ในบรรดานักเจรจาต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนและประสานผลประโยชน์ทางธุรกิจของยุคนี้
ต้องนับเอาไว้ท์ ชัยพยุงพันธ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทรัตนการเคหะเป็นหนึ่งในนั้นด้วย
โครงการประตูน้ำคอมเพล็กซ์หรือในชื่อเดิมว่า สินธรสแควร์ที่เดินหน้าได้อย่างราบรื่นในขณะนี้ก็เป็นเพราะฝีมือของหนุ่มใหญ่วัย
47 ปี เจ้าของบุคลิกนิ่มนวล อ่อนน้อมถ่อมตนผู้นี้
ที่ดิน 10 ไร่บริเวณตลาดเฉลิมโลกซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการนี้ รัตนการเคหะได้สัญญาเช่า
30 ปีจากกรมการศาสนามาตั้งแต่ปี 2532 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะผู้เช่าเดิมที่อาศัยอยู่ไม่ยอมย้ายออกไปยิ่งมาเจอกับท่วงทำนองแข็งกร้าวของคุณหญิงพัชรี
ว่องไพฑูรย์ สมัยที่ยังครอบครองรัตนการเคหะอยู่ ความขัดแย้งก็ยิ่งยืดเยื้อ
จนกลายเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาลไปหลายคดี
จนในที่สุดรัตนการเคหะก็เปลี่ยนมาอยู่ในมือของกลุ่มสุระ สนิทธานนท์และโชติมา
ทวีวงศ์ ณ อยุธยาของกลุ่มวงศ์ทวี เคาน์ตี้ พร้อมกับการดึงเอาตัวไวท์ กลับคืนสู่รังเก่าอีกครั้ง
ไวท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งรัตนการเคหะร่วมกับวีระนนท์ ว่องไพฑูรย์ แต่ได้ลาออกในเวลาต่อมา
เพราะแนวความคิดในการพัฒนาโครงการที่แตกต่างกัน
การกลับคืนสู่รัตนาการเคหะอีกครั้งหนึ่ง ภาระกิจเร่งด่วนประการหนึ่งของไวท์คือการผลักดันโครงการสินธร
สแควร์ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้ เพราะโครงการที่ประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้า
4 ชั้น คอนโดมีเนียมที่พักอาศัย 30 ชั้น 2 อาคาร มีพื้นที่ขายรวม 160,000
ตารางเมตรนี้ จะทำรายได้ให้รัตนการเคหะนำไปปลดเปลื้องหนี้สิน และเป็นทุนในการพัฒนาโครงการในอนาคตต่อไปได้อีกอย่างสบาย
ๆ
ไวท์นัดเจรจากับไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจหรือ "ปอ ประตูน้ำ" ซึ่งว่ากันว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ชี้ขาดชะตากรรมของโครงการนี้การเจรจาเกิดขึ้น
2 ครั้งและในที่สุดทั้ง 2 ก็บรรลุข้อตกลงกันได้ว่า จะร่วมมือกันพัฒนาที่ดินแปลงนี้
โดยแบ่งผลประโยชน์กัน
สินธรสแควร์เลยกลายเป็น "ประตูน้ำ คอมเพล็กซ์" โดยมีรัตนการเคหะกับปอประตูน้ำร่วมกันทำ
รัตนการเคหะรับหน้าที่ในการก่อสร้างและงานขายไป ส่วน ปอ ประตูน้ำรับหน้าที่เจรจากับผู้เช่าเก่าให้ย้ายออกไป
เรื่องที่ยืดเยื้อกันมานานสี่ห้าปี จนไม่มีใครคิดว่าโครงการนี้จะได้เกิด
ก็จบลงอย่างง่าย ๆ เพราะไวท์คุยกับเจ้าพ่อประตูน้ำรู้เรื่อง
เท่านี้ยังไม่พอ ไวท์ยังติดต่อเจรจากับปลอดประสบ สุรัสวดี อธิบดีกรมประมงและพลตรีสุดสาย
หัสดิน เจ้าของสมญา "เจ้าพ่อกระทิงแดง" ที่เลื่องชื่อในช่วงปี
2516-2519 เพื่อเจรจาขอเช่าที่ดิน 4 ไร่ที่อยู่ติดกันซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสองตระกูลนี้
ก่อนหน้านี้คุณหญิงพัชรีเคยเจรจาขอเช่าที่ดินผืนดังกล่าวเหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เพราะคนแถวประตูน้ำ โทรศัพท์มาต่อว่าปลอดประสบตลอดวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
จนต้องล้มเลิกความตั้งใจในที่สุด
เมื่อผู้กว้างขวางอย่างปอซึ่งกุมหัวใจคนแถวนั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประตูน้ำคอมเพล็กซ์
ปัญหาเรื่องผู้อยู่อาศัยเดิมจะต่อต้านก็หมดไป ทั้ง 3 ฝ่ายคือ ไวท์ ปอ และปลอดประสบ
สามารถตกลงกันได้เรียบร้อยและเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนมิถุนายน
ที่ดินที่รัตนการเคหะได้เพิ่มขึ้นมาอีก 4 ไร่นี้จะได้รับการพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นอีก
1 อาคารโดยมีสัญญาเช่า 30 ปี ทำให้รัตนการเคหะสามารถขยายโครงการเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก
เพราะสามารถในการประสานผลประโยชน์กับผู้ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อ
แต่พอมาเจอกับ "จ้าว" ตัวจริง ไวท์ก็ต้องยอมแพ้
ตลาดเฉลิมโลกนั้น มีโรงเจ หรือโรงทานอยู่แห่งหนึ่งมีชื่อว่า "โรงเจโพวเต็กตึ๊ง"
เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าซึ่งเป็นที่เคารพ กราบไหว้บูชาของผู้คนในย่านนี้ เสมือนหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปัดเป่าทุกข์ภัย
ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชาวประตูน้ำ ทุก ๆ ปี จะมีการจัดงานสมโภช และปอ
ประตูน้ำก็ใช้ศาลเจ้านี้เป็นโรงทานแจกข้าวของเครื่องใช้ให้กับคนย่านนั้นประจำ
ทุกวันนี้ อาคารพาณิชย์และแผงขายสินค้า ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว เหลือเพียงที่ดินว่างเปล่า
แต่ศาลเจ้ายังตั้งตระหง่านอยู่ ไม่ได้ถูกกระทบกระเทือนแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ปัญหาเกิดตรงที่ว่าจะสร้างคอมเพล็กซ์ขึ้นมา ก็ต้องรื้อศาลเจ้าทิ้ง
การเจรจารื้อศาลเจ้าของไวท์ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หัวเรี่ยวหัวแรงที่คัดค้านอย่างเต็มที่คือ
ปอ ประตูน้ำนั่นเองและกลุ่มผู้เช่าเดิมที่ยอมให้รื้อบ้านได้แต่ขอศาลเจ้าไว้
ไวท์ ไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพราะมันเกี่ยวพันถึงความเชื่อที่ยาวนานของคนจีนในย่านนั้น
ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงตรงนี้ ทางออกหลังจากเจรจาต่อรองกันคือ การสร้างคอมเพล็กซ์คล่อมศาลเจ้าเดิม
โดยจะเว้นพื้นที่ส่วนของศาลเจ้าเอาไว้แต่จะออกมาในรูปลักษณ์แบบไหนจึงดูกลมกลืนนั้น
สำหรับหลักการแล้ว ห้ามรื้อโดยเด็ดขาด นักเจรจาฝีปากเอกอย่างไวท์ ชัยพยุงพันธ์ที่เอาชนะใจเจ้าพ่อเดินดินมาแล้ว
ก็ถึงคราวต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเหมือนกันเมื่อมาเจอกับจ้าวแห่งโรงเจ