|
‘พงส์ – ศุภเดช ’ ติดร่างแหจี้เอาผิดยกยวงนอมินีชินฯ
ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กมธ.วิสามัญฯ ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปสรุปผลสอบสวนชี้ชัดให้เอาผิดบริษัทกุหลาบแก้ว – ซีด้า – แอสเปน – ไซเปรส พร้อมกับ “พงส์ สารสิน - ศุภเดช พูนพิพัฒน์” โทษฐานทำตัวเป็นนอมินีร่วมกันกระทำผิดกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว บี้ “สมคิด” จัดการอย่างเคร่งครัดโดยด่วนมิฉะนั้นเจออาญาข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แน่ ขณะที่เจ้าตัวออกลีลาพลิ้วกำลังเร่งตรวจสอบ แถมกลบเกลื่อนขยายผลสอบนอมินีเพิ่มอีก 16 บริษัท ปชป. ชี้ 4 ปมปัญหาผลสอบชินฯ ขู่ฟ้องแน่หาก 7 วันยังเปลี่ยนพฤติกรรมอุ้มคนผิด ด้าน กทช. ตั้งแท่นฟันเอไอเอสยกเลิกไลเซนส์โทร.ทางไกลระหว่างประเทศหากผิดจริง
วานนี้ (13 ก.ย.) นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปผลสอบสวนและศึกษากรณีการขายหุ้นชินคอร์ป และส่งหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเร่งด่วนและเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถือว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
จี้เอาผิดกุหลาบแก้ว-ซีด้าฯ-พงส์ สารสิน
คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปผลการสอบสวนและศึกษากรณีปัญหาการขายหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะกรณีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าวและการกระทำอื่นที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และได้ส่งเรื่องไปให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจเพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติโดยชัดเจนว่าให้ดำเนินการ ดังนี้
1) ให้อธิบดีกรมการค้าดำเนินการเอาผิดกับบริษัทแอสเปน โฮลดิ้งส์ จำกัด, บริษัทซีด้า โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทไซเปรส โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ฐานกระทำการเลี่ยงมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทย ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจอันมิได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจนั้น
รวมทั้ง ดำเนินการเอาผิดกับนายพงส์ สารสิน และนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ กรรมการคนไทยในบริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด ฐานตัวแทนเชิดหรือนอมินี ที่ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยมิได้รับอนุญาต และดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งเลิกการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุน หรือสั่งให้เลิกการร่วมประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้เลิกการถือหุ้นนั้นเสีย แล้วแต่กรณี
สมคิด เพิกเฉยระวังเจอข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่
2) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเร่งด่วนและเคร่งครัด มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
อย่าประวิงเวลา เอื้อประโยชน์ผู้กระทำผิด
คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ต่อมาได้ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการสอบสวนและได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งผลสอบสวนดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เมื่อกรมธุรกิจการค้าในฐานะนายทะเบียนซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้ดำเนินการสอบสวนแล้วพบว่า ได้มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งทำให้การกระทำของคนต่างด้าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 8 และส่งผลให้คนต่างด้าวต้องได้รับโทษตามมาตรา 37 ซึ่งบัญญัติว่า
“คนต่างด้าวผู้ใดประกอบธุรกิจ โดยฝ่าฝืนมาตรา 6 มาตรา 7 หรือมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเลิกการประกอบธุรกิจ หรือเลิกกิจการ หรือสั่งเลิกการเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วน แล้วแต่กรณี หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลต้องระวางโทษปรับวันละหนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”
และในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรา 36 และ มาตรา 37 กรรมการ หุ้นส่วนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น หรือมิได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้น ก็ต้องได้รับโทษตามมาตรา 41 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่นิติบุคคล เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 34 มาตรา 36 หรือมาตรา 37 กรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดนั้น หรือมิได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
แต่ปรากฏว่า ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการแต่งตั้งกรรมการหรือคณะทำงาน ขึ้นมาสอบสวนกรณีดังกล่าวใหม่
“การกระทำเช่นนี้ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและประวิงเวลาให้ล่าช้า และอาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้กระทำความผิด ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อกระทรวงพาณิชย์ และประเทศชาติโดยส่วนรวม ทั้งจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือได้” เนื้อความในหนังสือที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ส่งถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระบุ
บี้สั่งการหน่วยงานอื่นจัดการชินคอร์ป
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ระบุว่า ในฐานะที่นายสมคิด เป็นผู้ควบคุมดูแลกระทรวงพาณิชย์และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงขอได้โปรดพิจารณาและสั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยเด็ดขาด อีกทั้งควรส่งไปให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายอื่นต่อไปด้วย
แย้งปลัดก.พาณิชย์ ขอข้อมูลเพิ่มไม่ถูกต้อง
นายเจิมศักดิ์ ยังกล่าวว่าในวันเดียวกันนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังได้ส่งหนังสือถึงปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรณีที่ถูกเรียกไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะทำงานตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้การแจ้งผลกาสรสอบสวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว ให้กับปลัดกระทรวงพาณิชย์และอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีมติโดยชัดเจนว่าให้ดำเนินการดังเนื้อความตามหนังสือที่คณะกรรมาธิการฯ ส่งถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีหนังสือแจ้งผลการสอบสวนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
อนึ่ง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการสอบสวนและได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งผลการสอบสวนดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสอบสวนของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังมิได้รับทราบผลการสอบสวนนั้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เมื่อครั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีหนังสือเชิญอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และอธิบดีฯ ได้มอบหมายให้นายดุสิต อุชุพงศ์อมร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปร่วมประชุมให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและรับฟังปัญหาแทนนั้น นายดุสิตฯ ได้รับว่าจะเร่งดำเนินการสอบสวนและเมื่อได้ผลสรุปเป็นประการใดแล้ว จะรีบแจ้งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทราบโดยทันที ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ได้จัดส่งผลการสอบสวนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดังกล่าวให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทราบโดยด่วนด้วย
นอกจากนั้นแล้ว เมื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งดำเนินการสอบสวนแล้วพบว่า ได้มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ควบคุมดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไปตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และส่งไปให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอื่นต่อไปด้วย การประวิงเวลาอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้กระทำผิด
พาณิชย์ เลือดเข้าตาขยายผลสอบนอมินี
นายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปตรวจสอบการถือหุ้นแทน (นอมินี) ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือ การสนับสนุนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจในประเทศ และการร่วมทำธุรกิจต่างด้าว ของ 16 บริษัทที่ถูกกลุ่มต่างๆ ร้องเรียนมา
โดยทั้ง 16 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทวิลลิช เซลส์ แอนด์ คอนแทรคติ้ง จำกัด บริษัท เคี่ยน หวู มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท เอ็นเอ็นทีแอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทอิซูมิ เซนโคชะ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด บริษัทยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บริษัท Bolero-Tak Wu Holdings (UCOM-DTAC) บริษัทไทย สกาย แอร์ไลน์ จำกัด บริษัทบูรภาลุมพินี แลนด์ จำกัด บริษัท เทเลนอร์ สัญชาตินอร์เวย์ บริษัท Cen Car Limited บริษัท Cemex (Thailand) บริษัท Hutchison Cat Wireless Multimedia บริษัท DHL Logistics (Thailand) บริษัท EK-chai Distribution System บริษัท Siam City Cement PLC
สำหรับการตรวจสอบการเป็นนอมินีของทั้ง 16 บริษัท ให้ยึดแนวทางเดียวกันกับการตรวจสอบความเป็นนอมินีของการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากที่ปรึกษาด้านการลงทุนของนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล ส่งถึงตนและนายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยขอความเป็นธรรมในการตรวจสอบกรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป โดยยกกรณีของการซื้อขายหุ้นบริษัทดีแทคของกลุ่มเทเลนอร์ ที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในดีแทค ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อสารเหมือนกับชินคอร์ป
“ทางกลุ่มร้องเรียนอ้างว่า ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเทเลนอร์ ก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้นหากจะตัดสินว่าบริษัทกุหลาบแก้วเป็นนอมินีของเทมาเส็ก เป็นการตัดสินถูกต้อง ก็ควรต้องมีการลงไปสอบกรณีของเทเลนอร์ด้วย รวมทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เกือบทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่” นายปรีชากล่าว
“สมคิด” บิดพลิ้วอ้างกำลังเร่งตรวจสอบ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งขึ้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด โดยได้มอบหมายให้นายปรีชาไปดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว และได้เร่งพร้อมกำชับให้นายปรีชา รวมทั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด แม้ว่าตนจะไม่ได้ดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยตรง แต่ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะต้องรับผิดชอบทุกหน่วยงานในสังกัด
ปชป.พบ 4 ปมผิด-จี้เลิกคณะกก.ชุดใหม่
นายเกียรติ สิทธีอมร คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากรายงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ปรากฏในสื่อมวลชน มีข้อสังเกต 4 ข้อ คือ
(1) เห็นได้ชัดว่า เทมาเส็กโดยผ่านฟลูเลอร์ตัน (Fullerton Private Limited) และบริษัท ไซเพส โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเทมาเส็กเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ชำระเงินค่าหุ้นและค้ำประกันเงินกู้ให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยชำระเงินค่าหุ้น ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมเป็นต้นมา จนถึงในกรณีที่มีการเพิ่มทุนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็น 164 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยในการให้ข้อเท็จจริงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ให้ไม่ตรงกับข้อมูลทางการเงินของธนาคาร ซึ่งข้อมูลของธนาคารถือเป็นหลักที่สำคัญที่สุด
(2) เทมาเส็กส่งผู้บริหารระดับสูง 3 คนคือ นายเอส ไอสวาราน น.ส.ทาน ไอ ชิง และ น.ส.ไช ยู จู มาเป็นกรรมการ มีอำนาจสิทธิขาดด้านการเงินทั้งหมดของทุกบริษัท ไม่เฉพาะบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด เท่านั้น แต่รวมถึงบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ไซเพสฯ ที่เข้ามาถือหุ้นในชินคอร์ป ซึ่งไม่ตรงกับอำนาจกรรมการที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ นี่คือวิธีการที่ทุนต่างชาติมาครอบงำกิจการโดยหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
(3) หลังวันที่ 15 มีนาคม มีความพยายามอีกครั้งที่จะปรับโครงสร้างโดยการเพิ่มทุนเป็น 4 พันล้านบาทในบริษัท กุหลาบแก้ว โดยมีนายสุรินทร์ อุปพัทธกุล เข้ามาถือหุ้นถึง 68% แต่นายสุรินทร์ได้รับเงินโอนจากนิติบุคคลต่างด้าวชื่อ Fairmont Investments Group Inc. ที่จดทะเบียนในหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ และรับมอบอำนาจในการลงทุนจากบริษัท กรีนแลนด์ จำกัด ซึ่งทั้งคู่เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ดังนั้นการที่นายสุรินทร์ดำเนินการเข้ามาลงทุนในบริษัท กุหลาบแก้ว ก็เป็นการกระทำการถือหุ้นแทนนิติบุคคลต่างด้าวอย่างชัดเจน จะอ้างว่าเป็นเงินของตัวเองหรือเงินของคนไทยไม่ได้
และ (4) ทั้งหมดนี้ถูกตอกย้ำด้วยเงื่อนไขส่วนแบ่งกำไร 3% ซึ่งเหตุผลของผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยว่ายอมรับได้นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็เกิน 3% ไปมากแล้ว ทั้ง 4 ประการเห็นได้ชัดว่า หลักฐานนั้นมัดแน่น และไม่มีเหตุผลใดที่จะปรับโครงสร้าง หากไม่กลัวผิด
นายเกียรติกล่าวว่า การตรวจสอบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ครบถ้วนเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอีก
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ในฐานะที่จะชี้ได้แล้วว่าถือหุ้นแทน ต้องไม่สับสนในการส่งต่อการชี้มูลความผิดตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและการส่งหลักฐานให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ร้อง ตรวจสอบภาษี “สุรินทร์”
พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายสมคิด ดังนี้ 1) เลิกถ่วงเวลาและยกเลิกคณะทำงานที่ตั้งขึ้นใหม่ 2) ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเกินเลยกว่าการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพราะส่อว่าจะเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม
3) นายสมคิด ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับกระทรวงการคลังต้องสั่งให้กรมสรรพากร ตรวจสอบการเสียภาษีของนายสุรินทร์ทันที เนื่องจากรับเงินได้จากบริษัทต่างประเทศเข้าบัญชีตัวเองจำนวน 2,720 ล้านบาท ก่อนจะโอนเข้าบริษัท กุหลาบแก้ว และจากการที่นาย ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่าจะสรุปได้ว่าเป็นการถือหุ้นแทน ผู้ถือหุ้นแทนต้องรับสารภาพก่อนนั้น เรื่องนี้ตลกมาก เหมือนกับว่าจับขโมยแล้วมีหลักฐานต้องให้โจรรับสารภาพ นายทนงควรกลับไปทบทวนความเข้าใจพื้นฐานด้านกฎหมายใหม่
"ทั้งคุณสมคิด คุณปรีชา และคุณยรรยง ควรเลิกทำตัวเป็นนอมินีของผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้นจะเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม จากนี้จะรอดูอีก 5-7 วัน และหารือฝ่ายกฎหมายว่าจะทำอย่างไรกับผู้เกี่ยวข้อง หากฟ้องได้ก็จะฟ้อง" นายเกียรติกล่าว
ไอเอเอสมีสิทธิ์แห้วใบอนุญาต 3 จี
นายปริญญา วิเศษศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท ทีโอที เปิดเผยว่า หากกระทรวงพานิชย์ มีข้อสรุปเรื่องสอบว่า กุหลาบแก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ SHIN เป็นนอมินีจริง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส จะส่งผลให้เอไอเอสผิดคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือกทช. ดังนั้นในอนาคต หากเอไอเอสต้องการยื่นขอใบอนุญาตจากกทช.ก็ไม่สามารถทำได้ หรือยื่นไปแล้ว กทช.จะไม่อนุมัติให้ใบอนุญาต เนื่องจากเอไอเอสผิดคุณสมบัติ ผู้ขอใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนดไว้ 49% ซึ่งขณะนี้เอไอเอสสนใจขอใบอนุญาต 3จี ประเภทที่ 3 แบบมีโครงข่าย
ส่วนสัญญาร่วมการงานระหว่างทีโอทีกับเอไอเอสนั้นไม่ได้รับผลระทบใดๆ เนื่องจากเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการภายใต้สิทธิของทีโอที ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทีโอที ร่วมทั้งในสัญญาสัมปทานไม่ได้ระบุว่าผู้ร่วมการงานต้องเป็นสัญชาติไทย ซึ่งทีโอทีจึงไม่สามารถเลิกสัญญาร่วมการงานได้ โดยทีโอทีจะสามารถยกเลิกสัญญาร่วมการงานกับเอไอเอสได้ก็ต่อเมื่อเอไอเอสผิดสัญญาร่วมการงานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เอไอเอสจะมีเพียงปัญหาในส่วนของใบอนุญาต โทร.ทางไกลต่างประเทศประเภทที่ 3 ที่เอไอเอสได้รับใบอนุญาตจากกทช. เท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|