|
เศรษฐกิจปีหน้าโตต่ำสุดรอบ 5 ปีบัวหลวงชี้ปัจจัยนอก-ในยังไม่เอื้อ
ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคแบงก์กรุงเทพคาดเศรษฐกิจปี 50 โต 3-4% ลดลงจาก 4.3% ในปีนี้และต่ำสุดตั้งแต่ 44 ระบุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศยังไม่เอื้อ โดยการใช้จ่ายงบประมาณที่ล่าช้าจะทำให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐขยายตัวไม่ถึง 2% ขณะที่เศรษฐกิจโลกไม่เป็นใจมีทิศทางชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และหากปัจจัยต่างๆแย่กว่าที่ประเมินไว้จีดีพีปี 50 อาจโตแค่ 2-3%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 50 ว่า จากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 จากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2549 ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2549 สำหรับปี 2550 แม้ว่าราคาน้ำมันมีทิศทางที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น และความสับสนทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงจากการเลือกตั้ง แต่จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจหลักของโลกได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นที่มีทิศทางที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนจากนโยบายการเงินการคลังที่รัดตัวในกรณีญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป
ส่วนในกรณีประเทศสหรัฐฯ ฟองสบู่ที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ได้เข้าสู่ภาวะขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ตั้งแต่ต้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลกทำให้ประเมินได้ว่าการส่งออกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงในปี 2550 และทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากปี 2549
ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงในหลายด้าน เช่น ราคาน้ำมันและปัญหาทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และความไม่ชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพจึงวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจปี 2550 ไว้ 2 กรณี คือ
กรณีพื้นฐาน (Base Case) ซึ่งเป็นกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงแต่ยังคงขยายตัวค่อนข้างดีที่ 4.0% ลดลงเล็กน้อยจาก 4.9% ในปี 2549 การที่เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวค่อนข้างดีเนื่องจากมีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯแม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่ยังคงขยายตัวได้ในระดับค่อนข้างสูงที่ 2.7% จากการที่สาขาที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงอย่างช้าๆ (Soft Landing) ในขณะที่เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นขยายตัวลดลงไม่มากนักจากปี 2549 ตลอดจนเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและอินเดีย ยังคงขยายตัวค่อนข้างสูง สถานการณ์ของเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% สำหรับปัญหาการเมืองในประเทศ ในกรณีนี้สมมติว่า สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในต้นปี 2550 และมีการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนตามปกติตั้งแต่กลางไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เป็นต้นไป
และกรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ (Pessimistic Case) ในกรณีนี้สมมติว่าเกิดการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ค่อนข้างรุนแรงส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากโดยขยายตัวเพียง 1% ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจหลักอื่นๆ ได้แก่สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีนชะลอตัวลง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมากแต่ก็น่าจะส่งผลดีที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงในระดับหนึ่งและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ ประเมินว่าในกรณีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในปี 2550 ประมาณ 3–4% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2544 การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียง 4.2% และ 3.3% ตามลำดับ ลดลงจาก 5.0% และ 3.7% ในปี 2549 ปัญหาการเมืองและการล่าช้าในการจัดทำงบประมาณทำให้การลงทุนและการบริโภคภาครัฐขยายตัวต่ำกว่า 2% สำหรับด้านต่างประเทศ การส่งออกและนำเข้าคาดว่าจะชะลอตัวลง โดยขยายตัว 9.8% และ 8.7% ตามลำดับ ลดลงจากที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 13.4% และ 8.9% ในปี 2549 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแต่เศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดุลการค้าขาดดุลลดลงเหลือ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากที่คาดว่าจะขาดดุล 4.5 และเกินดุล 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับในปี 2549 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงจาก 4.7% ในปี 2549 เหลือ 2.5–3.5% ใกล้เคียงกับปี 2547
ส่วนในกรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดไว้นั้น เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2–3% โดยการบริโภคและการลงทุนขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 3% และ 2.3% ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวลง 1.5% การส่งออกขยายตัวในอัตราต่ำมากที่ 0.5% ขณะที่การนำเข้าหดตัวลง 0.8% ทำให้ดุลการค้าขาดดุลเพียง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.5–2.5%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|