หลังจากเติบโตแบบก้าวกระโดดข้ามไลน์ธุรกิจหลักที่ตนเองถนัดคือ อสังหาริมทรัพย์
มายังโทรคมนาคม และเคเบิ้ลทีวีได้ไม่นาน กลุ่มธนายงก็ได้บทเรียนจากการขยายตัวแบบไม่พรักพร้อมด้านประสบการณ์
และกำลังคนจนต้องถอนตัวจากธุรกิจดังกล่าว พร้อม ๆ กับคนเก่าคนแก่ มือดีทั้งหลาย
ที่ต่างทยอยอำลาประมุขขององค์กรแห่งนี้ คีรี กาญจนพาสน์ ไม่ว่าจะเป็น สุธรรม
ศิริทิพย์สาคร แอนดี้ ฮวง หรือแม้แต่ อรรคพล สรสุชาติ ที่เหลือเพียงตำแหน่งที่ปรึกษา
สำหรับผู้อาวุโสชาวไต้หวันอย่าง แอนดี้ ฮวง เขาผ่านเวทีธุรกิจในเมืองไทยมากว่า
20 ปี และคลุกคลีกับกลุ่มธนายงมาประมาณ 5 ปีกว่า จากผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาดของกลุ่มธนายงที่ดูแลโครงการธนาซิตี้
เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เดินเรื่องงานสัมปทานดาวเทียมจากกระทรวงคมนาคม
ซึ่งในช่วงนั้นสารพัดกลยุทธ์ได้ถูกนำมาใช้ในการช่วงชิงสัมปทาน ระหว่างกลุ่มธนายง
ล็อกซเล่ย์ และชินวัตรซึ่งที่สุดชินวัตรก็ได้ไป
เสร็จจากศึกดาวเทียมเมื่อแอนดี้กลับมาเกี่ยวข้องกับธนาซิตี้อีก ปรากฏว่ามีคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลนโยบายการตลาดแล้วคือ
อรรคพล สรสุชาติ นักการตลาดจาก ลีเวอร์ จึงดูเหมือนว่าบทบาทของเขาเงียบเชียบลงไป
แต่จริง ๆ แล้วก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลุ่มธนายงไม่วายวางมือจากโทรคมนาคม
แต่ได้ซุ่มเงียบคว้าสัมปทานวีแซท จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ ขนาดคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมโดยตรงอย่างสามารถและคอมพิวเนท
ยังหืดขึ้นคอ
แม้ว่าวีแซทจะมีจุดขายในเรื่องของการส่งสัญญาณภาพนอกจากเสียงและข้อมูลที่มีเสนอขายบริการกันอยู่แล้ว
แต่ปัญหาของธุรกิจนี้ที่สำคัญคือ ความเอาจริงของเจ้าของธุรกิจนโยบายที่แจ่มชัด
และฝีมือของผู้บริหาร
ไปได้สักพักหนึ่งธนายงก็ได้ล็อกซเล่ย์เข้ามาถือหุ้นแต่ล็อกซเล่ย์ ก็จำกัดบทบาทตัวเองทั้งโดยเต็มใจ
และไม่เต็มใจกลายเป็นผู้สือหุ้นส่วนน้อย เช่นเดียวกับธนายงที่แม้โดยสัญญาจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
แต่ก็กำลังจะลดบทบาทลงไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป เพราะคีรีได้ดึงอิทธิวัฒน์
เพียรเลิศเข้ามาถือหุ้นและบริหารบริษัท ไทยสกายคอมนี้แทนแอนดี้
ผู้บริหารบางคนเหมาะอย่างยิ่งกับงานติดต่อที่ต้องประสานหลายฝ่าย หรือใช้คอนเนกชั่น
บารมี และความเก๋าในเรื่องการดีลกับคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องคว้าโครงการสัมปทานแข่งกับคนอื่น
บางคนถนัดที่จะบริหารกิจการที่มีระบบและความลงตัวดีแล้ว ขณะที่บางคนอาจจะช่ำชองกับการยุบเลิกกิจการหรือรวมกิจการกับคนอื่น
พวกแรก กรณีตัวอย่างที่เห็นชัดและประสบความสำเร็จยิ่งก็เช่น เฉลียว สุวรรณกิติ
ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีโครงการเด่น ๆ 1 โครงการก็เพียงพอแล้ว นั่นคือสัมปทานโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมาย
แอนดี้อาจจะดำเนินบทบาทคล้ายกัน แต่เนื่องจากถึงเขาจะ "เข้าถึง"
คนในวงการต่าง ๆ แต่ก็ยังเป็นคนต่างด้าวกอปรกับธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมยังใหม่สำหรับ
"กาญจนพาสน์" งานที่แอนดี้ทำให้ธนายงจึงดูเหมือนไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จเท่าไรนัก
เมื่อขาดคนสานต่อและแนวทางที่ชัดเจนของเจ้าของผิดกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่แอนดี้เกี่ยวข้องในระยะแรก
"ทุกวันนี้ธนายงให้ความสนใจกับพร็อบเพอร์ตี้และโครงการรถไฟฟ้า ขณะที่กิจการสื่อสารและทีวีนั้นยังใหม่และอาจจะยังเล็กอยู่
นโยบายจึงไม่ต้องการแบ่งบุคลากรออกไป ผมเองหลังจากเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์
และสื่อสารแล้วก็อยากจะทำอะไรที่เกี่ยวกับระดับย่อยลงมาคือเรื่องครอบครัว
การสร้างสิ่งแวดล้อมและความสุขภายในบ้านเพราะเราทำในส่วนที่เกี่ยวข้องมาแล้ว
เราจึงหันมาเน้นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยผมจึงขอเกษียณตัวเองก่อนกำหนดเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา"
แอนดี้กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เขาไม่ต้องการจะเป็นแม้แต่ที่ปรึกษาอย่างคนอื่น สิ่งที่กลายเป็นแหล่งพักพิงของเขา
คือบริษัทสวรรค์ใหม่ จำกัด ซึ่งถือเป็นกิจการส่วนตัวที่เขาและหุ้นส่วนชาวไต้หวัน
ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อนำเข้าสินค้าจากไต้หวันมาขายในเมืองไทย
แอนดี้เล่าว่า ได้รับการทาบทามจากกลุ่มธุรกิจการเงินและอุตสาหกรรม 2-3
แห่งให้เข้าไปเป็นผู้บริหารระดับสูงแต่เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า "อยากจะแก้นิสัยตัวเองเพราะคุมนโยบายกับบริหารงานนั้นไม่เหมือนกัน
เราอาจจะจู้จี้มากเกินไปเมื่อเป็นผู้บริหาร แต่เมื่อคุมนโยบายเราก็ต้องเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้าดำเนินงานบ้าง
ผมพยายามบอกตัวเองอย่างนั้น อีกอย่างจากบทเรียนของผมต่อไปแม้จะเป็นลูกจ้าง
แต่ผมก็คงต้องเข้าไปถือหุ้นบ้าง ไม่ใช่ประเด็นเพื่อความมั่นคงอย่างเดียว
แต่เพื่อได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางบริษัทได้อย่างแท้จริง"
คนที่สอนบทเรียนนี้ให้เขาจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่คีรี !
แอนดี้ได้ เดวิด โจ นักการตลาดจากไต้หวันมาเป็นกรรมการผู้จัดการ "สวรรค์ใหม่"
เขาเข้ามาเมืองไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เดิมจะมาช่วยด้านแผนการตลาดในการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างไอบีซีกับไทยสกาย
แต่เนื่องจากมีความล่าช้า ไม่ราบรื่นเขาจึงกลับไต้หวัน และในที่สุดก็ตกลงใจมาร่วมงานกับแอนดี้
ซึ่งเป็นคนชวนเขาเข้ามาทำงานที่ไทยสกายโดยได้รับข้อเสนอเป็นหุ้นส่วนบริษัทด้วย
โจกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า แผนการตลาดของบริษัทนั้นจะเน้นการขายตรง
เข้าถึงครัวเรือนโดยเริ่มจากชาวต่างชาติในไทย (รวมทั้งชาวไต้หวัน) แต่ก็จะกระจายไปสู่ตลาดคนไทยในที่สุดด้วย
"เราวางแผน 6 ปี ในช่วง 2 ปีแรก คาดว่าจะลงทุน 10-20 ล้านบาท เป็นการนำเข้าสินค้าและดำเนินธุรกิจ
ในช่วงนี้ตั้งเป้ายอดขายประมาณ 500 ล้านบาท 2 ปีต่อมา อาจจะตั้งโรงงานผลิตสินค้าในไทย"
โจพูดถึงแผนการในการดำเนินของสวรรค์ใหม่คร่าว ๆ
ในขั้นนี้สวรรค์ใหม่มีสินค้า 4 ตัวคือ เครื่องผลิตอากาศบริสุทธิ์ด้วยโอโซน
แก๊ซเซฟตี้ล็อค เครื่องกรองน้ำและเครื่องผลิตโอโซนไอออนลบที่ช่วยขจัดสารพิษในพืชผักผลไม้
เป้าหมายของแอนดี้ สำหรับสวรรค์ใหม่ที่ วันนี้วางมือให้คนอื่นบริหารบ้างแล้ว
ออกจะดูใหญ่โตเหมือนกันแต่กิจการที่มีแบ็คอัพเป็นกลุ่มไต้หวันที่คลุกคลีอยู่ในไทยมานาน
น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนสวรรค์ใหม่พอสมควร
"หุ้นส่วนทั้งหมดมี 10 คนคุณเดวิดสัน ไต้ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท
CEI ผลิตพัดลม ตั้งอยู่ที่บางนา-ตราดและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย คุณหลี่
อยู่ในวงการก่อสร้างทั้งที่มาเลย์และไทย คุณเฉินนำเข้าเครื่องนุ่งห่ม อาหาร
เคมีภัณฑ์ โดยวางขายตามห้างสรรพสินค้าในไทย 6 แห่ง คุณหลิน เหวิน หง รองประธานบริษัทค้าแว่นและเพชรพลอย
คุณหลี่จื้อหมิง ทำเครื่องประดับเพชรพลอยและหินมีค่า คุณแนนซี่เป็นตัวแทนให้บริษัทนิคเคน
และมีธุรกิจส่วนตัวนำเข้า-ส่งออกอาหารทะเล นอกนั้นเป็นคนสัญชาติไทยอีก 2-3
คน" โจเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้หุ้น
นี่คือเส้นทางเดินของนักธุรกิจไต้หวันที่ทำมาหากินในเมืองไทย จากมือปืนรับจ้างสู่ความเป็นเถ้าแก่
แอนดี้พูดทิ้งท้ายเหมือนจะตีวัวกระทบคราดใครบางคนว่า "อย่าไปสนใจเรื่อง
'ไฮ โปรไฟล์' มากนัก เราหันมาสร้างกิจการดีกว่า กู๊ดวิลล์ของกิจการนั้นอยู่ที่การบริหารไม่ใช่อยู่ที่ภาพของกิจการที่ปรากฎออกไป"