, 2 และ 3" ขึ้นมาเพื่อถือหุ้นในอาคเนย์ประกันภัยจำนวน 54.11% แทนที่จะถือหุ้นในนามส่วนตัวของแต่ละกลุ่ม

แต่ "หมองูตายเพราะงู" ฉันใด กลุ่มศรีกาญจนาก็โดนเล่นงานจากพิษสง "อาคเนย์โฮลดิ้ง" ฉันนั้น

ด้วยฤทธิ์ 54.11% แห่งหุ้นใหญ่ที่ศักดา บุณยรักษ์กับวิชัย นิวาตวงศ์ได้รับมอบอำนาจเป็นกรรมการในบริษัทโฮลดิ้งแห่งนี้ บวกกับส่วนตัวที่ถือหุ้นอาคเนย์ประกันภัยอีก 13% ทำให้ศักดาอาศัยอำนาจผู้ถือหุ้นใหญ่เปิดข้อบังคับของบริษัทเรียกประชุมคณะกรรมการ "ชิงปลด" พยัพจากประธานกรรมการ แล้วดันตัวเองขึ้นครองตำแหน่งนี้แทน พร้อมทั้งยุบคณะกรรมการชุดเดิมแล้วตั้งคนของตนขึ้นแทนในวันที่ 17 มิถุนายน 2534

พยัพแทบกระอักเลือด มิตรกลายเป็นศัตรู ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น จำต้องพิฆาตให้อาสัญด้วยยุทธวิธีฟ้องศาล โดยมีทนายจอมฉมังอย่างสุวัฒน์พฤกษเสถียรที่กรำศึกมหาภารตะ เทคโอเวอร์แบงก์แหลมทองมาแล้วเป็นที่ปรึกษากฎหมายขณะที่อีกฝ่ายกลุ่มบุณยรักษ์และนิวาตวงศ์มีทนายจอมคนอย่างพิชัย พืชมงคล แห่งธรรมนิติ คู่ปรับเก่าเป็นคู่คิดวางแผนทำศึกใหญ่ครั้งนี้

สมรภูมิรบได้ย้ายจากห้องประชุมมาเป็นห้องพิพากษาของศาลแทน สองค่ายต่างโรมรันพันตูและช่วงชิงชัยชนะกันจนถึงวินาทีสุดท้าย วันที่ 29 กรกฎาคม ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาว่า ศักดาได้รับมอบอำนาจโดยชอบธรรมหรือไม่? แต่วันนั้นไม่มีฝ่ายโจทย์นอกจากตัวแทน ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอศาลเลื่อนพิจารณาอีก 1 เดือน โดยอ้างว่าขณะนั้นทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างเจรจาประนีประนอมกัน

แต่มีหรือที่สุวัฒน์ พฤกษเสถียร ทนายฝ่ายโจทย์จะไม่รู้เท่าทันเกมซื้อเวลานี้ ดังนั้นอีกสามวันต่อมาสุวัฒน์จึงทำเรื่องปฏิเสธต่อศาลว่าทั้งสองไม่ได้เจรจากันตามที่จำเลยอ้างและขอให้ศาลรีบอ่านคำตัดสินโดยเร็ว เพราะในวันที่ 17 สิงหาคมนั้นจะมีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นอาคเนย์ประกันภัยแล้ว หากไม่มีคำตัดสิน เกรงว่าจำเลยจะใช้ใบมอบอำนาจดังกล่าวมาอ้างอีก ซึ่งจะทำให้ฝ่ายพยัพและพวกต้องฟ้องร้องกันอีกจนกระทั่งคดีความไม่สิ้นสุดกันสักที

ฉะนั้นนัดชี้ชะตา "ใครอยู่ใครไป?" ได้ถูกกำหนดเป็นวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาศาลมีคำตัดสินดังกล่าวข้างต้นฝ่ายศักดาและพวกพ่ายแพ้ในเกมนี้และถูกกดดันอย่างหนัก จนกว่าจะยอมขายหุ้นทิ้งเฉกเช่นกลุ่มโชติกเสถียรต้องทำมาแล้ว เวรกรรมแท้ ๆ

นับตั้งแต่วันฟ้องศาล 25 กรกฏาคม 2534 จวบจนถึงวันพิชิตชัยชนะอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคมปีนี้ สามปีเต็ม ๆ เป็นห้วงเวลาอันแสนเครียดและเต็มไปด้วยความวิตกกังวลจึงไม่น่าแปลกใจเลยเมื่อวันแห่งชัยชนะล่าสุดนี้ สองพ่อลูกพยัพและจุลพยัพ ศรีกาญจนาจะพูดพร้อม ๆ กันว่า "ดีใจที่เรื่องมันจบลงได้ซะที !!"

หลังสงคราม งานกอบกู้ภาพพจน์และสถานภาพของอาคเนย์ประกันภัยเป็นเรื่องใหญ่ที่กลุ่มศรีกาญจนากับพวกต้องเร่งฟื้นฟู โดยว่าจ้างบริษัทฟาร์อีสท์แอดเวอร์ไทซิ่งและบริษัทพีอาร์ในเครือ "อินทีเกรเตทคอมมูนิเคชั่น" ทำแผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ให้

โฆษณาขาวดำชิ้นแรกที่ปรากฏในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องในวาระครบรอบ 48 ปีอาคเนย์ประกันภัย (2489-2537) มีภาพประธานกรรมการพยัพ กับข้อความเชิงข่าวที่มีเนื้อหาสะท้อนทิศทางกิจการกับภาพพจน์การพัฒนาทีมงานบุคลากรมืออาชีพ

"การทำธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ขายความเชื่อมั่นความมั่นใจ ความสุจริตใจและภาพพจน์ของผู้บริหารจะต้องดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับในวงสังคม" พยัพกล่าวไว้ในตอนหนึ่งของเนื้อหาโฆษณาชุดแรก และคาดว่าคงจะมีชุดต่อมาที่เสรี วงศ์มณฑา ในฐานะกรรมการผู้จัดการอินทีเกรเตท คอมมูนิเคชั่นจะร่วมวางแผนให้ตลอดทั้งปีด้วย

เหนือกว่าภาพพจน์ พยัพรู้ดีว่าปมปัญหาใหญ่ยังรอการแก้ไขอยู่อีกมาก "อาคเนย์โฮลดิ้ง" เป็นอาวุธร้ายที่ต้องถูกกำจัดพิษสงทันที ในวันประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โฮลดิ้งทั้งสามมติที่ออกมาว่า จุลพยัพคือผู้รับมอบอำนาจในการประชุมใหญ่อาคเนย์ประกันภัยได้สะท้อนถึงความพยายามอย่างมาก ๆ ของพยัพ ที่จะให้ลูกชายมีบทบาทบริหารสำคัญขึ้นมาพร้อมกับ ๆ พยายามที่จะดึงและดันผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเจริญ สิริวัฒนภักดี มิให้เป็นอันตรายกับกลุ่มศรีกาญจนาหากศักดาขายหุ้นให้แก่เจริญ

กล่าวกันว่า ในอดีตศักดาเคยทาบทามวรรณา ภรรยาเจริญให้เป็นกรรมการบริหารของอาคเนย์ แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะไม่อยาก "เสียผู้ใหญ่" ถ้าหากจะเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่วันข้างหน้า ยังเป็นเรื่องที่จับตาว่ากลุ่มสิริวัฒนภักดีอาจเข้ามามีบทบาทเบื้อหลังเงียบ ๆ ที่จะล้างภาพพจน์อาคเนย์ประกันภัยกับตระกูลศรีกาญจนาให้ขาดออกจากกัน เห็นทีงานนี้ศรีกาญจนาคงต้องจ่ายค่าประกันความเสี่ยงไว้ในอัตราสูงให้คุ้มกับอนาคตอันไม่แน่นอนนี้ !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.