|
พีน่ากรุ๊ปโหมแบรนด์นอกสู้ภาษีแพ้ภัยเศรษฐกิจหดเป้าโตเหลือ5%
ผู้จัดการรายวัน(11 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
พีน่า กรุ๊ป ลุยสู้เศรษฐกิจพ่นพิษตลาดเสื้อผ้าชะลอตัว เป้าการเติบโตปีนี้พลาดจากโต 15% เป็นเหลือ 5% กวาดรายได้ 1,300 ล้านบาท เร่งรีโนเวตเอาท์เลททำเลทอง เพิ่มความถี่โปรโมชั่นกระทุ้งยอด พร้อมปรับตัวรับมือภาษีนำเข้าเหลือ 0% นำเข้าเสื้อผ้าอินเตอร์แบรนด์ 1-2 ยี่ห้อต่อปี
นางสาวนัสวี ตันติจิรสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีน่า เฮ้าส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าโลคัลแบรนด์และนำเข้าสินค้าแฟชั่น เปิดเผยกับ ”ผู้จัดการรายวัน” ว่า ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ความไม่ชัดเจนทางการเมือง และกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลกระทบให้ภาพรวมตลาดสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพีน่า กรุ๊ปก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมียอดขายลดลง ส่งผลให้ผลประกอบการสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 5% หรือกวาดรายได้ 1,300 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้าว่าจะมีอัตราการเติบโต 10-15%
แนวทางการตลาดเพื่อรองรับกับสภาพตลาดสินค้าแฟชั่นที่ชะลอตัว ในกลุ่มเสื้อผ้าโลคัล แบรนด์ของบริษัทฯซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 70% มีทั้งหมด 4 แบรนด์ ประกอบด้วย พีน่าเป็นสินค้าเรือธงมีสัดส่วนรายได้ 35-40% ยูโฟร์ 30% เท็นแอนด์โค 20% และไอเทม 10% บริษัทฯจะพิจารณาเอาท์เลทที่มีศักยภาพ ด้วยการปรับปรุงโฉมร้านค้าใหม่ ภายใต้การใช้งบ 1-2 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งขณะนี้ได้ปรับปรุงโฉมใหม่ไปแล้ว 50% จากจำนวนสาขาที่มีอยู่ทั้งหมด ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลทุกสาขา สยามเซ็นเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทฯยังเพิ่มความถี่ในการทำโปรโมชั่น เพื่อระบายสินค้าที่ค้างสต็อกออก
สำหรับตลาดเสื้อผ้าโลคัลแบรนด์ เริ่มเกิดภาวะอิ่มตัว แบรนด์ใหม่ที่เข้ามาจะทำตลาดได้ยากมากขึ้น ขณะที่แบรนด์เดิมที่อยู่ในตลาดขณะนี้ต้องแข่งขันกับตัวเองมากกว่า โดยเฉพาะการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าขนส่ง เส้นด้าย สำหรับในส่วนพีน่า กรุ๊ป เฉพาะต้นทุนค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้น 20% อย่างไรก็ตามในอนาคตการแข่งขันในตลาดเสื้อผ้าโลคัลแบรนด์มีความรุนแรงมากขึ้น ผลจากภาษีนำเข้าเสื้อผ้าที่จะปรับลดลงเหลือ 0% ซึ่งจะทำให้เสื้อผ้าอินเตอร์ แบรนด์เข้ามาเปิดตลาดได้ง่ายมากขึ้นภายใต้ราคาที่ถูกลง
นางสาวนัสวี กล่าวว่า พีน่า กรุ๊ป ได้ปรับตัวเพื่อรองรับกับกำแพงภาษีนำเข้าที่จะลดลง ด้วยการนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศอย่างน้อย 1-2 แบรนด์ต่อปี นอกจากนี้ยังได้เตรียมทีมการตลาดให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯได้เริ่มนำเข้าสินค้าเมื่อปี 2544 แบรนด์แรกวอร์เนอร์ บราเดอร์ มีสินค้าเสื้อผ้าที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการนำเข้ามาจัดจำหน่าย เช่น เอคโค,ไนกี้ วีเมน, นาฟนาฟ, เอ็กซ์โอเอ็กซ์โอ, วอนดัทช์ และโพนี่ ขณะที่รองเท้านำเข้ามี 4 แบรนด์ เช่น นอติก้า ดีเซล และวอนดัทช์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแบรนด์นำเข้าสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทในสัดส่วนถึง 30% อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มโลคัล แบรนด์
ดังนั้นบริษัทจึงได้ปรับแนวทางการตลาดทำ เพื่อรองรับกับการแข่งขันสินค้าแฟชั่นที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทฯมีสินค้าเสื้อผ้าที่ได้รับลิขสิทธิ์ในการนำเข้ามาจัดจำหน่าย 7 แบรนด์ เช่น เอคโค,ไนกี้ วีเมน, นาฟนาฟ, เอ็กซ์โอเอ็กซ์โอ, วอนดัทช์ และโพนี่ ขณะที่รองเท้านำเข้ามี 4 แบรนด์ เช่น นอติก้าและวอนดัทช์ เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|