ต้นเดือนกรกฎาคมนี้จะไม่มีกรรมการผู้จัดการที่ชื่อ "วราวุธ วงศ์วิเศษ"
ที่ชลประทานซีเมนต์อีกต่อไปแล้ว
แปดเดือนเต็มที่วราวุธจำต้องแบกภารกิจบริหารกิจการที่ไร้ประสิทธิภาพนี้ไว้อย่างจำใจ
ตามคำขอร้องของถาวรสวัสดิ์ ชวะโนทัย น้อยเขยผู้ถือหุ้นใหญ่ในชลประทานซีเมนต์ขณะนี้
"ความจริง วราวุธเขาไม่ต้องการจะหวยกลับมาที่ชลประทานซีเมนต์อีกแล้ว
แต่ผมขอร้องเขาเอง ซึ่งเขาก็ยอมทำ แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะอยู่ทำงานให้บริษัทไม่เกินหนึ่งปีระหว่างนั้น
เขาก็ยื่นใบลาออกหลายหนแต่ผมขอให้เปลี่ยนใจจนกระทั่งครั้งสุดท้ายนี้"
ถาวรสวัสดิ์ น้องเขยผู้ที่ก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ตั้งแต่วันที่
1 กรกฎาคมนี้กล่าว
เป็นเวลาสิบเอ็ดปีที่วราวุธช่วยพ่อตาแม่ยายคือ วัลลภและคุณหญิงลลิลทิพย์ซึ่งเขาก็ได้รับความแปลกใจเมื่อแม่ยายยินดียกตำแหน่งประธานบริษัทให้ด้วย
วราวุธตระหนักแก่ใจมาตลอดว่า ชลประธานซีเมนต์ล้าหลังคู่แข่งมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบบริหาร
บุคลากร เครื่องจักรอุปกรณ์ โดยเฉพาะการที่ยังคงใช้การผลิตที่เรียกว่า "แบบเปียก"
ในระบบเก่าเสียเปรียบด้านต้นทุนต้องใช้เชื้อเพลิงแพงกว่า ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพแล้วก่อให้เกิดผลเสียหายเกินคาด
ดังเช่นกรณีหม้อบดวัตถุดิบของโรงงานตาคลีและชะอำเกิดเสียขึ้นมา ขณะที่ความต้องการปูนมีสูงสุด
ทำให้สูญเสียลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดไป
ผลดำเนินงานของบริษัทชลประทานซีเมนต์เมื่อปีที่แล้วมีกำไรเพียง 110 ล้านบาท
ลดลงประมาณ 22% เมื่อเทียบกับปี 2535 ทำให้ปีนี้บริษัทจ่ายปันผลได้ 15 บาทต่อหุ้น
โดยแบ่งเป็น 60% ให้แก่ผู้ถือหุ้นและอีก 40% ไว้ขยายกำลังการผลิตที่โรงงานตาคลีด้วย
วันที่วราวุธรอคอยว่าฝันจะเป็นจริงนั้นคงจะอีกนานฉะนั้นแปดเดือนที่วราวุธทำให้แก่น้องเขยได้
นั่นคือ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและวางแผนระยะยาวให้ โดยเฉพาะจุดอ่อนด้านการผลิตที่จะเร่งขยายให้ทันตลาด
โดยปรับปรุงเครื่องจักรทั้งสองโรงงานคือที่ชะอำเพิ่มจากวันละ 2,200 เป็น
2,700 ตัน ส่วนที่ตาคลีเพิ่มจากวันละ 1,300 ตันเป็น 1,700 ตัน งานนี้ต้องใช้เงินลงทุน
850 ล้านบาท
"การจะลงทุนสร้างโรงปูนแห่งใหม่ที่มีขนาดกำลังการผลิตอีก 2-3 ล้านตัน
ต้องใช้เงินจำนวนสูงมากและต้องใช้เวลา บริษัทยังไม่มีนโยบายที่จะร่วมทุนกับต่างชาติในการขยายกำลังการผลิต
แต่จะขยายกำลังผลิตโดยปรับปรุงเครื่องจักรเท่านั้น เพื่อรักษาส่วนแบ่ง 5%
ไว้" กรรมการผู้จัดการชลประทานซีเมนต์กล่าว
ชลประทานซีเมนต์จึงยังคงภาพพจน์ยักษ์แคระ ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างปูนซิเมนต์ไทยรุกก้าวขยายกำลังผลิตเพิ่มจากโครงการทุ่งสง
5 และโรงงานปูนแห่งใหม่ที่ลำปาง ที่จะมีกำลังผลิตถึง 2.1 ล้านตัน ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า
6,000 ล้านบาท ทำให้ในปี 2539 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเป็นบริษัทเดียวที่ผลิตปูนใหญ่ที่สุดในโลกคือมีกำลังการผลิต
20 ล้านตันจากปัจจุบัน 16.5 ล้านตัน
ความใหญ่ของปูนซิเมนต์ไทย ได้รุกฆาตเข้ามาในตลาดภาคเหนือตอนบนซึ่งครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
ปูนตรางูเห่าเคยครองส่วนแบ่งตลาดสูงเนื่องจากความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าคู่แข่งเพราะทำเลที่ตั้งโรงปูนที่ตาคลี
จ. นครสวรรค์
แต่วันนี้สถานการณ์บีบบังคับให้กรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างวราวุธต้องคิดหนัก
ยิ่งปูนใหญ่เข้าไปถือหุ้น 10% ในปูนเอเชียในฐานะพันธมิตรธุรกิจ โดยทวี บุตรสุนทร
รองผู้จัดการใหญ่ที่ดูแลกลุ่มซีเมนต์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการใหม่ของบริษัทปูนซิเมนต์เอเชียด้วย
"ความร่วมมือระหว่างเรากับปูนเอเชียมีความช่วยเหลือกันหลายอย่าง ประการแรกเราแลกประทานบัตรเหมืองหินที่ให้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
และเมื่อเดือนที่แล้ว เครื่องย่อยหินเขาพัง เดินโรงงานไม่ได้เราก็เดินเครื่องย่อยหินป้อนเขา
24 ชม. ประการที่สองคือความร่วมมือทางการตลาด ยกตัวอย่างในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าผมมีโรงงานที่ลำปาง
ซึ่งจะป้อนตลาดภาคเหนือตอนบนที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านตันเศษ ๆ เราจะมีการแลกปูนกัน
(PRODUCT SWAPING) ทางปูนเอเชียก็ไม่ต้องขนปูนที่เหลือจากลำปางมาที่สระบุรี"
ความร่วมมือทางการตลาดที่ทวีอธิบายนี้ได้นำไปสู่การกุมสภาพผู้นำในตลาดภาคเหนือ
เป็นปรากฎการณ์ทางธุรกิจ ที่ทำให้วราวุธต้องยอมจำนนต่อแรงบีบของยักษ์ใหญ่ที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดภาคเหนือนี้ไปครอง
ภาวะเช่นนี้ผู้บริหารชลประทานซีเมนต์จะต้องเหนื่อยมาก ๆ
สำหรับวราวุธไม่คิดจะอยู่ที่นี่อีกต่อไป บางทีวัยและประสบการณ์ชีวิตของเขาได้กำหนดทางเลือกของตนเองไว้แล้วในใจ
วราวุธบอกกับน้องเขยเขาว่า อยากกลับไปทำกิจการโรงเรียนนานาชาติชื่อ "เอส
พี เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล" อยู่ที่ซอยทองหล่อ สุขุมวิท
น้องเขยผู้มีบทบาทสำคัญอย่างถาวรสวัสดิ์ จึงต้องดูแลกิจการนี้ตามลำพัง
และเป็นเรื่องที่น่าจับตาการปรับตัวของชลประทานซีเมนต์ภายใต้การบริหารของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่ชื่อ
"ถาวรสวัสดิ์" ว่าจะมีศักยภาพที่จะพลิกฟื้นสถานภาพปูนจิ๋วอย่างชลประทานซีเมนต์ให้สามารถแข่งขันได้หรือไม่
บางทีถาวรสวัสดิ์อาจจะต้องทุบทิ้งของเก่าแล้วสร้างใหม่ เฉกเช่นเดียวกับการทุบอาคารสำนักงานใหญ่เดิมที่อยู่บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่
แล้วสร้างใหม่เป็นอาคารสำนักงานใหญ่อันทันสมัยบนพื้นที่ 5 ไร่นั้นก็ได้ !!