|
คลังหว่านเสน่ห์ดึงทุนข้ามชาติ เตรียมลดภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้จัดการรายสัปดาห์(17 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เสน่ห์เอเชียหอมหวนทั่วโลก ดึงดูดนักลงทุนข้ามทวีปขนขุมทรัพย์ เข้าลงทุน สร้างอุณหภูมิสนามรบในเอเชียให้ร้อนระอุยิ่งขึ้น เพราะเกือบทุกประเทศในเอเชียต่างหวังขุมทรัพย์กองสมบัติดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพประเทศ ด้วยการใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือบริหารเสน่ห์สร้างความเย้ายวนชวนต่างชาติใส่เงินลงทุน แถมบางประเทศเพิ่มโปรโมชั่นประเคนเงินถึงมือหวังรับวิทยาการสมัยใหม่และเพิ่มขีดความสามารถทางทรัพยากรมนุษย์ ด้านไทยตื่นตัวไม่น้อย ตอบรับกระแสดังกล่าวด้วยการเตรียมศึกษาแนวทางที่ทำให้ประเทศเป็นตัวเลือกน่าสนใจในระดับต้น ๆ ของเอเชีย ภายใต้กรอบประเทศไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
เมื่อนักลงทุนต่างถิ่นจากแดนไกลขนเงินเข้ามาลงทุนโดยตรง สิ่งที่ควรตระหนักถึงมากที่สุดคือ ทุนดังกล่าวนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ประเทศและคนในชาติอย่างไร เพราะการเข้ามาลงทุนของผู้ประกอบการต่างถิ่นสิ่งที่หวังเป็นอย่างยิ่งคือการทำกำไรหรือผลตอบแทนที่ได้รับกลับสู่ประเทศตน ดังนั้นเมื่อเจ้าของทุนคิดและหาผลประโยชน์จากกลุ่มประเทศในเอเชียเช่นนี้ ไหนเลยที่ประเทศในแถบนี้จะไม่หวังผลประโยชน์ให้แก่ตนบ้าง
หลายประเทศในเอเชียต้องการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการเพิ่มที่ศักยภาพทางด้านทรัพยากรมนุษย์ จึงเปิดประตูอ้าแขนรับการเคลื่อนย้ายทุน หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment หรือ FDI) มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศที่พัฒนาอย่างสิงคโปร์เองก็มีความต้องการเงินที่เข้ามาลงทุนโดยตรง
เม็ดเงินดังกล่าวไม่ได้เข้ามาเพียงชั่วครู่ชั่วยามเหมือนการลงทุนในตลาดหุ้น หากแต่เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งยาวจนคิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการทำให้ประเทศที่ถูกใช้เป็นฐานการผลิตจากนักลงทุนต่างถิ่นได้ใช่เวลาดังกล่าวในการการศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม แนวคิดดังกล่าวไม่ได้หวังพึ่งเพียงแต่ความทันสมัยของวิทยาการเท่านั้น หากแต่ยังหวังผลในการสร้างทุนมนุษย์ให้กลายเป็นผู้นำหรือผู้ริเริ่มผลิตวิทยาการใหม่ ๆ ให้ประเทศของตนในอนาคตโดยไม่หวังพึ่งสมองของคนต่างประเทศอีกต่อไป
ดังนั้น การเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจึงเป็นกลยุทธ์ที่มากกว่าการรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากแต่ยังรวมถึงการสร้างทุนมนุษย์อีกด้วย
ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ปัจจุบันการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศ เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย การแข่งขันและดึงความสนใจให้เกิดการลงทุนในไทยมากขึ้นนั้น ที่ผ่านมารัฐพยายามกระตุ้นด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นการยกเว้น ลดหย่อนอากรนำเข้า ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น หากแต่กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การค้าขายที่ไร้พรมแดนทำให้อากรขาเข้านั้นบทบาทน้อยลงทุกสำหรับการส่งเสริมลงทุนแบบFDI หากแต่ภาษีเงินได้นิติบุคคลกลับมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้น
"ภาษีเงินได้นิติบุคคลมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ยิ่งอัตราการจัดเก็บสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้วการที่เขาจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะอย่างปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บภาษีนิติบุคคลที่ 30% ของกำไรสุทธิ ในขณะที่คู่แข่งสำคัญ อย่างเวียดนาม มาเลเซีย อยู่ที่ 28% และสิงคโปร์อยู่ที่20%"
ทนง บอกอีกว่า มาเลเซียเริ่มขยับเร็วกว่าไทยมากขึ้นทุกที ล่าสุดมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 26% ซึ่งการลดลงดังกล่าวแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อการการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงกับไทย ดังนั้นสำหรับไทย แนวทางเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันก็คือการศึกษาโครงสร้างภาษีใหม่เพื่อทำให้ประเทศตนไม่เสียผลประโยชน์ให้กับประเทศคู่แข่งมากเกินไป
เพราะนั่นหมายถึงขุมทรัพย์ที่ถูกแย่งไป ซึ่งขุมทรัพย์ที่ว่ามิได้หมายถึงเงินทุน อย่างที่กล่าวยังแฝงถึงศักยภาพทางการเพิ่มผลผลิตในประเทศ อันจะนำมาซึ่งการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ฐานภาษีขยายกว้าง แม้อัตราการจัดเก็บจะลดลงก็ตาม แต่ผลที่ได้อาจคุ้มค่าหากสามารถติดอาวุธและสร้างมันสมองในส่วนของทรัพยากรมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นด้วยการเรียนรู้วิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อวันหนึ่งจะได้นำมาพัฒนาและใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศของตน
ทนง เล่าว่า อย่างไรก็ตามเมื่อต้องลดภาษีเงินได้นิติบุคคล วิธีการหนึ่งที่ทางยุโรปนำมาใช้คือการเก็บภาษีในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มแทน และในหลายประเทศที่เจริญแล้วภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีสัดส่วนการจัดเก็บที่สูงกว่าภาษีรายได้นิติบุคคล เพราะการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลในสัดส่วนที่สูงทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากเข้ามาลงทุนขยายกำลังการผลิต แต่ในทางกลับกันถ้าลดภาษีนิติบุคคลอัตราการจัดเก็บต่ำลงแต่ถ้าฐานภาษีขยายมากรายได้การจัดเก็บก็เพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บอยู่ที่ 7% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะเพิ่มหรือลดก็คงทำได้ยาก แต่ความจริงย่อมหนีไม่พ้น เพราะเชื่อว่าวันหนึ่งรัฐจะต้องเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแน่นอน หากแต่รอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในการปรับเท่านั้น
เรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาแข่งขันได้สูสีกับประเทศเพื่อนบ้าน หากแต่ความสำเร็จนั้นยังต้องปีนบันไดอีกหลายขึ้น เพราะการไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ยังต้องสร้างเสน่ห์อีกหลายด้านที่ไม่ใช่เฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ตั้งแต่ระบบขนส่ง ระบบไปฟ้า น้ำ ปัจจัยหลายอย่างยังมีจุดบกพร่องที่จ้องรีบสร้างทำเพื่อสร้างเสน่ห์ให้ประเทศ
"โครงสร้างภาษีเป็นปัจจัยสำคัญก็จริง แต่โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคก็เป็นส่วนสำคัญในการคำนวณต้นทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากนักลงทุนขนเงินเข้ามาแล้วยังต้องมาลงทุนสร้างระบบน้ำ ไฟฟ้า หรือสร้างถนนเอง เขาก็คงไม่เข้ามาแน่เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้เขา ดังนั้นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลจะต้องเข้ามาเป็นผู้จัดการให้"
อย่างไรก็ตามแม้ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยด้วยแล้วนั้นจะเห็นความสำคัญของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จนทุกวันนี้กลายเป็นกระแสที่หลายประเทศพยายามปรับโครงสร้าง และระบบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติก็ตาม แต่นั่นก็เป็นการมองเพียงมุมเดียวที่จะเห็นผลและรับรู้แต่ด้านดีจนลืมที่จะมองในหลาย ๆ มิติ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ความหมายนั้นลึกซึ้งกว่าคำว่าพอประมาณ หากแต่เต็มไปด้วยหลักการคิดที่มีเหตุและผล อันนำซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศ
สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "การปรับโครงสร้างภาษีใหม่เพื่อชวนคนอื่นเข้ามาสร้างบ้านเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่"
คำถามดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างภาษีนำไปพิจารณาประกอบ เพราะแม้ความจริงไทยไม่อาจวิ่งหนีกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ก็ตาม และคงต้องวิ่งไปในทางเดียวกับคู่แข่งเช่นกัน แต่ก็อยากให้คำนึงถึงความแตกต่างบนพื้นฐานเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยกับประเทศคู่แข่งหรือประเทศเพื่อนบ้านมีความแตกต่างกัน โดยไทยมีความหลากหลายมากกว่า เพราะมีทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ในขณะที่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์จะมีจุดแข็งที่ภาคอุตสาหกรรมด้านเดียว ดังนั้นการปรับโครงสร้างทางภาษีก็ควรอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างที่ไม่ต้องทำตามใคร
สุทธิพันธ์ บอกว่า ยิ่งตามอาจยิ่งพากันไปตาย เพราะการแข่งขันเพื่อแย่งการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงอย่างรุนแรงนั้นได้ทำให้หลายประเทศใช้การลดภาษีเป็นเครื่องมือในการจูงใจ ซึ่งความจริงแล้วการปรับลดอัตราภาษีก็ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมพอที่ยังทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอ เพราะถ้าตะบี้ตะบันหั่นแหลกต่อไปรัฐอาจไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศได้ก็จะเป็นการสร้างปัญหาให้ตามมาแก้ไขอีก
"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งเขาเองก็ย่อมหวังถึงผลตอบแทนที่ได้รับเพื่อนำกำไรกลับสู่ประเทศที่จากมา เรื่องนี้เมื่อก่อนคนไทยห่วงกันมากเพราะมองว่าเขามาหาผลประโยชน์แล้วไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากปัญหา และจากไปพร้อมกำไร แต่ด้วยระบบควบคุมการนำเงินออกนอกประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับดูแล ทำให้ความกังวลเรื่องดังกล่าวจางลง เนื่องจากตามการกำกับดูแลควบคุมเมื่อนักลงทุนโอนกำไรกลับประเทศตน จะต้องเสียภาษีในส่วนนี้ก่อนที่จะนำเงินออกได้ ดังนั้นเราก็ยังมีรายได้จากภาษีส่วนนี้เพิ่มอีก"
เมื่อแต่ละประเทศในเอเชียต่างบริหารเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนโดยตรง ทำให้สมรภูมิการแข่งขันบนทวีปเอเชียแห่งนี้ร้อนระอุขึ้นทันตา มาตรการที่สรรหามาใช้เป็นแรงดึงดูดไม่ต่างจากกลยุทธ์ทางการตลาด ในฤดูกาลช็อปปิ้งตามห้างร้านขนาดใหญ่ที่ติดป้าย "ลด แลก แจก แถม"กลยุทธ์ดังกล่าวแม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่ทำให้คนเดินผ่านไปมาสนใจเหลี่ยวมอง แต่จะเข้าไปซื้อไม่เป็นอีกเรื่อง เนื่องจากการเลือกของที่ดีนั้นไม่ได้อยู่ที่กลยุทธ์ลดแลกแจกแถมอย่างเดียว หากแต่ยังอยู่ที่ความพึงพอใจและบริการที่ดีเยี่ยมด้วย
ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่คลังส่งสัญญาณเอาแน่ เตรียมที่จะปรับลดลงเพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อบ้าน หากแต่การปรับลดดังกล่าวก็ควรคำนึงถึงความเหมาะสมเช่นกัน และคงไม่ถึงกับต้องเชือนเลือดกินเนื้อตัวเองเพื่อวิ่งสู้ฟัดกับคู่แข่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา ที่สำคัญไม่ควรละเลยว่าการปรับโครงสร้างภาษีแล้วนั้น ผลประโยชน์สูงสุดต้องตกอยู่ในประเทศและประชาชนของตน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|