สิ่งเชิดหน้าชูตาของประเทศชาตินั้น นอกเหนือจากความเป็นมาอันรุ่งเรืองแล้วเอกลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมที่ไม่เป็นรองใคร
ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสังคมที่เจริญเพียบพร้อมทางด้านวัตถุ และหวังจะใช้ความเจริญทางด้านนามธรรมมาดับความร้อนทางด้านวัตถุลงบ้าง
โดยเฉพาะเมื่อโลกปัจจุบันเป็นสังคมโลกานุวัตร (GLOBALIZATION SOCIETY) ความเจริญทางด้านนามธรรมของแต่ละประเทศจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมาตรฐานของสังคมโลกไปด้วย
วงดุริยางค์สากล หรือที่เรียกกันว่าวง SYMPHONY ORCHRESTRA เป็นวัฒนธรรมทางด้านดนตรีอย่างหนึ่ง
ที่เกือบทุกประเทศจะมีไว้เชิดหน้าชูตาตัวเอง
BANGKOK SYMPHONY ORCHRESTRA (BSO) หรือในชื่อภาษาไทยว่า วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
คือวงดนตรีสากลที่เกิดจากความตั้งใจจริงของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวเรียกว่า
"ชมรมวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ" เริ่มก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างนับตั้งแต่วันที่
8 พฤศจิกายน 2525 โดยมีโต้โผใหญ่ที่คอยสนับสนุนวงดนตรีนี้ตลอดมาคือ อุเทน
เตชะไพบูลย์ ในฐานะประธานกรรมการ นอกจากนั้นแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนให้เข้าอยู่ในอุปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สยามมกุฎราชกุมาร อีกด้วยโดยได้จดทะเบียนยกฐานะขึ้นเป็น "มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ
ในพระราชูปถัมภ์ในเวลาต่อมา
จนถึงวันนี้ บีเอสโอได้ก้าวมาแล้ว 12 ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคน ก็ถือว่ามีวุฒิภาวะที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง
ๆ ได้พอสมควรแล้ว แต่ถ้าถามถึงความสำเร็จ ก็คงได้คำตอบว่ายังไม่ค่อยประทับใจเท่าที่ควร
เนื่องด้วยงบประมาณที่จะใช้เพื่อผลักดันวงดนตรีให้สมบูรณ์แบบในแต่ละปีนั้นยังมีเพียง
15 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ถ้าเปรียบเทียบกับวงดนตรีออเครสตร้าในภูมิภาคนี้เช่นฮ่องกงที่ใช้งบประมาณแต่ละปีสูงถึง
200 ล้านบาทต่อปี จนกระทั่งสามารถจ้างนักดนตรีที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาร่วมวงได้
ในยุคแรกของบีเอสโอซึ่งเป็นวงดุริยางค์สากลแบบไทย ๆ ซึ่งจะต้องเตาะแตะไปทีละขั้น
ดังนั้นจึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องได้รับน้ำหล่อเลี้ยงจากผู้บุกเบิก และผู้มีจิตรศรัทธาที่มีความรักในเพลงแนวนี้เป็นชีวิตจิตใจ
ดังนั้นเมื่อแรกเริ่มที่ทดลองเล่นต่อสาธารณะชน ณ หอประชุมของสถาบันสอนภาษาเอยูเอนั้น
โดยมีกำหนดจะเล่นไม่เกินปีละ 4 ครั้งนั้น จำเป็นต้องเก็บค่าเข้าชมในอัตราที่ค่อนข้างต่ำคือ
300-500 บาท เพื่อดึงดูดใจผู้ฟังระดับกลางและให้เข้ามาฟังกันมากยิ่งขึ้น
แต่ก็มีผู้เข้าชมในช่วงแรกประมาณ 300 คนเท่านั้นแม้ว่าจะใช้งบประมาณในการจัดแต่ละครั้งประมาณ
2 แสนบาท แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้การขาดทุนในปีแรก ๆ น้อยกว่าปีละ 2-3 ล้านไปได้
จึงทำให้ช่วงแรก ๆ จะต้องได้รับการอนุเคราะห์จากผู้ร่วมก่อตั้ง หรือสมาชิกแวดล้อม
เพื่อให้ภาระสำคัญขอมูลนิธิที่หวังจะผลักดันให้เกินวงออเครสตร้าระดับมืออาชีพ
ที่พร้อมจะผสมผสานความเป็นธุรกิจหรือการค้ากับงานศิลป์ให้ลงตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้
วิทยา ตุมรสุนทร ผู้จัดการมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ อรรถาธิบายถึงก้าวย่างของวงดนตรีบีเอสโอให้ไปถึงเส้นชัยของการผสมผสานความคิดด้านพาณิชย์และศิลปะว่า
เนื่องด้วยวัตถุประสงค์ของวงดนตรีนี้ที่มุ่งหวังจะส่งเสริมและขยายแนวร่วมของของผู้ฟังเพลงคลาสสิคออกไปให้มากที่สุด
ทั้งในรูปแบบจองการจัดคอนเสิร์ทระดับมืออาชีพ ซึ่งถือเป็นงานหลักของมูลนิธิหรือการเผยแพร่ความรู้ด้านงานเพลงคลาสสิครูปแบบต่าง
ๆ รวมถึงการออกอัลบั้มเพลงคลาสสิคในนามของบีเอสโอเอง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักอีกประการหนึ่งในเป้าหมายทั้งหมดของบีเอสโอซึ่งจะต้องทำให้ได้
งานหลักด้านจัดคอนเสิร์ทซึ่งจะต้องผลักดันให้ไปสู่ระดับมืออาชีพให้ได้นั้น
บีเอสโอตระหนักเป็นอย่างดีว่า หากจะสร้างวงออเครสตร้าให้ทัดเทียมกับต่างประเทศแล้ว
การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องเป็นธุรกิจให้มากขึ้น แต่ด้วยองค์กรเช่นบีเอสโอซึ่งเป็นมูลนิธิที่ไม่สามารถมุ่งหวังผลกำไรได้
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประยุกต์ให้เป็นมูลนิธิดนตรีมืออาชีพแบบไทย ๆ
โดยเริ่มจากการค่อย ๆ ปรับรูปแบบวงคอนเสิร์ท ที่มีวาทยากร (CONDUCTOR)
เป็นคนไทย คือ นาวาเอกวีระพันธ์ วอกลาง นับแต่ยุคบุกเบิกมาเป็นวาทยากรจากต่างชาติคือ
วลาดิเมียร์ คิน และมาถึงทิม ทัชเชล วาทยากรคนปัจจุบันเพื่อให้การกำกับดนตรีในวงเป็นระดับสากลให้ดียิ่งขึ้น
ถัดจากนั้นก็มาถึงการปรับวิธีการเล่นดนตรีในรูปแบบสมัครเล่น ให้มาเป็นรูปแบบอาชีพมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่นักดนตรีจำนวนทั้งหมดกว่า 60 คนที่เคยทำงานแบบเป็นช่วงเวลาในอดีต
ก็จำเป็นต้องปรับให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น ด้วยการให้เป็นเสมือนพนักงานประจำวงดนตรีที่จะต้องได้รับเงินเดือนเพื่อให้เกิดความจูงใจในการทำงานให้กับวงดนตรี
"เราเริ่มจากการให้เงินเดือนกับนักดนตรีจำนวน 15 คนก่อน และมีการเพิ่มเป็น
24 คนในช่วงต่อมา ทุกคนจะมีสถานภาพที่ทำงานกับเราเป็นช่วงเวลา แต่พวกที่ได้รับเงินเดือน
จะมีความผูกพันกับเรามากกว่า ที่จะต้องมาทำงานอย่างสม่ำเสมอทุกวัน มิฉะนั้นเขาจะทำผิดกฎซึ่งตั้งไว้ทำให้อย่างน้อยเราได้นักดนตรีประจำที่พร้อมจะอยู่กับเราได้ตลอดส่วนหนึ่ง
ซึ่งเรามีแผนไว้แล้วว่า ในช่วงต่อไปเราจะต้องเพิ่มนักดนตรีประจำเหล่านี้ให้ได้เป็น
40-45 คนเป็นอย่างน้อย" วิทยากล่าว
อย่างไรก็ตาม วิทยาก็เข้าใจเป็นอย่างดีว่า การที่จะทำให้วงดุริยางค์สากลระดับชาติวงนี้เข้าสู่มาตรฐานได้นั้น
ไม่ใช่เพียงแต่ทุ่มเทเงินทอง เพื่อให้นักดนตรีมีความมั่นคงในหน้าที่การงานเท่านั้นแต่จะต้องถึงพร้อมด้วยการส่งเสริมการขายรูปแบบต่าง
ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของวงดนตรีที่จะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะชนในรูปแบบของอัลบั้ม
หรือคอมแพคท์ดิสค์นั้น เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ หากจะทำวงดนตรีให้ไปสู่ระดับมาตรฐานเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง
ความตะหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดมา แต่เนื่องด้วยต้นทุนในการผลิตผลงานออกมาในรูปของอัลบั้มหรือคอมแพคท์ดิสค์นี้สูงมาก
โดยหากเป็นการผลิตอัลบั้มของเพลงป๊อปโดยปกติต้นทุนในการผลิตจะอยู่ประมาณ
5 แสนบาท แต่ถ้าเป็นอัลบั้มเพลงคลาสสิคแล้ว ต้นทุนจะสูงถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นต้นทุนขั้นต่ำเท่านั้น
หากจะต้องผลิตออกสู่สาธารณะให้กว้างขวางขึ้นแล้ว ต้นทุนอาจจะสูงขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว
ซึ่งโดยกำลังเงินของมูลนิธิในปัจจุบันย่อมจะทำไม่ได้อย่างแน่นอน
"เรากำลังรอดูอยู่ว่า จะมีผู้มีกำลังทรัพย์ที่สนใจจะผลักดันการออกอัลบั้มของวงออเครสตร้าระดับชาตินี้มากน้อยเพียงใด
ซึ่งหากมีกำลังเงินมาสนับสนุนแล้ว เราก็พร้อมจะเริ่มงานได้ทันที ในส่วนของเราก็กำลังทาบทามผู้มีความพร้อมทางด้านนี้มาช่วยเราอยู่เช่นกัน"
ผู้จัดการวงบีเอสโอกล่าว
ในส่วนของรูปแบบเพลงคลาสสิคที่บีเอสโอเตรียมพร้อมไว้จะผลิตเป็นอัลบั้มนั้น
จะเริ่มจากการนำเอาเพลงไทยมาทำในรูปแบบของคลาสสิคก่อนแล้วจึงจะก้าวไปสู่การนำเพลงป๊อประดับโลกมาทำในอันดับต่อไป
ซึ่งเป็นวิธีการผลิตอัลบั้มของวงดนตรีออเครสตร้าซื่งเพิ่งจะก้าวขึ้นมาในภูมิภาคแถบนี้ทำกันเป็นส่วนใหญ่
ฟิลฮาร์โมนิค ออเครสตร้า หรือออเครสตร้าของสิงคโปร์ก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกัน
ซึ่งหากมีผู้ร่วมอุดมการณ์ที่สนใจจะเข้ามาร่วมผลักดันด้วยแล้ว ทางบีเอสโอก็มีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่าไม่ใช่แต่เพียงเพลงไทย
หรือป๊อปเท่านั้นที่บีเอสโอจะสามารถผลิตอัลบั้มออกมาได้เท่านั้น ผลงานระดับโลกของคีตกวีเอกก็ไม่น่าจะยากเกินความสามารถของนักดนตรีไทยที่จะสร้างสรรค์ไม่น้อยหน้ากว่าชาติอื่นอย่างแน่นอน
นอกจากการนำเสนอผลงานในรูปของอัลบั้มที่กำลังเตรียมการไว้นี้ หรือคอนเสิร์ทระดับมาตรฐานที่ต้องเป็นพิธีรีตองพอสมควรแล้ว
ทางบีเอสโอก็เตรียมการที่จะไปแสดงคอนเสิร์ทในต่างจังหวัด เพื่อเผยแพร่ผลงานให้กว้างขวางและให้ผู้ฟังมีโอกาสได้เลือกฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
"CONCERT IN THE PARK" หรือการแสดงคอนเสิร์ทในสวนก็เป็นความพยายามอีกประการหนึ่งของบีเอสโอ
ที่หวังจะเข้าถึงผู้ฟังระดับกลางระดับล่างให้มากที่สุด โดยได้ริเริ่มจัดแสดงดนตรีในสวนช่วงวันสุดสัปดาห์
ณ สวนจตุจักรและสวนลุมพินี โดยจะจัดแสดงในช่วงฤดูร้อน และฤดูหนาว ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร
ซึ่งทางบีเอสโอก็เตรียมการจะจัดแสดงให้มากรอบขึ้นอีกในปีต่อไป
12 ปีของบีเอสโอ ก้าวไปอย่างช้า ๆ ด้วยข้อจำกัดทางด้านเงินทุน และการดำเนินงานในรูปแบบของมูลนิธิที่ทำให้ไม่อาจแสวงหารายได้ทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่
มีเพียงความตั้งใจที่จะเสนอรูปแบบวัฒนธรรมดนตรีชั้นสูงของโลกให้อยู่คู่กับสังคมไทยที่มีแต่ความเฟื่องฟูทางด้านวัตถุ
เป็นแรงผลักดันให้ก้าวต่อไป