"คนเลี้ยงกุ้งในเอกวาดอร์"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

"อังเดรส์ หวาง หลิน" พายเรือเลาะชายป่าโกงกาง "เอกวาดอเรียน" ที่หนาทึบอย่างเงียบเชียบโดยมีปืนพกเป็นอาวุธ และแสงสว่างจากไฟฉายส่องไปรอบๆ สรรพเสียงยามค่ำหนาหูทั้งนกและสัตว์เลื้อยคลาน แต่หูของหวางหลินสามารถจำแนกเสียงๆ หนึ่งออกจากเสียงเซ็งแซ่ทั้งหมดได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือเสียงฮึ่มๆ ของเครื่องยนต์เรือของพวกหัวขโมยที่ลักลอบเข้ามา ถึงแม้ว่าชนชาติแถบเทือกเขาแอนดิสจะขึ้นชื่อในฐานะเป็นแหล่งโลหะมีค่าที่หายากอย่างทองหรือเงินในยุคอินคา ก่อนที่ลัทธิอาณานิคมจะแผ่เข้ามา แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ล่อใจบรรดาโจรสลัดที่หากินอยู่ตามชายฝั่งแปซิฟิคไม่ใช่ทองคำหรือแท่งเงินแต่เป็น "กุ้ง" ในฟาร์มของหลิน

หลินใช้เวลาหลายๆ คืนในแต่ละสัปดาห์ ออกลัดเลาะไปตามหนองบึงเพื่อระแวดระวังฟาร์มกุ้งขนาด 120 เฮคตาร์ของตนไม่ให้ใครบุกรุกเข้ามาได้ แสงไฟสว่างไม่เพียงแต่ล่อกุ้งให้เข้าแหของเขาแต่ได้เตือนให้พวกลักขโมยรู้ว่าเรือของเขาอยู่แถวๆ นั้นด้วย

"ผมไม่รู้เรื่องกุ้งเลยสักนิด ตอนที่มาเอกวาดอร์" เขาหัวเราะย้อนรำลึกความหลัง

ครอบครัวหวางหลินออกจาไต้หวันเมื่อปี 2519 มาอยู่สหรัฐอเมริกา "ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะเรากลัวคอมมิวนิสต์ยึดครองไต้หวัน" หลินกล่าว เป้าหมายของเขาในอเมริกาตอนนั้นคือ แสวงหาโอกาสทองทางธุรกิจ

หวางหลินในวัย 34 เล่าว่า "ผมล้างจานอยู่ในลอสแองเจลิส จากนั้นก็ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในบราซิล แล้วก็ไปเปรู ก่อนจากมาได้ยินว่าถ้าใครอยากรวยจริงๆ ก็ต้องไปเลี้ยงกุ้งที่เอกวาดอร์"

การเลี้ยงกุ้งก็ฟังดูน่าตื่นเต้นสำหรับเขาแต่ที่ดึงดูดเขามากกว่าคือ โอกาสของการทำกำไร ที่นี่ไม่เหมือนไต้หวันซึ่งธุรกิจเลี้ยงกำลังย่ำแย่เพราะปัญหาน้ำเสีย พายุไต้ฝุ่นที่มาเป็นฤดู ค่าเช่าที่ที่แพงลิบลิ่ว แต่เอกวาดอร์เปรียบดังสวรรค์ ผืนดินตลอดชายฝั่งราคาถูก บ่อเลี้ยงกุ้งที่จัดการดีๆ จะได้ผลตอบแทนถึง 50% ค่าแรง ค่าน้ำมัน และค่าไฟ ก็ยังถูกมาก ขณะเดียวกันท้องน้ำก็ยังมีสารอาหารสำหรับกุ้งอยู่เหลือเฟือ

"อนาคตการเลี้ยงกุ้งที่ไต้หวันไม่มีเลย ที่นั่นประชากรมากเกินไป และน้ำก็เสีย" หลินกล่าว

เมื่อปี 2525 หวางหลิน ได้เปลี่ยนเงิน 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐในบัญชีเงินฝากมาเป็น ที่ 6 เฮคตาร์นอกเมืองมัคคาลาซึ่งอยุ่ห่างจากเมืองหลวงกิโตของเอกวาดอร์ไปทางใต้ 350 กิโลเมตร แต่การเริ่มต้นนั้นไม่ง่ายเลย บทเรียนแรกคือ ต้องไม่ใช้อุปกรณ์ตีน้ำแบบไต้หวัน "เพราะมันจะกวนตะกอนจากก้นบ่อขึ้นมา" หวางหลินได้หันไปใช้ปั๊มดีเซลเพื่อดูดน้ำใช้แล้วออก 50% เป็นการเพิ่มการไหลเวียนให้น้ำใหม่ๆ ได้เข้าไปเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของบ่อ

บทเรียนที่สองคือการทำงานร่วมกับลูกน้อง แรกๆ คนงาน 40 คนของหวางหลินให้อาหารกุ้งโดยทิ้งไว้มุมบ่อ ซึ่งมีแต่จะละลายไปโดยเปล่าประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเขาสั่งให้คนงานให้อาหารกุ้งโดยใช้เรือเล็กโปรยอาหารในบ่อกุ้ง ใครทำได้ดีจะให้ 100 ดอลลาร์สหรัฐเป็นรางวัล เขายังได้ติดตั้งระบบวิทยุติดต่อสองทางภายในฟาร์มกับคนงาน

"การดูแลคนงานในโรงงานขนาดใหญ่นั้นยาก แต่ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งแบบเต็มรูปนี้ยิ่งยากใหญ่ คุณต้องอยู่กับเขาตลอดเวลา"

ความต้องการกุ้งเลี้ยงในเอกวาดอร์มีสูง อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่า 451.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 65% ของกุ้งส่งไปยังสหรัฐอเมริกา 34% ส่งไปยุโรป หวางหลินเลี้ยงกุ้งได้ 136,000 กิโลกรัม/ปี โดยมีรายได้ปีละประมาณ 600,000-1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปีไหนผลผลิตดีๆ เขาบอกว่าจะได้กำไรถึง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ

3 ปีก่อน หวางหลินได้เปิดสถานีเพาะเลี้ยงลูกกุ้ง อีกไม่นานเขาจะตัดคนกลางออกไปทั้งหมด โดยจะจัดการเรื่องการจัดส่งสินค้าเองด้วย

"เทคนิคในการค้าคือ ต้องจับตาดูตลาดตลอดเวลาและปรับปรุงสินค้าให้สนองความต้องการของตลาดให้ได้ ถ้าราคากุ้งแต่ละขนาดและแต่ละประเภทเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน เราก็ต้องแก้ไขวงจรการเลี้ยงและวิธีให้อาหารกุ้งด้วย" หวางหลินจะจับกุ้งขายเมื่อเลี้ยงไปได้ 16-20 สัปดาห์ ซึ่งจะได้กุ้งตัวใหญ่ มีความยาวถึง 15 เซนติเมตร

การอยู่ในชุมชนท้องถิ่นใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเสมอไป ในสภาพแวดล้อมที่ยากจน คนต่างชาติอย่างหวางหลินกลายเป็นเป้าของความอิจฉาริษยาและการลักขโมย เจ้าของฟาร์มบางแห่งต้องเสียกุ้งไปถึง 20% ให้กับพวกขโมย เมื่อหลายปีก่อนสถาการณ์ได้เลวร้ายลงเมื่อเจ้าของฟาร์มชาวไต้หวันยิงผู้บุกรุกชาวเอกวาดอร์

"ตั้งแต่นั้นมาก เราต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนให้กลับมาดีขึ้น" หวางหลินเล่าถึงสิ่งที่ตามมา

คลินิกที่ให้บริการฝังเข็มฟรี และการจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำผู้นำชุมชนประจำเดือนที่มีปอเปี๊ยะไส้ซีฟู้ดกับไก่ชานตุงเป็นเมนูประจำ คืองานชุมชนสัมพันธ์ที่บรรดาครอบครัวชาวไต้หวัน 25 ครอบครัวสร้างขึ้นมาเพื่อผูกมิตรกับคนท้องถิ่น

การที่หวางหลินพูดภาษาสเปนได้ทำให้เขาเป็นนักธุรกิจที่ได้รับความเชื่อถือ ภรรยาชาวเอกวาดอร์และลูกอีก 2 คนก็เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี และแม้แต่ตามกฎหมายชาวต่างชาติจะไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินในช่วง 80 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่หวางหลินได้กลายเป็นประชากรเอกวาดอร์แล้ว ต้องถือว่าเขาเป็นคนไต้หวันที่เป็นเจ้าที่ดินหลายสิบเฮคตาร์

หวางหลินกล่าวว่า "ธุรกิจนี้อาจจะแพง ใช้เวลาและทุ่มเทพลังงานไม่น้อย แต่ตราบใดที่คุณเต็มใจจะให้เวลากับมัน การเลี้ยงกุ้งก็นับว่าให้ผลดีทีเดียว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.