บอร์ดไทยพาณิชย์ลากแบงก์เชื่อมการเมือง หารายได้บนพื้นที่เสี่ยง-หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"วิชิต สุรพงษ์ชัย-ศุภเดช พูนพิพัฒน์" คนโตไทยพาณิชย์ เลือกพาแบงก์ใบโพธิ์เดินบนพื้นที่เสี่ยง โยงสนับสนุนภาคการเมือง คนวงการแบงก์ติงระยะหลังหารายได้ด้วยการอิงการเมือง ทั้งปล่อยกู้แกรมมี่ซื้อมติชน-ชินคอร์ป-สุวรรณภูมิ

ผลการสอบบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ชุดที่อรจิต สิงคาลวณิช อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่สรุปไปแล้วถูกเปิดเผยออกมา ก่อนที่จะถูกยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยผลสอบที่ออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกุหลาบแก้วในช่วงที่เข้าซื้อชิน คอร์ป เมื่อ 23 มกราคม 2549 เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นต่างประเทศ

โดยบริษัทกุหลาบแก้วได้เข้าถือหุ้นในบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในการเข้าซื้อบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SHIN ปัจจุบันถือหุ้น 51.98% และพันธมิตรอย่างบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้น 44.14% ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นตัวแทนถือหุ้นของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากสิงคโปร์

ชื่อคนไทย-เงินเทมาเส็ก

จากผลสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่ากุหลาบแก้วตั้งเมื่อ 17 มกราคม 2549 ก่อนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาทเพียงไม่กี่วัน โดยชื่อของพงส์ สารสินและศุภเดช พูนพิพัฒน์ กลับพบหลังจากการเพิ่มทุนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2549 หลังจากที่ตระกูลชินวัตรได้ขายหุ้นออกมาแล้ว แต่ในวันที่มีการเข้าซื้อนั้นมีการระบุชื่อของบุคคลทั้ง 2 ว่าหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่

ประการต่อมาเงินที่ใช้ซื้อหุ้นในการเพิ่มทุนของพงส์ สารสิน เป็นการโอนเงินมาจากบัญชีของบริษัทไซเพรส โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทมาเส็กและเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกุหลาบแก้ว ส่วนเงินเพิ่มทุนในส่วนของศุภเดช พูนพิพัฒน์ จำนวน 32.86 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทไซเพรส โฮสดิ้งส์ก็ได้ใช้เงินจำนวนเดียวกันค้ำประกันให้กับศุภเดช โดยที่เงินของไซเพรสฯ มาจากกลุ่มเทมาเส็ก ซึ่งต่อมาศุภเดชก็ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระคืนให้กับธนาคารไทยพาณิชย์

จะเห็นได้ว่าเงินเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นคนไทยทั้ง 2 ผ่านมาทางบริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์จากสิงคโปร์ทั้งสิ้น แม้ว่าหลังจากนั้นพงส์ สารสิน จะชำระเงินค่าหุ้นมูลค่า 50.93 ล้านบาทคืนให้กับไซเพรสในภายหลังก็ตาม

เมื่อพิจารณาจากช่องทางการผ่านเงินของไซเพรสฯ ตัวแทนของเทมาเส็ก ทุกรายการจะผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ GOVERNMENT OF SINGAPORE INVESTMENT CORPORATION หรือ GIC เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในธนาคารไทยพาณิชย์ และตัวของธนาคารไทยพาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์

แถมยังใช้บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ที่ธนาคารถือหุ้นใหญ่เกือบ 100% เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการซื้อขายครั้งนี้ให้และยังมีการซื้อขายผ่านโบรกเกอร์รายนี้ เรียกว่าได้ทั้งค่าธรรมเนียมในการเป็นที่ปรึกษาและได้ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายผ่านอีกด้วย

สำหรับศุภเดช พูนพิพัฒน์ ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ควบตำแหน่งรองประธานกรรมการในธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน) หรือ TBANK ที่มีบริษัทเงินทุนธนชาติถือหุ้นใหญ่ ที่เข้าเคยเป็นผู้บริหารอยู่ เคยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินทุนแห่งนี้ และ GIC ถือหุ้นในบริษัทนี้เช่นกัน

นอกจากนี้วิชิต สุรพงษ์ชัย กรรมการในบริษัทชิน คอร์ป ยุคที่เทมาเส็กถือหุ้นใหญ่ ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการในธนาคารไทยพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้วิชิตเคยเป็นหนึ่งตัวเก็งที่จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลไทยรักไทย 2

ได้เงิน-ได้ชื่อเสีย(ง) ?

"ไทยพาณิชย์ทุ่มทั้งคน เงินและชื่อเสียงของธนาคารลงไปในดีลนี้ ถือเป็นการทุ่มเทที่ไม่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะรู้ทั้งรู้ว่าการซื้อขายหุ้นชิน คอร์ปจะต้องถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยพาณิชย์ก็เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มแกรมมี่ซื้อหุ้นมติชน จนถูกกระแสสังคมต่อต้านมาแล้ว"แหล่งข่าวจากวงการธนาคารพาณิชย์กล่าว

พร้อมกล่าวต่อว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของคณะกรรมการธนาคารที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน เพราะมีการปล่อยสินเชื่อให้กับเทมาเส็กถึง 2 หมื่นล้านบาท และคนที่มีอำนาจจริง ๆ ไม่ใช่คุณชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่เป็นคุณวิชิต สุรพงษ์ชัย ที่มีบทบาทในบอร์ดของธนาคารค่อนข้างมาก แต่ถึงอย่างไรผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธนาคารก็คงต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด

ระยะหลังธุรกรรมของแบงก์ไทยพาณิชย์เลือกทำในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของธนาคาร ไม่ว่าจะเรื่องปล่อยกู้แกรมมี่ซื้อมติชน ปล่อยกู้ให้เทมาเส็กซื้อหุ้นชินคอร์ปจากตระกูลชินวัตรหรือล่าสุดที่ถูกข้อครหาในเรื่องการได้สิทธิให้บริการด้านอัตราแลกเปลี่ยนในสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีเพียง 2 ธนาคารเท่านั้นที่ได้สิทธิจากคิง เพาเวอร์ คือไทยพาณิชย์และธนาคารทหารไทย

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปถึงช่วงที่ไทยพาณิชย์ประสบปัญหาจากการถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ครั้งนั้นก็ได้ชิน คอร์ปเข้ามากอบกู้ซื้อหุ้นต่อจากไทยพาณิชย์ไป ส่วนจะเป็นเรื่องของบุญคุณหรือประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่คนไทยพาณิชย์เท่านั้นที่จะตอบเรื่องนี้ได้

รู้ว่าเสี่ยงแต่เลือกเดิน

การทำธุรกิจธนาคารในประเทศไทยมักถูกจับตาจากภาคประชาชนอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงหรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่แพงกว่ารายอื่น ระยะหลังทุกแบงก์แข่งขันในเรื่องภาพลักษณ์ของธนาคารเป็นอีกหนึ่งจุดขาย ธุรกรรมใดที่เสี่ยงต่อภาพลักษณ์ธนาคารหลายแห่งมักจะหลีกเลี่ยง

ถามว่าธุรกรรมในการซื้อหุ้นชิน คอร์ปนี้แบงก์ไทยพาณิชย์ก็ดูออกว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร แต่ก็เลือกที่จะทำ แน่นอนว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากตามมูลค่าขายที่ 7.3 หมื่นล้านบาท ได้ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยสินเชื่อได้ก้อนใหญ่ สร้างรายได้ให้กับบริษัทลูกอย่างบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ แต่คุ้มกันหรือไม่กับข้อครหาจากประชาชนเกือบทั้งประเทศ

เริ่มตั้งแต่การที่คุณพงส์และคุณศุภเดชเข้าไปซื้อหุ้นต่อจากสมยศ สุธีรพรชัย ทนายความในบริษัท ฮันตัน แอนด์ วิลเลี่ยม(ประเทศไทย) จำกัด และเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับการซื้อขายชินคอร์ปด้วย ที่ตั้งบริษัทกุหลาบแก้วขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจโดยมีพนักงานบริษัทร่วมถือหุ้นกันคนละ 1 หุ้น เพื่อให้ครบตามองค์ประกอบของกฎหมายในการจัดตั้งบริษัท

การขายซื้อหุ้นของพงส์และศุภเดชเลือกซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นหลัก แต่สิทธิในการออกเสียงกลับน้อยกว่าหุ้นสามัญ ที่ถือโดยตัวแทนจากเทมาเส็ก

ก่อนหน้านี้บริษัทฮันตันฯ เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการทำคำเสนอซื้อให้กับบริษัทไทยเทลโค โฮลดิ้งส์(กลุ่มเทเลนอร์) ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่นหรื อ UCOM มาก่อน

ดีลใหญ่อย่างนี้จะต้องมีการหารือกันมานาน มีการวางแผนเพื่อลดอุปสรรค ทั้งทางกฎหมายและแหล่งเงินทุน แบงก์ไทยพาณิชย์ที่ร่วมวงทั้งปล่อยสินเชื่อ ให้คนเข้ามาร่วมถือหุ้น เป็นกรรมการในชินคอร์ป ให้บริษัทลูกรับงานทางด้านหลักทรัพย์ น่าจะต้องทราบเรื่องอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น ถือว่าเสี่ยงมากสำหรับภาพพจน์ของธนาคาร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.