|

ปตท.ล้มแผนลงทุนท่อก๊าซเส้นที่4มูลค่าแสนล.หลังประเมินไม่คุ้มค่า
ผู้จัดการรายวัน(18 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"ปตท."พับแผนลงทุนท่อก๊าซเส้นที่ 4 มูลค่าแสนล้านบาทแล้ว หลังพบปริมาณก๊าซอ่าวไทยมีต่ำไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เตรียมแผนสำรองนำเข้าก๊าซจากอินโดนีเซียและแอลเอ็นจีจากจีนแทน เผยไทยเสียเปรียบเพื่อนบ้านหลังมีแหล่งพลังงานน้อยขณะที่เพื่อนบ้านแม้กระทั่งกัมพูชาเริ่มพบก๊าซฯมากขึ้น
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปตท.ได้ตัดสินใจที่จะต้องหยุดแผนการลงทุนก่อสร้างท่อก๊าซเส้นที่ 4 ที่จะวางจากอ่าวไทยขึ้นมายังจังหวัดระยอง มูลค่าการลงทุนกว่าแสนล้านบาทเนื่องจากล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งผลิตก๊าซฯใหม่ๆ ในอ่าวไทยจะมีปริมาณเท่าใดซึ่งตามหลักความคุ้มทุนก๊าซที่จะป้อนต้องมีไม่ต่ำกว่าวันละ 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต) และเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี
" ขณะนี้ไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติวันละ3,100 ล้านลบ.ฟุต โดย30%มาจากแหล่งในอ่าวไทย อีก70% มาจากพม่า ซึ่งหากการวางท่อแล้วมีปริมาณก๊าซผ่านไม่เต็มท่อก็จะไม่คุ้มทุนและที่สำคัญจะมีค่าผ่านท่อที่แพงมากจึงเห็นว่าหากเป็นอย่างนี้ก็คงต้องเลิกแผนนี้ไปเพราะลงทุนถึงแสนล้านบาท"นายจิตรพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อให้แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของปตท.ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายเพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตซึ่งเดิมท่อเส้นที่ 4 จะเสร็จในปี 2554 นั้นปตท.ได้ประเมินว่าความต้องการใช้ก๊าซฯจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 5,000 ล้านลบ.ฟุต ซึ่งปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ไทยจัดหาได้จากพม่าและอ่าวไทยอาจไม่เพียงพอในอนาคต ทำให้ปตท.จะเร่งเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอีสนาทูน่าของอินโดนีเซียและขอซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี จากประเทศจีน เข้ามาเพิ่มเติมในเร็วๆนี้ ซึ่งล่าสุดอินโดนีเซียพร้อมจะขายก๊าซธรรมชาติให้ไทยโดยอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องราคา ส่วนแอลเอ็นจีก็จะนำเข้าจากจีน
สำหรับการนำเข้าแอลเอ็นจีจากจีนนั้น ฝ่ายจีนขอให้ไทยขนส่งทางเรือแต่ห้ามนำไปแวะขายส่งให้กับประเทศอื่นๆ โดยขอให้ไทยนำเข้ามาใช้ในไทยโดยตรง เพื่อป้องกันไทยแย่งลูกค้าแต่ไทยได้ต่อรองว่าจะขอจำหน่ายให้กับประเทศต่างๆตามรายทางที่เรือบรรทุกผ่าน หรือให้ไทยสามารถนำแอลเอ็นจีไปแลกเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติกับอินโดนีเซียได้ในบางช่วงเวลาของความต้องการว่าในช่วงนั้นๆไทยต้องการก๊าซธรรมชาติหรือแอลเอ็นจีเป็นหลักเพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุนทำธุรกิจ ทั้งนี้หากจีนยอมตามข้อเสนอของไทย ซึ่งจีนไม่ได้รับความเสียหายในเชิงธุรกิจแต่อย่างใดทั้งสิ้น ไทยก็จะตัดสินใจเข้าไปร่วมทุนกับจีนเพื่อสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและแอลเอ็นจีในจีนด้วย
" ไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านเพราะมีแหล่งพลังงานเหล่านี้น้อยมากทั้งเรื่องจำนวนพื้นที่และปริมาณต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียหรือแม้แต่กัมพูชาที่ในอนาคตอาจจะมีปริมาณสำรองมากกว่าไทย ขณะนี้อินโดนีเซียและมาเลเซียเริ่มเป็นผู้ส่งออกแอลเอ็นจีอันดับต้นๆในเอเซียแล้วในปัจจุบันเมื่อมีรายได้ขึ้นมาทั้ง2ประเทศก็เริ่มเข้าไปซื้อกิจการแอลเอ็นจีในอิหร่านและเยเมนเพื่อขยายธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในธุรกิจพลังงาน" นายจิตรพงษ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|