การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคิดสร้างธุรกิจร้านค้าปลอดอากรเหมือนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยโดยมีเป้าหมาย
เพื่อหารายได้เพิ่มโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเจ้าของสัมปทานได้อัตราร้อยละ
10 ของรายได้ยอดขายก่อนหักค่าใช้จ่าย มีอายุสัมปทาน 5 ปี แต่วันนี้หาก ครม.
มีมติให้เปิดเสรีไม่ผูกขาดสัมปทานเพียงรายเดียวในเมืองไทย ใครจะเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
?
การสั่งปลดธรรมนูญ ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สาวิตต์ โพธิวิหค เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนหรือไม่มีสัญญาณเตือนภัยให้รู้ตัวล่วงหน้า
ข้อกล่าวหาที่เป็นเหตุผลของการปลดกลางอากาศครั้งนี้ ก็คือการบริหารงานที่ไร้ประสิทธภาพอันเนื่องมาจากกรณีการไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับองค์กร
นั่นคืออนุญาตให้บริษัท ดาวน์ทาวน์ ดีเอฟ เอส (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานบริหาร
บริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร จำกัด ยืดเวลาการชำระเงินค่าผลประโยชน์รายปีให้กับ
ททท.
คำถามจึงมีอยู่ว่า ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้หรือถึงขนาดสั่งปลดกลางอากาศ
หรือว่ามีเบื้องหลังลึกซึ้งกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เหตุผลข้อนี้ ได้ส่งผลกระทบไปยังการดำเนินกิจการของบริษัท
ททท. สินค้าปลอดอากร จำกัด ภายใต้การบริหารงานของบริษัทดาวน์ทาวน์ ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานในวันที่
31 สิงหาคมนี้ มีอันต้องสิ้นสุดตามลงไปโดยปริยาย โดยไม่ได้รับการต่ออายุสัมปทานดังที่คาดหมายไว้แต่ต้น
"ผมทำใจไว้แต่แรกแล้วว่างานที่ขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นตัวจักรสำคัญสักวันหนึ่งก็ต้องจบปัญหาด้วยเหตุผลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง"
วิชัย รักศรีอักษร กรรมการผู้จัดการบริษัทดาวน์ทาวน์ จำกัดกล่าว
ว่ากันว่าเพราะอายุสัมปทานที่กำลังจะหมดไปนี่เอง จึงทำให้มีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการเปิดเสรีร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้หลายรายเหมือนเช่น
ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินการค้าเสรีอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะให้ทางบริษัทดาวน์ทาวน์เป็นผู้ผูกขาดแต่เพียงเจ้าเดียว
"หากธุรกิจนี้เปิดดำเนินการแบบเสรีได้ โดยไม่มีการผูกขาดสัมปทานเพียงรายเดียว
เช่นปัจจุบันนี้คาดว่านอกจาก ททท. จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นแล้ว ผู้ซื้อหรือนักท่องเที่ยวก็จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตามมาอีกด้วย
ซึ่งอาจหมายรวมถึงราคาของสินค้าจะถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ตามความหมายของคำว่าปลอดอากรนั้นสินค้าน่าจะมีราคาถูกเพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นข้อแตกต่าง"
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลของการเสนอให้เปิดเสรีร้านดิวตี้ฟรีช็อปในเมือง
ในประเด็นปัญหาเรื่องราคาสินค้าปลอดอากรควรจะถูกลงกว่าที่เป็นอยู่ไม่ว่าจะเป็น
บุหรี่ กระเป๋า เครื่องหนัง น้ำหอม เหล้า ฯลฯ ก็ตาม แหล่งข่าวจากบริษัทดาวน์ทาวน์กล่าวว่า
"เป็นไปไม่ได้ที่สินค้าเหล่านี้จะมีราคาถูกไปกว่าที่เป็นอยู่หรือสู้ของเถื่อนได้
ทั้งนี้เพราะเหตุผลทางการตลาดซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคืนผลประโยชน์สู่องค์กรของรัฐ
เช่น กรมศุลกากร 15% การท่องเที่ยวฯ 10% และการท่าฯ 2% นอกจากนี้ ยังมีค่าเงินเดือนพนักงานค่าใช้จ่ายในการลงทุน
อาทิ ค่าอาคารสำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารมหาทุนพลาซ่า 80 ล้านบาทซึ่งต้องจ่ายเป็นเงินสด
รวมไปถึงค่าเบี้ยบ้ายรายทาง ค่าน้ำร้อนน้ำชาอันเกิดขึ้นเนื่องจากการวิ่งเต้นให้โครงการนี้ผ่าน
ครม. ในชุดนั้น"
ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเปิดเสรีร้านดิวตี้ ฟรีช็อป แต่กลับมีผู้ให้ความสนใจด้วยกันหลายราย
อาทิ สายการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์ หรือ เอส.เอ.เอส. และดิวตี้ ชอปเปอร์เป็นต้น
ขณะเดียวกันนักลงทุนอีกจำนวนหนึ่งก็ยังหวั่นวิตกเกี่ยวกับอำนาจของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
วันนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดนี้หากวันหน้ามีการเปลี่ยนแปลงชุดใหม่
ก็ไม่แน่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีก
เมื่อ 5 ปีก่อนในเดือนตุลาคม 2532 รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้มีมติ
ครม. ให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายก
ซึ่งขณะนั้นมี กร ทัพพะรังสีเป็นรัฐมนตรีว่าการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองได้ในลักษณะของการ
ให้สัมปทานเอกชนเพียงหนึ่งรายในการจัดดำเนินการธุรกิจนี้โดยมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง
ททท. และบริษัทเอกชนดังกล่าว หลังจากให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยทำธุรกิจชนิดเดียวกัน
ในลักษณะผูกขาดสัมปทานเช่นเดียวกันนี้ที่สนามบินดอนเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
เป้าหมายของมติ ครม. ที่เปิดให้มีร้านค้าปลอดอากรเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้น
ประเด็นสำคัญที่ ททท. มุ่งเน้นก็คือเพื่อเป็นการส่งเสริมให้รัฐมีรายได้เพิ่มจากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว
นอกเหนือจากการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการบริการให้เกิดความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นด้วย
โดยไม่ต้องไปรอซื้อสินค้าที่สนามบิน ในช่วงเวลาขากลับออกนอกประเทศเท่านั้น
สามารถซื้อสินค้าปลอดอากรได้จากในเมืองตามสาขาที่ ททท. เปิดบริการอยู่และรอรับสินค้าได้ในเวลาขากลับออกนอกประเทศ
การประกาศให้เปิดธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในครั้งนั้น
ได้รับความสนใจจากผู้ดำเนินธุรกิจประเภทนี้หลายรายด้วยกัน บริษัท ดาวน์ทาวน์จำกัด
ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น และได้รับการพิจารณาให้เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจาก
ททท. ในการเข้าไปดำเนินการขายสินค้าปลอดอากร
เงื่อนไขที่บริษัทดาวน์ทาวน์ได้รับการคัดเลือกให้ผูกขาดสัมปทานนี้คือ ผลประโยชน์ตอบแทนคืนกลับ
ททท. 10% ของยอดขายก่อนหักรายได้ ตัวเลขเพียง 10% เมื่อเปรียบเทียบจากยอดของจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายโดยประมาณการต่อหัวต่อเดือนและต่อปีรวมกันนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยในปีแรกของการดำเนินการดาวน์ทาวน์ประมาณว่าจะมีมูลค่ายอดขายถึง 400
ล้านบาท ในปีที่สอง 450 ล้านบาท ปีที่สาม 500 ล้านบาท ปีที่สี่ 600 ล้านบาท
และปีที่ห้า (ปี พ.ศ. 2537) 700 ล้านบาท
ผลประโยชน์ที่คาดการณ์ไว้สวยหรูเช่นนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ 10% ที่ ททท.
จะได้ดังกล่าวแล้ว ดาวน์ทาวน์จึงสามารถเอาชนะใจคณะกรรมการเฉือนผู้ประมูลรายอื่นไปได้อย่างงดงาม
นั่นหมายความว่า ททท.ไม่ต้องทำอะไรเลยแต่ก็มีรายรับเพิ่มในแต่ละปี คือ
40 ล้าน, 45 ล้านบาท, 50 ล้านบาท, 60 ล้านบาท และ 70 ล้านบาทในปีสุดท้ายของอายุสัมปทานตามลำดับ
แน่นอนว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับสัมปทานในระบบการบริหารบ้านเมืองแบบไทย
ๆ นั้น สิ่งที่รัฐจะได้เป็นค่าตอบแทนไม่ใช่เงื่อนไขเดียวที่ชี้ขาดว่าใครจะเป็นผู้ชนะ
เงื่อนไขอีกข้อหนึ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ นอกจากตัวเลขผลตอบแทนที่รัฐจะได้แล้ว
คนของรัฐที่ดูแลสัมปทานนั้น ๆ อยู่จะได้อะไรบ้าง
ว่ากันว่ากว่าที่บริษัทดาวน์ทาวน์จะได้รับสัมปทานนี้มา ต้องเสียผลประโยชน์ให้กับผู้ผลักดันให้เกิดธุรกิจนี้เป็นจำนวนเงินถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้กับ
ททท. ในปีแรกเลยทีเดียว แต่ก็นับว่าคุ้ม เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะตามมา
แม้จะเหนื่อยและต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางแต่บริษัท ททท. สินค้าปลอดอากร
จำกัดก็เกิดขึ้นจนได้ที่อาคารมหาทุน ถนนเพลินจิต โดยมีวิชัย รักศรีอักษร
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทดาวน์ทาวน์ จำกัด และได้รับการแต่งตั้งจาก ททท.
สินค้าปลอดอากรจำกัดถือหุ้นร่วมระหว่างการท่องเที่ยวฯ กับบริษัทดาวน์ทาวน์
มีคณะกรรมการบริหารร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
ในช่วงแรกของการเปิดธุรกิจ วิชัยถูกโจมตีว่ามีความไม่ชอบมาพากลในการประมูลเพื่อร่วมดำเนินการกับ
ททท. รวมไปถึงความไม่บริสุทธิ์ทางธุรกิจของวิชัยผู้บริหาร ททท. ร้านค้าปลอดอากรเองด้วย
ในกรณีเรื่องหนี้สินผูกพันกับมาบุญครองที่ยังดำเนินคดีกันอยู่เป็นจำนวน 14
ล้านบาท
ว่ากันว่าเป็นการกระทำของฝ่ายตรงข้ามที่เสียผลประโยชน์อันเนื่องมาจากแพ้การประมูลและการถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป
การโจมตีเช่นนี้จึงเสมือนยกแรกของผู้ที่รับสัมปทานรายที่สองในธุรกิจร้านค้าปลอดอากร
ที่ในขณะนั้นเป็นเพียงการเกิดเพิ่มขึ้นอีกรายในเมืองเท่านั้น
"ฉากนี้เป็นเพียงยกแรกของการเปิดทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรให้เกิดขึ้นอีกรายหนึ่งในเมืองแบบกึ่งเสรีเท่านั้น
หากเปิดเสรีปล่อยให้มีร้านค้าปลอดอากรอยู่ทั่วเมืองจริงๆ อย่างที่ ครม. ต้องการคาดว่าจะได้เห็นฉากการโจมตี
และเงินผลประโยชน์สะพัดในช่วงของการพิจารณาเงื่อนไขผูกพันก่อนการดำเนินการอย่างแน่นอน"
เป็นความเห็นจากผู้ที่อยู่ในวงการ
ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นมีผลทำให้วิชัยได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการลาออกจากบริษัท
ททท. สินค้าปลอดอากร แม้จะได้รับการทักท้วงจากผู้ใหญ่ของ ททท. ก็ตาม เพื่อยุติข่าวการถูกโจมตีอันจะมีผลกระทบไปถึงธุรกิจที่ดำเนินการอยู่
ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจร้านสินค้าปลอดอากรดำเนินไปด้วยดี ขณะเดียวกันก็เพื่อความสะดวกในการต่อสู้ข้อกล่าวหาเช่นกรณีจ่ายเช็คเด้งเป็นต้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้วิชัยต้องใช้เวลาเคลียร์ตัวเองยาวนานถึง 2 ปี และในที่สุดก็ได้กลับเข้ามาบริหารบริษัท
ททท. สินค้าปลอดอากรอีกครั้งพร้อมหมายศาลแจ้งจับผู้ไม่หวังดีที่ประโคมข่าวทำให้เสียชื่อเสียง
การกลับมาอีกครั้งหนึ่งของเขาหลังถูกโจมตี วิชัยประกาศว่า จำเป็นต้องกลับเข้ามาในดาวน์ทาวน์ใหม่
เพื่อพยุงกิจการของบริษัทให้อยู่รอดและดำเนินไปได้ด้วยดี
วิชัยจึงกลับเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทอีกครั้ง พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริหารให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการทั่วไปมีอำนาจเต็มในการวางนโยบายและบริหารงาน
"วิชัยเป็นคนที่มีความสามารถ และเขาเป็นผู้ดำเนินงานนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นวางโครงการ
ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดการ การวางแผนงาน การจัดซื้อทุกอย่างเขาเป็นคนทำ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เขาจะกลับเข้ามาดำเนินงานนี้ต่อไป"
แหล่งข่าวจากการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวไว้เช่นนี้
สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2532 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวตกไป จนมีผลต่อรายได้ของร้านสินค้าปลอดอากร
เพราะยอดขายที่ตกไปนี้จึงเป็นผลให้เกิดเหตุที่โด่งดังในช่วงที่ผ่านมานี้เอง
นั่นคือการปลดผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพราะไม่รักษาผลประโยชน์ให้กับ
ททท. ตามเงื่อนไขสัญญาที่บริษัทดาวน์ทาวน์ตกลงไว้ว่า มีช่วงเวลาใดบ้างที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์ให้
ททท. ในจำนวน 10% ของยอดขาย ซึ่งจนถึงขณะนี้ ททท. ยังไม่ได้รับค่าผลประโยชน์ดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ทางบริษัทดาวน์ทาวน์
อ้างว่า "ขาดทุน จึงทำให้ไม่มีเงินจ่าย"
หากย้อนกลับไปดูคำให้สัมภาษณ์ของวิชัยเมื่อ 2 ปีก่อนมานี้เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า
"เราการันตีกับ ททท. ว่ายอดขายในปี 2532 จะได้ถึง 450 ล้านบาทเป็นขั้นต่ำ
แต่เราก็สามารถพยุงยอดขายไว้ได้ถึง 560 ล้านบาท ในปีที่ 3 ถึงแม้ว่าเราจะทำเกินเป้า
แต่ก็ยังเป็นรายได้ที่ไม่น่าพอใจนักซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วหากไม่เกิดกรณีของสงครามขึ้นยอดขายสินค้าจะได้มากกว่านี้"
ในขณะที่ปี 2535 วิชัยคาดการว่าธุรกิจของเขา จะสามารถทำตัวเลขยอดขายได้เกินกว่า
820 ล้านบาทตัวเลขจำนวนนี้เป็นตัวเลขขั้นต่ำที่ตั้งไว้ให้กับทาง ททท. ซึ่งอาจจะทำได้ถึง
1,000 ล้านบาทเพื่อนำมาชดเชยในปี 2532 ที่ทำยอดขายได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ
วิชัยเชื่อมั่นว่าจะได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปีนี้ (2535) เพราะนับจากเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
จำนวนนักท่องเที่ยวได้กลับมาอยู่ในจำนวนเท่าเดิม ซึ่งตลาดกลุ่มเป้าหมายใหญ่ของ
ททท. สินค้าปลอดอากรต้องการคือ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง
และสินค้าที่เขาต้องการส่วนใหญ่จะเป็นพวกเครื่องสำอาง เครื่องหนัง ปากกา
ไฟแช็กซึ่งเป็นสินค้าที่ทำกำไรได้ดีกว่าสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่
จากสถิติของ ททท. แสดงจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เข้าเมืองไทยต่อปีประมาณ
700,000 คน นักท่องเที่ยวเหล่านี้มีค่าเฉลี่ยของการจับจ่ายใช้สอยซื้อของกลับประเทศเป็นจำนวน
3,500 บาทต่อหัว ในขณะที่ไต้หวันและเกาหลีมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยปีละประมาณ
500,000 และ 300,000 คน ตามลำดับ มีรายจ่ายต่อหัว 1,500 บาทและ 1,400 บาท
ในจำนวนนักท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้วิชัยแบ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวออกเป็น
2 กลุ่ม คือ 50% มากับกรุ๊ปทัวร์ อีก 50% เป็นนักธุรกิจและกลุ่มที่เข้ามาท่องเที่ยวเอง
ในส่วนนี้เขาคาดหวังยอดขายจะได้มาจากกรุ๊ปทัวร์เพียง 35%,40% และ 40% จากญี่ปุ่น
ไต้หวันและเกาหลีตามลำดับ
วัชัยได้กลับเข้ามาดำเนินธุรกิจร้านสินค้าปลอดอากรในครั้งนี้นอกจากจะเข้ามาพยุงยอดขายของบริษัทให้ได้ตามเป้าหมายที่เสนอต่อ
ททท. แล้ว เขายังมีเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มเพื่อเป็นการดักทางจับกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจอีก
50% ที่เข้ามาเองโดยไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์ เช่น สาขาใน กทม. ที่หน้ากรมศิลปากรและภูเก็ต
จากการขยายสาขาเพื่อดักกลุ่มเป้าหมาย ที่เกิดขึ้น และจากแผนการตลาด เพื่อยอดขายตามเป้าหมายที่วางไว้
หากเปรียบเทียบจากตัวเลขที่เสนอ ททท. ตามข้อกำหนด เบื้องต้นคือ 400 ล้านบาท
ในปีแรก 450 ล้านบาทในปีที่สอง 500 ล้านบาทในปีที่สาม 600 ล้านบาทและ 700
บาทในปีที่สี่และห้าตามลำดับ ดาวน์ทาวน์ก็น่าที่จะมีเงินจ่ายให้ตามเงื่อนไข
หมายความว่าการดำเนินธุรกิจของวิชัยไปได้สวย ตัวเลขยอดขายจึงเกินกว่าเป้าหมาย
แถมยังสามารถขยับขยายการลงทุนด้านสาขาไปยังที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
อาทิ การไปลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในเขมรทำร้านสินค้าปลอดอากรภายใต้ชื่อ "ทีเอที
พนมเปญ" ซึ่งเปิดเมื่อกลางเมษายน 600 ตรม. ที่สนามบินและในเมือง โดยให้ผลประโยชน์ต่อรัฐบาลพนมเปญในระยะสัมปทาน
20 ปีที่ 1-2 จ่าย 10% ปีที่ 3 จ่าย 15% ปีที่4-5 จ่าย 20% และปีที่ 5-20
จ่าย 25% ของกำไร
ทว่าคำตอบที่ได้รับจากดาวน์ทาวน์ในครั้งนี้ คือ เงินที่ได้จากยอดขายสินค้าและการดำเนินการเขาได้นำไปลงทุนในด้านการขยายสาขาตามเป้าหมายที่เสนอให้กับ
ททท. รับทราบตั้งแต่ครั้งแรกของการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยกันตามข้อกำหนดเบื้องต้นคือ
มีร้านในตัวเมือง กทม. 1 แห่ง และร้านค้าย่อยในกทม. 2 แห่ง รวมทั้งในจังหวัดต่าง
ๆ ได้แก่เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในระยะต่อไป
เพราะเหตุผลของดาวน์ทาวน์ออกมาในลักษณะเช่นนี้จึงกลายเป็นเหตุแห่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใน
ททท. ใหม่ซึ่งว่ากันว่า เบื้องลึกมาจากความไม่พอใจที่ผู้นำ ททท. ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว
(ATTA) ให้เป็นองค์กรเอกเทศจนสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังของอำนาจและผลประโยชน์ทั้งปวง
โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และรวมไปถึงการผลักดันให้ ครม. มีมติในเรื่องของธุรกิจร้านค้าปลอดอากรของ
ททท.ให้มีการเปิดเสรี
คำถามจึงมีอยู่ว่า ปัจจุบันนี้มีเอกชนได้สัมปทานโครงการอยู่เพียงรายเดียวยังไม่สามารถบังคับการสั่งจ่ายผลประโยชน์ให้กับรัฐได้
หากในอนาคตมีผู้ดำเนินการหลายราย รัฐจะมีวิธีควบคุมการดำเนินงานและรักษาผลประโยชน์ของรัฐได้อย่างไร
จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามดูความเคลื่อนไหวของทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลที่กำลังมีปัญหาคลุมเครืออยู่ในขณะนี้ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือต้องไปก่อนเวลา