|

โรงงานยาสูบลดเป้า3พันล้านบาทพับแผนลุยนอก-ออกแบรนด์ใหม่
ผู้จัดการรายวัน(18 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โรงงานยาสูบระส่ำปัจจัยลบรุมเร้าเพียบยอดขายปี 49 วูบพลาดเป้า 3 พันล้านบาท ขณะที่แผนการออกแบรนด์ใหม่ต้องยกเลิกเหตุเศรษฐกิจแย่และการรณรงค์ลดสูบบุหรี่กระทบ ส่วนแผนบุกตลาดแคนนาดาต้องยกเลิกไปเพราะรับภาระต้นทุนไม่ไหว ซ้ำร้ายต้องระบุประเภทและปริมาณสารข้างซองด้วย
นายสุชน วัฒนพงษ์วาณิช ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ในปี 2549 นี้ ยอดขายบุหรี่ในภาพรวมทุกยี่ห้อของโรงงานยาสูบลดลงไปมาก โดยเฉพาะบุหรี่ที่ไม่ใช่ยี่ห้อหลักที่ยอดขายด้านปริมาณลดลงเกินกว่า 20% มาก แต่ยี่ห้อหลัก 5 ตรา อาทิ กรองทิพย์ สายฝน วอลเดอร์ เป็นต้น ยังลดลงไม่ถึง 20% ทำให้ถัวเฉลี่ยยอดขายบุหรี่ในด้านปริมาณลดลงไปประมาณ 20% ขณะที่ในด้านมูลค่าลดลงไปกว่า 12%
ทั้งนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ไม่ค่อยดีนัก ประชาชนมีค่าครองชีพสูงขึ้นมาก รวมทั้งราคาบุหรี่ที่แพงขึ้นจากนโยบายรัฐบาลที่เก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ และการรณรงค์ต่างๆ เช่น ห้ามวางโชว์บุหรี่หน้าร้าน การรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพรวมของคนบริโภคบุหรี่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้อัตราการบริโภคลดลงไปประมาณ 24-25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
"ยี่ห้อหลักๆ 5 ตรา ยอดขายยังไม่ได้ตกมากนัก ส่วนใหญ่ตกลงมาตั้งแต่ตอนที่มีการขึ้นภาษีใหม่ๆ แล้วก็ทรงๆ อยู่ ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 20% กลุ่มนอกเหนือกว่านี้ลดลงมากกว่า 20% แต่เฉลี่ยกันแล้วก็อยู่ที่ประมาณ 20% โดยผมคิดว่ายอดที่ตกลงนี้ เป็นผลมาจากราคาบุหรี่ที่แพงขึ้นส่วนหนึ่ง รวมทั้งเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนมีค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย ซึ่งหลังจากนี้ เชื่อว่าบุหรี่ยี่ห้อใหม่ๆ คงเกิดยากแล้ว" นายสุชน กล่าว
สำหรับปีนี้โรงงานยาสูบตั้งเป้ายอดจำหน่ายบุหรี่อยู่ที่ 49,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยอดจำหน่ายตกไปวันละประมาณ 10 ล้านบาท คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะทำให้ยอดขายตกไปกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ยอดจำหน่ายในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 46,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้ว ที่ยอดจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 49,000 ล้านบาท
นายสุชน กล่าวอีกว่า คาดว่าหลังจากนี้ยอดจำหน่ายบุหรี่อาจจะลดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากในปีหน้าจะมีการจำกัดสถานที่สูบบุหรี่ การกำหนดให้ต้องระบุสารที่อยู่ในบุหรี่บนฉลากข้างซอง เป็นต้น โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลทำให้โรงงานยาสูบต้องล้มเลิกโครงการที่จะออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ๆ รวมทั้งแผนการขยายตลาดไปต่างประเทศ อย่างเช่น แคนาดา เป็นต้นด้วย เนื่องจากสำรวจตลาดแล้ว พบว่าคงแข่งขันยากและไม่สามารแบกรับต้นทุนได้ ทั้งนี้ ในปี 2550 โรงงานยาสูบตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายบุหรี่เพียง 0.5% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ต้องมีการระบุสารที่อยู่ในบุหรี่บนฉลากข้างซองนั้น ถือว่าสร้างความลำบากในการทำธุรกิจให้แก่โรงงานยาสูบ โดยในต่างประเทศก็ไม่ค่อยมีใครทำเช่นนี้ ซึ่งแทนที่จะระบุสารที่อยู่ในบุหรี่บนฉลากข้างซอง ทางสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น่าจะใช้วิธีการพิมพ์เอกสารแจกให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปแทน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|