"สื่อสิ่งพิมพ์ในเวียดนาม ต้องมองการณ์ไกลและอดทน"


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงรัฐบาลจะยังคุมเข้มแต่กระแสทุนนิยมผนวกกับความสนใจของคนที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในเวียดนามเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ และได้ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์ภาษาอังกฤษที่มักจะหยุดสายตานักท่องเที่ยว นักธุรกิจและคนเวียดนามได้ไม่น้อย แต่คนที่มาก่อนในวงการยังมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อผลระยะยาวมากกว่า

ในยุคต้น ๆ นักธุรกิจชาวออสเตรเลีย เป็นผู้เข้ามาก่อนในกิจการนี้เมื่อประมาณ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยได้ตีพิมพ์ VIETNAM INVESTMENT REVIEW ฉบับภาษาอังกฤษรายสัปดาห์ควบคู่กับฉบับภาษาเวียดนามซึ่งรายได้ 90% มาจากฉบับภาษาอังกฤษ

"ในตลาดที่มีประชากร 72 ล้านคน มันง่ายมากที่จะสรุปว่า คุณขอให้ได้สักไม่กี่เปอร์เซนต์แต่ให้เป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญก็พอแล้วสำหรับตลาดสิ่งพิมพ์" รอส ดังคลี บรรณาธิการ REVIEW ที่ประจำเวียดนามกล่าว

จริงอยู่ที่โดยทั่วไปแล้วในระยะยาว รายได้หลักจะมาจากสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาษาเวียดนามแต่ในขณะนี้ดูเหมือนชาวต่างชาติประมาณ 10,000 คน ที่อยู่ในเวียดนามจะเป็นกลุ่มที่ใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับประชากรเวียดนามที่มากมายแต่กำลังซื้อยังน้อยนิด ที่มาของรายได้ที่สำคัญอีกทางหนึ่งคือ การส่งหนังสือพิมพ์ออกไปขายยังต่างประเทศ

อัตราค่าโฆษณาของ REVIEW สูงกว่าฉบับภาษาเวียดนามที่ออกคู่กัน 2 เท่า ถ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่จะมีโฆษณาทั้งสองภาษา โดยภาษาเวียดนามจะเป็นส่วนที่แถม ขณะที่สื่อรายอื่นที่มีสองภาษาเหมือนกันบอกว่า ค่าโฆษณาในฉบับภาษาอังกฤษนั้นสูงกว่าฉบับภาษาเวียดนามถึง 10 เท่า

เรื่องรายได้ของหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาเวียดนามนั้นบางส่วนก็มาจากปัญหาข้อตกลงตั้งแต่แรกอย่างเช่น กรณี REVIEW ส่วนหนึ่งของข้อตกลงกับคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือและการลงทุนแห่งเวียดนาม (SCCI) ผู้ลงทุนชาวออสเตรเลียจะผลิตหนังสือพิมพ์ภาษาท้องถิ่นด้วย ให้ชื่อว่า VIETNAM DAU TU NOUC NGOI

"ตอนแรก เราไม่ต้องการจะเข้าไปรับรู้เกี่ยวกับฉบับภาษาเวียดนาม ซึ่งนั่นเป็นท่าทีที่ผิด" ดังคลีกล่าว "ช่วงนั้นรู้สึกว่ามันเป็นหนังสือที่ไม่ดีพอจะอ่าน ไม่น่าเชื่อถือ การเขียนก็ยังไม่ได้เรื่อง แต่เรากำลังวางแผนจะปรับปรุงรูปร่างหน้าตาอีกครั้งในปีนี้ เพื่อจะดึงกลุ่มผู้อ่านที่มีศักยภาพ"

นั่นหมายถึงว่าทำรายปักษ์ให้เป็นรายสัปดาห์และมีเนื้อหาสอดคล้องกับคนอ่านเวียดนามมากกว่านี้ จากเดิมเนื้อหา 1 ใน 3 จัดทำโดย SCCI ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนต่างประเทศในเวียดนาม ที่เป็นที่สนใจของคนอ่านต่างประเทศมากกว่าที่จะดึงดูดผู้อ่านชาวเวียดนาม

จนถึงปัจจุบัน ฉบับภาษาเวียดนามตีพิมพ์แล้ว 7,500 ฉบับ (แต่ประมาณว่ามีผู้อ่านถึง 54,500 คน เนื่องจากอัตราการเวียนกันอ่านสูงมาก) กระนั้นก็ตามดังคลีตั้งเป้าดันยอดพิมพ์ให้สูงถึง 100,000 เล่าภายใน 5 ปี

ริงเกียร์ เอจี (RINGIER AG) จากสวิสเซอร์แลนด์ซึ่งเจ็บจำบทเรียนจากฮ่องกงช่วงปี 2532-2534 ทีทนิตยสารรายเดือน BILIION ของกลุ่มตนต้องขาดทุนจึงค่อนข้างระวังในตลาดเวียดนาม และกลับมีจุดเน้นต่างจากคนอื่นคือ จับกลุ่มผู้อ่านภาษาเวียดนามตั้งแต่แรก

ริงเกียร์เริ่มต้นด้วยหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ THOI BAO KINH TE VIETNAM ซึ่งตีพิมพ์ให้กับสมาคมนักเศรษฐศาสตร์เวียดนาม กลุ่มนี้ใช้สูตรเดียวกับที่ทำสำเร็จมาแล้วในยุโรปตะวันออกซึ่งเฉพาะที่สาธารณรัฐเชคที่เดียว มีหนังสือพิมพ์และนิตยสารถึง 25 เล่ม

ที่เวียดนาม ริงเกียร์พลิกโฉมหนังสือจากยอดจำหน่าย 3,000 เล่มให้กลายเป็นหนังสือรายสัปดาห์ที่มีผู้อ่านมากที่สุดภายในช่วงปีกว่าเท่านั้น ยอดจำหน่ายสูงถึง 35,000 เล่มและภายใน 2 ปีจะเพิ่มเป็น 2 เท่า

"เราต้องการคุยกับผู้ประกอบการธรรมดา ให้ผู้ประกอบการธรรมดา ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และใช้ได้จริงในทางธุรกิจกับเขา" อแลง แจนเน็ต ผู้แทนริงเกียร์ประจำเวียดนามกล่าวถึงแนวหนังสือ

หลังจากมีประสบการณ์มาระยะหนึ่ง ริงเกียร์ได้ออกหนังสือรายเดือนภาษาอังกฤษ VIETNAM ECONOMIC TIMES หรือ VET ซึ่งเล่นข่าวหนัก ๆ ได้มากขึ้น

เจเรมี่ แกรนท์ อดีตนักข่าวรอยเตอร์ประจำฮ่องกงซึ่งผันตัวเองมาเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ VET กล่าวว่า REVIEW ทำเป็นแนวได้ค่อนข้างดีแล้ว "แต่ VET จะมีบทความแนวลึก และประเด็นข่าวที่จะเกี่ยวกับนักลงทุนต่างชาติโดยตรง อย่างเช่น ความคืบหน้าของภาคธุรกิจสำคัญ ๆ โครงการสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน น้ำมันและแก๊ส และเกษตรกรรม ตลอดจนรายงานการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบซึ่งกำลังวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว"

ตามแผนการแกรนท์กล่าวว่าจะต้องหาสมาชิกให้ได้ 12,000 ราย จากนอกประเทศเวียดนาม (ยอดพิมพ์จำหน่ายทั้งสิ้น 20,000 เล่ม) การจัดจำหน่ายในเอเชียและสหรัฐอเมริกานั้น จะอาศัยเครือข่าย GANNETT ซึ่งเป็นกิจการสิ่งตีพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ "ยูเอสเอทูเดย์" ด้วย

แจนเน็ตหวังว่าจากกลุ่มประเภทคนอ่านในแถบนี้จะช่วยโฆษณาในต่างประเทศหันมาสนใจลงโฆษณาใน VET ซึ่งตกหน้าละ 5,000 ดอลล่าร์สหรัฐและแพงกว่าอัตราโฆษณาในฉบับภาษาเวียดนามถึง 10 เท่า แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้ซื้อสื่อเจ้าประจำแต่อย่างใด

เขากล่าวว่าบริษัทต่าง ๆ ไม่ได้คิดว่าเขาจะเอาจริงเอาจังกับตลาดในเวียดนามมากเท่าใดนัก แต่ความจริงแล้ว VET มีเป้าหมายในทางธุรกิจชัดเจนสำหรับที่นี่

ในตลาดที่ยังไม่ได้มีแบบแผนอะไรอย่างเวียดนาม การจะให้ลูกค้าตกลงใจและจ่ายเงินเพื่อโฆษณานั้น ต้องทำมากกว่าแค่โทรศัพท์ไปยังบริษัททั้งหลายที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งนั่นทำให้การคำนวณรายได้จากการโฆษณาที่แน่นอนนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่แจนเน็ตคาดว่าจุดคุ้มทุน (การลงทุนทั้งหมดของริงเกียร์ประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ) กลับจะทำได้เร็วกว่าในตลาดที่พัฒนาแล้วเสียอีก โดยอาจจะเป็นปีต่อไปก็ได้ ทางด้านดังคลีก็คาดว่า VIR จะคุ้มทุนในปีนี้เช่นกัน หลังจากที่ลงทุนไปหลายล้านดอลลาร์

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มริงเกียร์ยังได้ลงนามในความร่วมมือกับทางเวียดนามเพื่อผลิตหนังสือแฟชั่นเล่มแรกขึ้นชื่อว่า THOI TRANGTRE (หรือ แฟชั่นใหม่)

ในช่วงก่อนหน้านี้ไม่ถึงเดือน VIR ก็เพิ่งจะมีผู้ถือหุ้นรายสำคัญคือ ACP PUBLISHING ของเคอร์รี่ แพคเกอร์จากออสเตรเลียซึ่งซื้อกิจการบริษัทที่เป็นผู้จัดพิมพ์ VIR กลุ่มเอซีพีนี้สนใจกิจการสิ่งพิมพ์ในเอเชีย พร้อม ๆ กับเล็งกิจการโทรทัศน์ในเวียดนามด้วย ขณะที่รูเพิร์ต เมอร์ดอค นักธุรกิจสัญชาติเดียวกันพยายามแทรกตัวเข้าไปทั้ง VIR และกิจการโทรทัศน์แล้วด้วยเช่นกันแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ที่มาแรงก็คือกลุ่มเอ็มกรุ๊ปของสนธิ ลิ้มทองกุลที่ลงทุนขั้นแรก 5 แสนเหรียญสหรัฐในด้านการจัดตั้งระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สำนักงานตลอดจนการสร้าง และฝึกอบรมพนักงานที่จะเพิ่มเป็น 30 คนสำหรับหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับเดียวในประเทศเวียดนาม VIETNAM NEWS ในสังกัดของสำนักงานข่าวสารเวียดนาม (VNA) เวียดนามนิวส์เป็นหนังสือพิมพ์ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวต่างประเทศนักยกเว้นตามจุดท่องเที่ยว และโรงแรมในฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ หลังจากเอ็มกรุ๊ปได้เข้าไปรับผิดชอบโครงการดังกล่าวแล้วหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะเพิ่มจาก 4 หน้าเป็น 32 หน้า และเปลี่ยนขนาดจากแทบลอยด์ในปัจจุบันเป็นบรอดชีท ขณะเดียวกันจะเพิ่มยอดพิมพ์จากไม่ถึง 10,000 ฉบับเป็น 50,000 ฉบับให้ได้ในช่วงระยะเวลาแห่งความร่วมมือซึ่งมีอายุ 10 ปี

เครือข่ายของ "ผู้จัดการ" ทั้งในฮ่องกงและอเมริกาจะเสริมด้านการตลาดให้กับเวียดนามนิวส์ได้อย่างมาก

โด๋ เฝื่อง ผู้อำนวยการสำนักข่าวสารเวียดนามกล่าวว่าหลังจากพิจารณาข้อเสนอของเอ็มกรุ๊ปเป็นเวลาเกือบปี จึงได้ตัดสินใจร่วมมือทางธุรกิจเป็นครั้งแรกกับกลุ่มนี้ โดยหวังให้เข้ามาพัฒนาหนังสือพิมพ์ให้เป็นที่ยอมรับของสากล

ทุกวันนี้เวียดนามมีสิ่งพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์รายเดือนรวมกันถึง 300 ยี่ห้อ สำนักข่าวสารเวียดนามเองก็ออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาอังกฤษของตน และมีแผนจะพิมพ์ฉบับภาษาฝรั่งเศส รายวันในปลายปีนี้อีกด้วย โดยจะให้ชื่อว่า COURIER DU VIETNAM

กฎเกณฑ์ที่ทางการเวียดนามได้ตั้งไว้ในเรื่องการร่วมทุนด้านสิ่งพิมพ์คือ อนุญาตให้แบ่งผลกำไรได้ระหว่างหุ้นส่วนท้องถิ่นกับผู้ร่วมทุน แต่หุ้นส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบในขั้นตอนสุดท้าย รวมทั้งบทบรรณาธิการ ฝ่ายต่างชาติจะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น

เวทีแห่งนี้จึงยังคงต้องใช้เวลารอดูการตัดสินใจในขั้นต่อ ๆ ไปว่าทางการเวียดนามจะยอมให้ต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในสื่อของตนในอนาคตอีกมากน้อยอย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.