"ช่างตัดเสื้อประจำกองทัพแคนาดา"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ตอนที่ "ฟีบัส หว่อง" ตั้งบริษัทผลิตเครื่องนุ่งห่มขึ้นในชานเมืองโตรอนโต เขาไคาดคิดมาก่อนว่าลูกค้าที่ดีที่สุดของเขาจะเป็นรัฐบาลแคนาดา

ทุกวันนี้หว่อง-รองประธานและกรรมการบริษัท "อาร์คเทกซ์ สปอร์ตสแวร์องค์" เป็นผู้จัดหาและผลิตเครื่องแต่งกายทุกอย่างให้กับกองทัพแคนาดา ตั้งแต่ชุด "พาร์คา" (PARKA) ซึ่งเป็นเสื้อแจ็กเก็ตกันหนาวและกันน้ำ มีหมวกในตัว แบบชุดที่คนเอสกิโมสวม สำหรับใช้ในเขตอาร์ติคไปจนถึงเสื้อกั๊กของตำรวจม้า แจ็กเก็ตนักบินและชุดเสื้อกางเกงติดกันสำหรับทหาร

"งานที่ได้จากรัฐบาลไม่ได้ทำให้เรารวย แต่ก็ทำให้เราอยู่รอดได้ เหมือนขนมปังกับเนยที่เป็นอาหารประจำไม่ได้เอร็ดอร่อยอะไร แต่ก็ทำให้ท้องอิ่มได้" หว่องกล่าว

สัญญาว่าจ้างให้ผลิตเครื่องแต่งกายสำหรับกำลังพลในกองทัพจากรัฐบาลแคนาดา มาถึงหว่องในจังหวะที่เหมาะสมที่สุดตอนที่เขาร่วมหุ้นกับเพื่อนชื่อ "อาร์ชี่ โซ" กู้เงินจากธนาคาร 312,500 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเอาบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อจะตั้งบริษัทอาร์ตเทกซ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นเวลาที่เศรษฐกิจของแคนาดากำลังตกต่ำในตอนแรกๆ หว่องผลิตชุดสกีแบบติดกันเป็นชิ้นเดียว และชุดสกีแบบอื่นๆ เพื่อเจาะตลาดระดับสูงที่นิยมสินค้าติดยี่ห้อดังๆ นอกจากนั้นอาร์ตเทกซ์ยังขึ้นชื่อในเรื่องการรับออร์เดอร์ที่เร่งๆ และจับกลุ่มธุรกิจขายเสื้อผ้าที่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าต่างประเทศได้ เพราะข้อจำกัดเรื่องโควต้านำเข้าที่เข้มงวด

เศรษฐกิจที่ยังถดถอยทำให้หว่องเกิดปัญหา อาร์ตเทกซ์พบว่าไม่อาจจะสู้สินค้านำเข้าราคาถูกกว่าจากเอเชียใต้ซึ่งอาศัยความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ต่ำกว่า สัญญาจากรัฐบาลได้เข้ามาช่วยในขณะที่เขาไม่มีอะไรในมือ ปีที่แล้วรายได้จากการส่งเสื้อผ้าให้กับรัฐบาลคิดเป็น 60% ของยอดขายอาร์ตเทกซ์ 3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เหลือ 30% ส่งออกไปอังกฤษและกรีนแลนด์ ส่วนตลาดในประเทศแคนาดาตกประมาณ 10%

แต่การทำงานกับรัฐไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางมักจะมากตรวจโรงงานดูการผลิตซึ่งหว่องเช่ามาเดือนละ 8,500 เหรียญ โรงงานนี้ตั้งอยู่ที่สการ์โบโร ย่านชานเมืองที่พลุกพล่านทางตะวันออกของโตรอนโต และเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกฮ่องกงอพยพ สเปกเครื่องแต่งกายแต่ละประเภทมีรายละเอียดและข้อกำหนดมากมาย เป็นต้นว่าเสื้อโค้ตสีน้ำเงินของทหารเรือ จะต้องบุด้วยฉนวนกันความเย็น "THINSULATE" ของ "3 เอ็ม" เพื่อให้ร่างกายยังอบอุ่นในอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส พนักงาน 90 คนของอาร์ตเทกซ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชียต้องเล็มขอบฮู้ดด้วยขนของตัววูลเวอรีนให้มีความกว้าง 5 เซนติเมตร และต้องเย็บแถบดิ้นสะท้อนแสงสีเหลืองห่างจากชายเสื้อหรือกางเกง 64 มิลลิเมตร

กำไรที่จะได้จากงานของรัฐบาลก็น้อยกว่าที่จะขายให้รายอื่น เพราะกระบวนการประมูลที่แข่งขันกันมาก และยังเป็นการเพิ่มงานอีกจุกจิก ในชั้นแรกอาร์ตเทกซ์ต้องยื่นหลักฐานการเงินและอื่นๆ ก่อนที่จะได้เข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล เมื่อปี 2535 เพิ่งจะมีการปรับปรุงระบบทำสัญญากับรัฐ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ เข้ามาประมูลได้มากขึ้น ปัจจุบันหว่องต้องจ่ายเงินปีละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจะได้รายการประมูลแต่ละแห่งซึ่งอยู่ในคอมพิวเตอร์

หว่องเกิดที่ฮ่องกง เขาได้ปริญญาด้านการบริหารธุรกิจและจัดการอง๕การจาก "โอเพ่น คอลเลจ" ของมหาวิทยาลัยอีสต์เอเชียที่มาเก๊า เขาผ่านการทำงานกับธนาคารมาแล้วหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นงานด้านการค้าต่างประเทศ หว่องกับโซซึ่งเป็นเพื่อนสนิทสมัยเป็นนักเรียนไฮสกูลที่คิงสคอลเลจที่ฮ่องกงกับหุ้นส่วนอีก 3 คนที่นั่นได้ตั้งบริษัทเทรดดิ้ง ส่งออกเสื้อหนาวไปยังแคนาดา สหรัฐและยุโรป หลังจากครอบครัวและญาติพี่น้องของเขาอพยพมาอยู่แคนาดา หว่องและเวโรนิกา-ภริยา กับลูกอีก 2 คนจึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่โตรอนโตเมื่อปี 2528 หว่องทำงานเป็นนักวิเคราะห์ในแผนกอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคาร "โตรอนโตโดมิเนียน" อยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนจะทำธุรกิจการ์เม้นท์ของตัวเอง

การเป็นผู้ประกอบการแบบแคนาดาก็ทำให้หว่องต้องปรับตัวเหมือนกัน นอกจากเรื่องของเงินเดือนแล้ว บริษัทต้องจ่ายเงินช่วยสวัสดิการสังคมให้ลูกจ้างถึง 6 โครงการตามข้อกำหนดของรัฐและจังหวัด คิดเป็น 25% สำหรับลูกจ้างแต่ละคน โครงการสวัสดิการของรัฐบาลกลางได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันการไม่มีงานทำ ขณะที่กฎหมายท้องถิ่นจะต้องให้นายจ้างจ่ายภาษีสุขภาพ เงินชดเชยสำหรับลูกจ้างที่บาดเจ็บ เงินสำหรับการพักร้อนและในวันหยุดราชการต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างด้วย

หว่องกำลังเจอปัญหาเรื่องแหล่งวัตถุดิบในอเมริกาเหนือ เขากล่าวว่าการหาผู้ผลิตผ้าในแคนาดายากยิ่งกว่าในฮ่องกง ซึ่งมีซัพพลายเออร์อยู่เต็มไปหมด เขายังต้องทำใจกับวิธีการทำธุรกิจแบบตะวันตกที่ไปอย่างช้าๆ

"ที่ฮ่องกงถ้าเราขอให้ซัพพลายเออร์โค้ดราคามาให้ เราก็จะได้ในวันเดียวเลย แต่ที่นี่กว่าจะได้อาจจะเป็น 3 วัน หรือไม่ก็ 3 อาทิตย์ !" หว่องเปรียบเทียบ

แต่หว่องก็ไม่ได้เสียใจอะไรนักที่ได้ทิ้งงานมั่นคงจากแบงก์มาเสี่ยงกับธุรกิจเสื้อผ้า "เดี๋ยวนี้สบายขึ้น เพราะเรารู้ชัดว่าตลาดของเราอยู่ตรงไหน อีกอย่างผมชอบเป็นนายของตัวเอง" หว่องกล่าวพร้อมกับรอยยิ้ม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.