วันนี้ชวน ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริษัทมั่นคงเคหะการ มีอายุอยู่ในวัย
58 ปี เขาใช้เวลา 30 กว่าปี คลุกคลีอยู่กับวงการก่อสร้างและพัฒนาที่ดิน จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว
และผลักดันให้กิจการของเขา "บริษัทมั่นคงเคหะการ" ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำบริษัทหนึ่ง
ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
สามสิบหกปีของการทำงานหนัก เรียนรู้และจัดการงานทุกแง่ทุกมุมด้วยตัวเอง
ซึมซับและภาคภูมิใจกับความสำเร็จของกิจการ แน่นอนว่าย่อมทำให้ชวนรักและหวงแหนมั่นคงเคหะการมากที่สุด
เพราะมันคือชีวิตของเขา
ถึงแม้มั่นคงฯ ในวันนี้จะไม่อยู่ในสถานะธุรกิจส่วนตัว เพราะได้เข้ามาเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีคำต่อท้ายชื่อบริษัทว่า
"มหาชน" แล้ว และแม้ว่าขนาดของกิจการ การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทำให้การบริหารงานแบบเดิมๆ ที่รวมศูนย์การจัดการทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่คนๆ
เดียวเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องอาศัยการบริหารงานอย่างมืออาชีพที่เป็นระบบแต่ชวนก็ยังไม่อาจสลัดความรู้สึกและความคิดเก่าๆ
ออกไปได้
วันนี้ของชวนจึงเป็นวันที่โดดเดี่ยว อ้างว้าง เพราะแม้แต่น้องในไส้แท้ๆ
ก็พากันแยกตัวออกไปสร้างอาณาจักรของตัวเอง "มืออาชีพ" ที่เคยหวังว่าจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มั่นคงก็ถอนตัวออกมาทีละคนสองคน
จนแทบไม่เหลือ เพราระรับไม่ได้กับแนวคิดและวิธีการทำงานของชวน
ปัญหารการบริหารงานภายในบริษัทมั่นคงเคหะการเริ่มเด่นชัดตั้งแต่ประมาณปี
2532 ซึ่งเป็นช่วงยุคทองของธุรกิจที่อยู่อาศัย เพราะในช่วงเวลานั้นสถิติการลาออกของพนักงานบริษัทมีสูงมาก
บริษัททางด้านเรียลเอสเตทที่เกิดใหม่หลายบริษัทได้ดึงตัวพนักงานออกไป ระบบรับคนใหม่เข้ามาแทนก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนัก
คราวนั้นคนในวงการวิเคราะห์กันว่า นอกจากจะเป็นเพราะมั่นคงฯ ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำกว่าบริษัทอื่น
นอกจากนั้นระบบโครงสร้างเก่าๆ ที่ผู้บริหารสวมหมวกหลายใบโดยเฉพาะชวนที่ยึดมั่นเหนียวแน่นว่าบริษัทเป็นของตน
ดังนั้นเมื่อคิดจะทำอะไรขึ้นมา ก็จะสั่งการไปเลยโดยไม่มีระบบหรือขั้นตอนใดๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ขาดการประสานงานระหว่างกันและสร้างความกดดันให้กับพนักงาน
บุคคลสำคัญที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้แล้วก็คือ ประทีป ตั้งมติธรรม น้องชายของชวนเอง
ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มั่นคงเติบโตขึ้นมาได้นั่นเอง
การแยกออกไปสร้างอาณาจักรแห่งใหม่และกุมบังเหียนในฐานะของประธานกรรมการบริหารศุภาลัย
จำกัด (มหาชน) ที่กำลังมีสินทรัพย์ไล่ตามบริษัทมั่นคงอยู่ในทุกวันนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ชัดแล้วว่า
การตัดสินใจครั้งนั้นของประทีปถูกต้อง
ในห้วงเวลานั้น ชวนยังเหลือประศาสน์ น้องชายคนสุดท้องที่เขาส่งเสียให้เรียนจบปริญญาเอกทางด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยฮาวาย
เป็นขุนพลสำคัญทางด้านงานก่อสร้างซึ่งเป็นจุดหัวใจหลักในการทำธุรกิจทางด้านที่อยู่อาศัย
โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมั่นคงการโยธา และกรรมการรองผู้จัดการบริษัทมั่นคงเคหะการ
แต่ต่อมาตัวของประศาสน์เอง กลับเป็นผู้เพิ่มรอยร้าวให้กับองค์กร แทนที่จะเป็นตัวประสานระหว่างพนักงานระดับล่างกับชวนผู้พี่
กลับทำตัวเปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำเพราะเขาเองก็ไม่พอใจวิธีการบริหารงานของพี่ชายเหมือนกัน
ความอดทนของพนักงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีต่อระบบโครงสร้างเก่าๆ นี้ ถึงจุดระเบิดประมาณกลางปี
2535 พนักงานได้รวมตัวกันเพื่อขอเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างการบริหารใหม่หมด
เมื่อปัญหามาถึงขั้นนี้ ชวนจึงว่าจ้างทีมงานบริษัทที่ปรึกษาบริษัทหนึ่ง
เข้ามาศึกษาและเสนอแนวทางใหม่ให้กับบริษัทด้วย
ข้อสรุปในการแก้ไขก็คือ ชวนควรที่จะสลัดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการออกไปเหลือเพียงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท
คอยควบคุมงานแต่เพียงห่างๆ เท่านั้น และต้องให้อิสระกับคนทำงานมากขึ้น
นอกจากนี้นบริษัทจะต้องมีแผนงานรองรับระยะยาวและเน้นการทำงานเป็นทีมมากขึ้น
แต่ข้อสรุปและแนวทางการแก้ไขใดๆ ก็เป็นเพียงตัวหนังสือบนแผ่นกระดาษที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเลย
หากตัวบุคคลที่ต้องเป็นผู้ลงมือทำนั้น ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่กับความคิดเดิมๆ
ชวนเคยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทุกวันนี้เขาก็ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายในรายละเอียดของงานมากนัก
ปล่อยให้ผู้บริหารระดับรองรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ "ผมยังไม่เหนื่อย ไฟในกายยังร้อนพอที่จะคิดค้นงานใหม่ๆ
ให้กับบริษัทได้เรื่อยๆ"
เมื่อชวนยังไม่เด็ดขาดออกมาว่าจะจัดการกับตัวเองอย่างไร ทีมงานที่เหลือก็ต้องกัดฟันทำงานเดินหน้ากันต่อไป
และงานเร่งด่วนที่เน้นเป็นพิเศษในปีที่แล้วก็คือ การสร้างทีมงานเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ให้บริษัท
เพราะตลอดเวลาในปี 2535-2536 ภาพลักษณ์ของมั่นคงฯ ตกต่ำลงมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งในบริษัท
และปัญหาความบกพร่องของการทำงาน จนทำให้ลูกบ้านในหมู่บ้านต่างๆ ของบริษัทต้องรวมตัวกันประท้วงเป็นข่าวอื้อฉาวที่มีผลในด้านลบอย่างมากต่อภาพพจน์ของบริษัท
ไกรสร มัทนพจนารถ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการตลาด คือผู้รับผิดชอบในการกู้ภาพพจน์ขององค์กร
โดยเดินสายคุยกับสื่อมวลชนฉบับต่างๆ รวมทั้งจัดงานสัมมนาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
แต่แล้ว…เมื่อต้นปี 2537 ประศาสน์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ
ก็ได้ลาออกไปร่วมหุ้นกับกลุ่มเพื่อนฝูงโดยใช้ชื่อบริษัท บริจด์ ดีเวลลอปเม้นท์
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการบริดจ์ พลาซ่า ย่านวงเวียนใหญ่ ต่อมาประภาส
ศุภสุวรรณกุล ผู้จัดการฝ่ายการออกแบบก็ลาออกตาม
และล่าสุดก็คือไกรสรคนที่มีหน้าที่จะต้องสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนเกี่ยวกับข่าวคราวของมั่นคงฯ
ในที่สุดก็ทนไม่ได้เหมือนคนอื่นๆ ที่ตัดสินใจไปก่อนหน้านี้แล้วหลายๆ คน
"ผมจะไปทำงานที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ผมให้เวลากับที่นี้มานานหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
แต่หมดหวัง" ไกรสรพูดสั้นๆ ถึงความรู้สึกของเขาที่มี่ต่อมั่นคงฯ ถ้าพูดให้ชัดๆ
ก็คือความรู้สึกต่อชวนนั่นเอง
ชวนยังไม่พร้อมที่จะยกเครื่องใหญ่บริษัท และยังไม่ยอมก้าวลงจากบัลลังก์อำนาจอย่างแท้จริง
ความหวงแหนในกิจการที่ตัวเองก่อตั้งมากว่า 20 ปี และนับวันเขาจะต้องโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น
เมื่อคนรอบข้างที่ร่วมงานกันมาพากันโบมือลาจากไป
ดูเหมือนว่า สิ่งที่มั่นคงเคหะการจะต้องเผชิญไม่ได้มีแต่เพียงการแข่งขันในตลาด
และสถานการณ์ของธุรกิจเรียลเอเสตทเท่านั้น ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ ตัวผู้นำเอง
"ต้นไม้ใหญ่ไม่ตายเพราะลมพัด แต่ปัญหาจะอยู่ที่หนอนเจาะและรากเน่ามากกว่า"
นี่คือข้อสรุปของบริษัทที่ปรึกษาซึ่งชวนจ้างเข้าไปศึกษาปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเมื่อปีที่แล้ว