ตอนที่ญี่ปุ่นบุกพม่าเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ไมเคิล ทุน ซาน และครอบครัวของเขาได้อพยพหนีไฟสงครามเข้าไปในป่า
"ผมยังจำชีวิตที่ลำบากอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ได้ดี ตกดึกพวกเราจะย้ายจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งโดยแจวเรือไป
ซ่อนตัวไปด้วย มันเป็นช่วงชีวิตที่สาหัสจริง ๆ" ซานย้อนอดีตให้ฟังด้วยความเคียดแค้น
ในวันนี้ ทุน ซาน กับบทบาทนายธนาคารวัย 57 ปี ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวที่แตกต่างกัน
เขาพยายามกู้ชะตากรรมของธนาคารแปซิฟิก แบงก์ ขึ้นมา หลังจากขาดทุนสูงถึง
40.8 ล้านดอลลาร์ในปี 1992 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เขามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของธนาคารที่ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโกแห่งนี้
ตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบงาน ทุน ซานช่วยหาเงินให้ธนาคารมาแล้ว 32 ล้านดอลลาร์
ยุทธศาสตร์ของเขาสำหรับธนาคารมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์นี้ก็คือ การหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในย่านแปซิฟิคริม
ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างมาก
ทุนซานมีประสบการณ์อย่างล้นเหลือในธุรกิจธนาคาร เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนของพระนิกายเยซูอิตที่อินเดีย
หลังจากนั้นก็คว้าปริญญาตรีด้านพาณิชย์จากมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่
INSTITUTE OF BANKERS ที่ลอนดอน
ในปี 1957 เขาได้ร่วมงานกับชาร์เตอร์ด แบงก์ในลอนดอน (ตอนนี้คือสแตนดาร์ด
ชาร์เตอร์ดแบงก์) และอีก 3 ปีต่อมาก็ย้ายไปประจำที่สำนักงานในร่างกุ้ง "ทั้งครอบครัวของทางแม่และพ่อเคยเป็นเจ้าของธนาคารมาก่อน
ดังนั้นผมจึงเลือกทำธุรกิจธนาคาร นอกจากนี้มันดูเหมือนว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้ดีด้วย"
ซาน กล่าว
อย่างไรก็ดี อาชีพของเขามาเจออุปสรรคเอาเมื่อปี 1963 เมื่อรัฐบาลทหารพม่าสั่งให้โอนกิจการธนาคารเข้ามาเป็นของรัฐ
รัฐบาลได้แต่งตั้งพลเรือโทนายหนึ่งเข้ามาคุม "เขามาทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสั่งให้เราฟังว่า
รัฐบาลต้องการอะไร" ทุน ซาน เล่า "แต่ความเข้าใจของเขาเรื่องการธนาคารยังจำกัดจำเขี่ยมาก
การที่เขาอยู่ในโลกของทหาร ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกธุรกิจได้"
ในปี 1966 สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ได้ย้ายทุน ซานไปแคลิฟอร์เนียซึ่งที่นั่นเขาได้มีส่วนช่วยในการจัดตั้งสาขาลอส
แองเจลิส เขาได้อำลาสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด กรุ๊ปในต้นทศวรรษ 1980 เพื่อเปิดสาขาซานฟรานซิสโกให้กับธนาคารต้า
สิง ของฮ่องกง แต่อยู่ได้ไม่นาน เขาก็ได้รับโทรศัพท์จากนอร์แมน เอ็กเคิร์สเลย์
เพื่อนเก่าซึ่งเป็นรองประธานอยู่ที่ยูเนี่ยน แบงก์ ธนาคารในเครือของสแตนดาร์ด
ชาร์เตอร์ด กรุ๊ป นอร์แมนอยากจะตั้งธนาคารในซานฟรานซิสโก ด้านทุน ซานก็คิดแล้วว่ามันคุ้มค่าน่าเสี่ยงอยู่
"ผมเองก็มีสายสัมพันธ์อยู่ในวงการการค้าต่างประเทศบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการค้าแบบครอบครัว
ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะลำบากอะไร เงินทุนในการตั้งแบงก์รวบรวมจากเพื่อน ๆ ในต่างประเทศ"
ทั้งคู่ได้ก่อตั้งแปซิฟิก แบงกิ้งขึ้นมาในปี 1983 เป็นการก่อตั้งที่มีสายสัมพันธ์กับคู่ชกรุ่นใหญ่อย่างเช่น
แบงก์ออฟอเมริกา, ฮ่องกง แอนด์ เซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปและสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด
ทุน ซานดูแลแผนกระหว่างประเทศพร้อมกับเปิดสำนักงานในฮ่องกง, ลอสแองเจลิส
และเคย์แมน ไอส์แลนด์ โดยมีลูกค้าดังอย่างเช่น เบิร์นเคน สต็อก ฟูตปรินต์
แซนดัลส์แห่งแคลิฟอร์เนีย และหลี่แอนด์ฟุง เทรดิ้ง แห่งฮ่องกง
การบริการของแปซิฟิกแบงก์ เป็นที่พอใจของลูกค้ามาก "เราเคยติดจ่อธุรกิจกับธนาคารใหญ่
ๆ อย่างแมนูแฟกเจอเรอร์ แฮนูเวอร์ และซิตี้ แบงก์มาก่อนแล้ว แต่การทำธุรกิจกับไมเคิลนั้นไม่เหมือนกัน"
ไมค์ เซีย กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแอลอี อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือด้านการลงทุนของหลี่แอนด์ฟุง
เทรดิ้ง จำกัดกล่าว "เวลาติดต่อกับธนาคารอื่น ๆ หลังจากพูดคุยทำความรู้จักกันในตอนเริ่มต้นแล้ว
พวกเขาก็จะขอดูตัวเลขของคุณทันที เพื่อตรวจสอบดูว่าฐานะการเงินเข้าขั้นที่จะรับเป็นลูกค้าของแบงก์ได้ไหม
แต่ไมเคิลจะคุยกับเราถึงเป้าหมายยุทธศาสตร์ของบริษัทเราเสียก่อน จนกว่าจะเข้าใจแล้วขอดูตัวเลข"
แปซิฟิก แบงก์ดำเนินงานโดยไม่ขาดทุนแม้แต่ไตรมาสเดียวมาเป็นเวลาติดต่อกัน
9 ปี แต่ว่าในระหว่างนี้ ธนาคารได้ปล่อยกู้ให้กับโครงการพัฒนาและเทคโอเวอร์
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในแคลิฟอร์เนียกำลังเฟื่อง ช่วงปลายปี 1991 ปรากฏว่าเงินปล่อยกู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพุ่งสูงถึง
250 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปริมาณสินเชื่อการค้าซึ่งมีมูลค่า 143 ล้านดอลลาร์
"เงินกู้ที่ธนาคารปล่อยออกไปจำนวนมาก เป็นการให้กู้โดยพิจารณาจากชื่อเสียงเรียงนามของลูกหนี้
มากกว่าที่จะดูแคชโฟลว์" ทุน ซานกล่าวถึงจุดอ่อนของธนาคารในเวลานั้น
เมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ถึงจุดตกอับ แปซิฟิก แบงก์ ก็แย่ตามไปด้วย ลูกหนี้ของธนาคารบางรายไม่สามารถชำระเงินได้
บ้างก็ถูกฟ้องล้มละลาย "ธนาคารต้องเจอกับปัญหาหนัก เพราะเดินหลงทางออกมาจากตลาดที่ตนถนัด
เรารีบร้อนขยายฐานลูกค้าของเราเร็วเกินไป มีบางธุรกิจที่เราควรเลี่ยง เช่นตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
ซึ่งเราไม่มีประสบการณ์ที่แท้จริง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 1992 มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่แปซิฟิก แบงก์ยึดไว้เท่ากับ
10.8 ล้านดอลลาร์ และแทงบัญชีสูญไปราว 45.8 ล้านดอลลาร์ และกันเงินไว้ราว
40.8 ล้านดอลลาร์เพื่อป้องกันหนี้สูญในอนาคต
ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว เอ็กเคิร์ส เลย์ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งถึงกับต้องก้าวลงจากตำแหน่ง
และทุน ซานได้เข้าสวมเก้าอี้ประธานแทน เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางบีบให้แปซิฟิก
แบงก์เพิ่มทุนและกันเงินสำรองให้มากขึ้นเพื่อมาชดเชยกับยอดเงินขาดทุน
เพื่อเป็นการอุดรอยความเสียหายที่เกิดขึ้น ทุน ซาน ได้ลดการปล่อยกู้ ตั้งเงื่อนไขรัดกุมมากขึ้น
และปฏิเสธการออกแอลซีให้กับลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง การดำเนินการดังกล่าวทำให้เขาต้องเสียลูกค้า
แต่นั่นก็นับเป็นสิ่งที่เขาต้องการ "บางคนไม่พอใจ" เขากล่าว "แต่ข้อเท็จจริงก็คือ
เราต้องการล้างมือจากการปล่อยกู้ให้อสังหาริมทรัพย์" ทุน ซานยังได้สับเปลี่ยนโยกย้ายพนักงานแบงก์ด้วยเหตุผลว่า
"มีคนไม่กี่คนที่บริหารงานแบงก์นี้มาเป็นเวลานานมาก เราต้องการไอเดียใหม่
ๆ จากข้างนอกบ้าง
ขณะเดียวกันทุน ซานได้ขายธุรกิจปล่อยสินเชื่อสำหรับการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย
ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนสูงออกไป โดยได้กำไร 5.8 ล้านดอลลาร์ และเมื่อปีที่แล้ว
แปซิฟิก แบงก์ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนรวมทั้งวอแรนต์มูลค่า 10.9 ล้านดอลลาร์
"เราตั้งเป้าขายให้กับกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับธนาคารของเราเป็นอย่างดี
คนซึ่งเข้าใจธุรกิจธนาคารดี คนที่ไม่กลัวว่าจะขาดทุน และคนที่มองเห็นว่าธนาคารมีโอกาสแข็งแกร่งขึ้น"
เขากล่าว
ตันซานยังใช้ประโยชน์จากการเป็นคนพม่าได้ด้วย เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาได้พบปะกับนักธุรกิจชาวไทยคนหนึ่ง
ซึ่งต้องการซื้อไม้จากพม่า นอกจากจะเสนอตัวให้การสนับสนุนด้านการเงินแล้ว
ตันซานยังช่วยแนะนำให้นักธุรกิจคนนั้นรู้จักกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าด้วย
ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับลูกค้าแน่นแฟ้นขึ้น ถึงแม้ว่าธุรกิจของคุณจะใหญ่โต
ครอบคลุมทั่วเอเซีย แปซิฟิค แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวนั้นเป็นเรื่องที่ยังต้องมีอยู่"