ฮุบเรียบ "สุวรรณภูมิ" คิงพาวเวอร์คว้าพื้นที่เพิ่มเท่าตัว


ผู้จัดการรายวัน(11 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

”คิงเพาเวอร์” เจ้าของสุวรรณภูมิตัวจริง พบคว้าสิทธิบริหารเบ็ดเสร็จพื้นที่ ดิวตี้ฟรี-เชิงพาณิชย์ที่งอกเพิ่มจากข้อตกลงในสัญญาอีกเท่าตัว ด้านทอท.เตรียมทำสัญญาแนบท้ายพื้นที่ส่วนเพิ่มให้ ขณะที่”วิชัย”ยันประมูลมาอย่างถูกต้อง พร้อมเจรจาจ่ายผลตอบแทนเพิ่มให้ทอท. แต่ต้องเป็นธรรมเพราะมีพื้นที่ที่ต้องลงทุนแต่ไม่มีรายได้ด้วย ขณะที่ ทอท. หวั่นกระทบความสะดวกผู้โดยสาร เหตุพื้นที่เหลือเกือบตกมาตรฐานแล้ว ยันขยายเพิ่มไม่ได้แล้ว เผย 27 สายการบินต้องจำใจตั้งสำนักงานนอกอาคารเหตุไม่มีที่เหลือแล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชนะการประมูลในการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร และเป็นผู้รับผิดชอบให้บริการร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบินพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรเป็นเวลา 10 ปี ว่า จากการตรวจสอบขณะนี้พบว่า ได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากที่ได้ลงนามในสัญญาอีกเกือบเท่าตัว หรือเป็น 40,000 ตารางเมตร โดยอ้างว่าในสัญญาที่ลงนามมีการเปิดช่องให้มีการขยายพื้นที่เพิ่มได้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่เข้าร่วมประมูล และถูกมองว่ามีการเอี้อประโยชน์ให้กับเอกชนได้เพราะหากเอกชนรายอื่นรู้ว่าขยายพื้นที่เพิ่มได้ อาจเสนอเงื่อนไขผลตอบแทนให้กับ ทอท.สูงกว่าได้

ทั้งนี้ ในร่างทีโออาร์เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล กำหนดว่าพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์มีประมาณ 2 0,000 ตารางเมตร มีการกำหนดรายละเอียดตำแหน่งและขนาดของพื้นที่ระบุชัดเจน ซึ่งไม่รวมพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่สำหรับกิจกรรมของหน่วยราชการ ส่วนผล
ประโยชน์ตอบแทนจะคิดจากส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าและบริการภายในพื้นที่ทั้งหมด ในอัตราร้อยละ 15 และค่าตอบแทนเป็น
เงินประกันขั้นต่ำ แต่ภายหลังจากที่ คิวเพาเวอร์ ได้เข้ามาตกแต่งพื้นที่ได้มีการขยายเพิ่มขึ้น

“ศรีสุข”เตรียมสำรวจทำแนบท้ายสัญญา

นายศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า เรื่องพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินของสนามบินสุวรรณภูมิส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้น ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าใด แต่หลังจากการดำเนินการตกแต่งพื้นที่ภายในเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการสำรวจอีกครั้งและพื้นที่ส่วนเพิ่มก็คงมีการเจรจากับทางบริษัทอีกครั้งและทำเป็นแนบท้ายในสัญญาเพิ่มเติม

ด้านนายสมชัย สวัสดิผล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ทราบเพียงว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์ของคิงเพาเวอร์มีอยู่ประมาณ 28,000 ตารางเมตร ซึ่งผลตอบแทนที่ทอท.ได้รับมี 2 ส่วนคือ ค่าเช่า และยอดขายซึ่งมีการรับประกันขั้นต่ำไว้ ส่วนรายละเอียดทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาและตัดสินของคณะกรรมการพิจารณารายได้เชิงพาณิชย์ ที่มีนายศรีสุข เป็นประธาน

อย่างไรก็ตาม ทอท.จะต้องพิจารณาการใช้พื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้โดยสารตามมาตรฐานการให้บริการ (Level of Service) ซึ่งกำหนดไว้ว่า พื้นที่ของอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินสำหรับอำนวยความสะดวกจะต้องไม่ต่ำกว่า 2.75 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งขณะนี้ พื้นที่ส่วนนี้อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคน โดยคิดที่จำนวนผู้โดยสารที่45 ล้านคนต่อปีแล้ว ซึ่งเท่ากับว่า จะไม่สามารถขยายพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ได้อีกแล้ว เพราะจะกระทบต่อมาตรฐาการบริการได้

“วิชัย”ยืนยันจ่ายผลตอบแทนตามเกณฑ์

ด้านนายวิชัย รักศรีอักษร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ยอมรับว่า มีการปรับพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่ชัดเจนได้เพราะต้องมีการสรุปอีกครั้ง หลังจากที่การตกแต่งร้านค้าแล้วเสร็จ คาดว่าก่อนวันที่ 28 ก.ย. 2549 นี้ และจะมีการเจรจากับ ทอท. เพื่อกำหนดเงื่อนไขแนบท้ายสัญญาในส่วนของพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยในเบื้องต้นส่วนของร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งพื้นที่เดิมกำหนดไว้ที่ 5,000 ตารางเมตร ได้เพิ่มอีกประมาณ 3,000 - 4,000 ตารางเมตร ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ จาก 20,000 ตารางเมตร เพิ่มเป็น 26,000 -28,000 ตารางเมตร ซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นการประกันรายได้ขั้นต่ำ และส่วนที่ต้องแบ่งรายได้ 15 % ของการขายสินค้าและบริการให้ ทอท.

ทั้งนี้ การบริหารพื้นที่ภายในสนามบิน ทางบริษัทไม่ได้คำนึงว่าจะต้องสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีพื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้นำมาทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่น บริเวณที่ตั้งของประติมากรรมกวนเกษียรสมุทร และด้านหลังยังเป็นพื้นที่สำหรับพิพิธภัณฑ์ ส่วนนี้จะต้องหารือกับ ทอท.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายว่า การคิดผลตอบแทนจากพื้นที่ปรับเพิ่มอย่างไร ซึ่งในหลักการ การคิดผลตอบแทนเพิ่มคงไม่สามารถเทียบเท่ากับจำนวนพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นได้ แต่จะต้องคิดว่า พื้นที่เพิ่มขึ้นนั้นสามารถขายสินค้าและบริการเพิ่มด้วยหรือไม่ หรือเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่มีรายได้ จึงจะเหมาะสม ซึ่งในส่วนนี้ ทอท.สามารถตรวจสอบได้

“ วันนี้จะบอกว่าพื้นที่เพิ่มขึ้นนั้นคงต้องไปดูของจริงว่าเพิ่มเท่าใด และทำให้รายได้เพิ่มเท่าใด สามารถคำนวณได้ แต่หากจะคิดผลตอบแทนตามพื้นที่คงต้องมาคุยกัน เพราะสิ่งที่ผมลงทุนไปนั้นได้ทำประโยชน์ให้กับสุวรรณภูมิหรือเปล่า ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น งบบานปลายจากข้อจำกัดของเวลาที่ต้องเร่งรัดโครงการ ผมต้องรับผิดชอบทั้งหมด “ นายวิชัยกล่าว

ประธานกลุ่มคิงเพาเวอร์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้ออกแบบสนามบินได้ออกแบบเพื่อรองรับให้ผู้โดยสารที่เข้ามาในสนามบินจะต้องผ่านออกไปโดยเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ จึงได้มีการเจรจากับทางทอท.ให้เข้าใจว่าการแข่งขันทางธุรกิจการบินจะต้องมีการแข่งขันทาง ด้านบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องการความสะดวกสบาย และไม่ได้เป็นการบังคับผู้โดยสาร รวมทั้งสายการบินก็ไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ จึงได้ร่วมกับ ทอท.ในการกำหนดรูปแบบและวางเลย์เอาท์การใช้พื้นที่ภายในใหม่ โดยศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ชี้พื้นที่ไม่สมบูรณ์ต้นทุนตกแต่งบานปลาย

นอกจากนี้ นายวิชัยกล่าวว่า พื้นที่ที่ทางคิงเพาเวอร์ได้รับมอบนั้น มีหลายส่วนที่มีปัญหา มีพื้นที่เป็นหลุมบ่อต้องแก้ไข หรือการติดตั้งโครงเหล็กเปิดปิด ต้องมีการรื้อย้ายใช้งบสูงถึง17 ล้านบาท ซึ่งภาระการลงทุนต่างๆ ประกอบกับมีข้อจำกัดของเวลา ทำให้บริษัทมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น และในส่วนที่เพิ่มก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร แต่เป็นการรองรับความต้องการของผู้โดยสาร เพราะบางพื้นที่ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ได้มาก เช่น ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ หรือตัวอย่างพื้นที่บริเวณซิตี้การเด้น ที่ทำเป็นร้านอาหารเพื่อรองรับผู้โดยสารภายในประเทศนั้นเป็นข้อจำกัดของพื้นที่ ต้องใช้งบลงทุนถึง 300 ล้านบาท เพื่อให้รูปแบบมีความกลมกลืนและเป็นมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้โครงการนี้ได้มาตามขั้นตอนการประมูล ที่ทางบริษัทเสนอผลตอบแทนสูงและผ่านการพิจารณา ซึ่งข้อตกลงในสัญญา ในส่วนที่เป็นร้านค้าปลอดภาษี มีพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร การจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำจะคำนวณจากคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี 2550 ซึ่งทางบริษัทได้เสนอผลตอบแทนปีแรกที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าประมาณการยอดขายของดิวตี้ฟรีต้องได้ถึง 8,000 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มจำนวนพื้นที่จึงไม่ได้หมายความว่า จำนวนของที่ขายจะต้องเพิ่มขึ้นด้วย ยังไม่รวมภาระการลงทุนที่บริษัทต้องแบกรับสต๊อกสินค้า เพื่อรองรับผู้โดยสารทั้งรันเวย์ฝั่งตะวันออกและตะวันตก ส่วนค่าตบแต่ง ออกแบบร้านค้า และสถานที่ทางบริษัทต้องรับผิดชอบทั้งหมด

ส่วนที่ทำให้พื้นที่เพิ่มขึ้นนั้น นายวิชัย กล่าวว่า เนื่องจากการออกแบบเดิมไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เข้ามารับส่งภายในสนามบิน โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาหรือร้านขายหนังสือ จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ดีที่สุดและมองเห็นได้ง่าย รวมทั้งภาระการออกแบบ ในขณะที่ผลตอบแทนจากร้านเหล่านี้ก็ไม่เกิน 7% แต่ต้องจ่ายให้ ทอท. 15 % ซึ่งบริษัทต้องรับภาระขาดทุนทันที 8 % แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องไปคำนวณกับส่วนที่ได้กำไรมากกว่าเพื่อคละกัน

นอกจากนี้ นายวิชัย กล่าวอีกว่า ทางบริษัทได้ยื่น Proposal ข้อเสนอขอใช้พื้นที่ 28,000 ตารางเมตร แต่พื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ได้รับอนุมัติ 20,000 ตารางเมตรที่ระบุในสัญญากำหนดไว้ว่ามีสิทธิที่จะเสนอขอใช้พื้นที่มากกว่า 20,000 ตารางเมตรได้ หากเห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร

27สายการบินไม่มีที่ตั้งสนง.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการสายการบินส่วนหนึ่ง ประมาณ 40% หรือ 27 สายการบิน ไม่มีพื้นที่สำหรับสำนักงานภายในอาคารผู้โดยสาร ขณะที่สนามบินดอนเมือง สำนักงานของสายการบินทั้งหมดจะอยู่ภายในอาคารผู้โดยสารทั้งที่พื้นที่อาคารผู้โดยสารของดอนเมืองมีเพียง 321,166 ตารางเมตร ส่วนสุวรรณภูมิมีถึง 563,000 ตารางเมตร โดย ทอท.ให้เหตุผลว่า พื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารส่วนใหญ่จะใช้สำหรับร้านค้าปลอดภาษีและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่ง คิงเพาเวอร์ เป็นผู้รับสัมปทาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.