"สำนักทรัพย์สินฯ"คุมทิศทางเรือ"เทเวศฯ" สลัดภาพประกันภัยหัวเก่าเผชิญหน้าศึกนอก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวัยเฉียด 60 ปีของ "เทเวศประกันภัย"องค์กรที่เติบใหญ่ และแทบไม่ลู่ไปตามมรสุมเศรษฐกิจเหมือนประกันภัยค่ายอื่น ทำให้ "เทเวศฯ" กลายเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องดิ้นรน กระเสือกกระสน หรือปาดเหงื่อ เสียเลือดเนื้อ เพราะโครงสร้างฝั่งผู้ถือหุ้นที่มีสำนักงานทรัพย์สินฯ ทำให้มีบารมีมากพอจะปกป้องคุ้มครองรายได้หรือผลประโยชน์มาได้ยาวนานตลอดรอดฝั่ง แต่อีกมุมหนึ่งก็กลายเป็น"จุดอ่อน"เพราะในขณะที่โลกหมุนเร็วและแรง การเลือกครองสถานภาพแบบ "ใส่พานประเคน" ถึงที่ กลับทำให้สูญเสียพละกำลังในสนามแข่งขัน พอๆกับภาพธุรกิจหัวเก่าที่จะต้องเร่งรีบสลัดออกไปโดยเร็ว ถ้าจะประคองตัวเองให้ยืนได้แข็งแกร่งบนเวทีโลกไร้ตะเข็บชายแดน....

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้ถือหุ้นหลักในเทเวศประกันภัย ตัดสินใจซื้อหุ้นแบบเหมาล็อตจากผู้ถือหุ้นรายย่อยครบทั้ง 100% ก่อนวางแผนเพิกถอนตัวเองจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นขั้นตอนต่อไป ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของธุรกิจประกันภัยที่มีวัยเกือบ 60 ปี

เมื่อ 2-3 ปีก่อน องค์กรเดียวกันนี้ก็เพิ่งประกาศตัว "รีแบรนดิ้ง" เปิดตัวต่อสาธารณะชนิดที่ใครต่อใครต่างก็เฝ้าจับตาอยู่ไม่ห่าง การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และขยายธุรกิจเจาะเข้าถึง "กลุ่มลูกค้ารายย่อย" คราวนั้นทำให้ค่ายนี้ต้องใช้เงินลงทุนไปกับงบโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะการพยายามบุกเข้าถึงธุรกิจประกันภัยรถยนต์ที่มีสัดส่วนถึง 60% ของธุรกิจประกันวินาศภัยโดยรวม ตรงกันข้ามธุรกิจส่วนใหญ่ของเทเวศฯยังคงเทน้ำหนักไปที่การรับประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ส่วนประกันภัยรถยนต์ยังเป็นตลาดใหม่ที่มีพอร์ตไม่มากนัก

แต่ดูเหมือนการเคลื่อนไหวของเทเวศประกันภัยที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (CPB)จะยังคงขยับตัวอย่างเนิบนาบ ในขณะที่ทุนจากโลกตะวันตกและฝั่งเอเชียตะวันออกกำลังรุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วราวอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ธุรกิจประกันวินาศภัยรายใหญ่ทั้งจากเกาะญี่ปุ่น จากยุโรป และอเมริกา ต่างก็เบนหัวเรือเข้ายึดกุมพื้นที่ประกันภัยรถยนต์มากเท่าที่จะทำได้ จึงเท่ากับว่างานนี้ถ้าใครยืนนิ่งอยู่เฉยก็อาจจะเป็นฝ่ายสูญเสีย ถูกล้มกระดานเสียเอง

ในที่สุดผู้ถือหุ้นใหญ่ คือสำนักทรัพย์สินฯก็เลือกที่จะคุมทิศทางเดินเรือเอง ด้วยการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% จนสร้างความประหลาดใจให้กับหลายฝ่าย เหมือนกำลังจะบอกว่าเทเวศฯยุคใหม่จะต่างไปจากอดีต ไม่ใช่ธุรกิจที่ใส่พานประเคนถึงที่เหมือนที่ผ่านมา

เนื่องจากการทำธุรกิจก่อนหน้านั้น มักจะมีลูกค้าส่วนใหญ่มาจากแบงก์ไทยพาณิชย์ที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ถึง 23.75% ยังไม่นับธุรกิจในเครือปูนซิเมนต์ไทยที่ถือหุ้นอยู่ถึง31.93% ซึ่งก็ถือเป็นฐานลูกค้าหลักเช่นกัน

ว่ากันว่า พอร์ตที่กำไว้เสียแน่นหนาก็ยังไม่มากพอจะต่อกรกับทุนนอกที่เพียบพร้อมทั้งเทคโนโลยี ระบบบริหารที่ทันสมัย นอกจากการขยับขยายตลาดไปที่ "กลุ่มรายย่อย" ที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ที่กำลังจะกลายเป็น "ลูกแกะ" ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อม "ฝูงหมาป่า" ที่จดๆจ้องๆตาไม่กระพริบ

สำนักงานทรัพย์สินฯ ระบุเหตุผลหลักที่ทำให้เลือกถอนตัวจากตลาดหลักทรัพย์ก็คือ หุ้นมีสภาพคล่องน้อยมาก บวกกับมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว ทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ตามประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดังนั้นเมื่อต้องถอนตัวจากตลาดก็ทำให้ข้อมูลภายในไม่รั่วไหล ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเปิดเผยข้อมูล ในขณะที่ผลประกอบการและกระแสเงินสดมีอยู่เหลือเฟือ โดยไม่ต้องระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างสบายๆ

ขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันความเสี่ยงจากทุนนอกเบียดแทรกเข้าถือหุ้นผ่านทางผู้ถือหุ้นรายย่อย เหมือนกับรายอื่นๆที่ประสบชะตากรรมมาแล้ว จากการตกลงซื้อขายหุ้นนอกตลาด

การตัดสินใจเข้าถือหุ้นทั้ง 100% พร้อมกำลังจะ "บอกลา" ตลาดหลักทรัพย์คราวนี้จึงถือเป็นการขยับตัวครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของธุรกิจประกันวินาศภัยใต้ร่มเงาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งที่หากเทียบกับประกันภัยเจ้าอื่นๆยังถือว่า "เทเวศฯ" ได้เปรียบอยู่หลายช่วงตัว

บ้างก็ว่า การเปลี่ยนมาคุมหัวเรือเองโดยสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเพราะเทเวศฯกำลังจะปรับกระบวนยุทธ์ใหม่ทั้งหมด โดยรื้อผังการทำงาน ระบบบริหารงาน ทุ่มงบประมาณไปกับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีเป็นเวลายาวนานติดต่อกัน 5 ปีจากปี 2549-2553 เพื่อรองรับการขยายฐาน"ลูกค้ารายย่อย" ตลาดที่ใครต่อใครต่างก็จดจ้องตาเป็นมัน

ถ้าไม่เคลื่อนไหวคราวนี้เห็นที ธุรกิจวินาศภัยจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากธุรกิจประกันชีวิตที่กว่า 90% กลายเป็นลูกครึ่ง และถูกกลืนหายไปกับทุนนอกที่กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดเต็มตัว จนไม่มีพื้นที่ว่างเหลือพอให้หายใจหายคอได้สะดวกเหมือนในอดีต...

"เทเวศฯ" จึงมีเวลาเหลือให้ตัดสินใจไม่มาก เพราะกองทัพที่ข้ามทะเลมาจากแดนไกลนั้นแข็งแกร่งจนต้องเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อการเผชิญหน้าอย่างสมน้ำสมเนื้อถึงแม้ไม่ใช่ผู้ชนะ แต่อย่างน้อยก็ไม่ควรจะปราชัยในสนามรบบ้านตัวเอง....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.