|

เศรษฐกิจพลิกผันรัฐยอมจำนนทำงบขาดดุลเอกชนหยุดนิ่งสัญญาณลบต้องอัดยากระตุ้น
ผู้จัดการรายสัปดาห์(11 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เพราะความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ยังผลให้คำพูดที่เคยกล่าวไว้อย่างหนักแน่นจึงต้องมีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อย่างเรื่องของการจัดทำงบประมาณประจำปี 2550 ที่ภาครัฐเคยกล่าวอย่างมั่นใจว่าจะต้องเป็นงบสมดุล เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแกร่งมาก ๆ แกร่งจนอะไรกระแทกก็คงพังยาก แม้ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไทยจะเป็นจริง หากแต่การขยายตัวและความเสถียรภาพนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่พื้นฐานความแข็งแกร่งเสียทั้งหมดตี่ยังมีปัจจัย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นซึ่งเป็นหลักจิตวิทยาสำคัญที่ทำให้ในวันนี้เศรษฐกิจไทยพลิกผันจากที่คาดการไปมาก และความคิดที่ผิดพลาดเช่นนี้เองที่รัฐมองเห็นว่าสถานการณ์ 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยต้องอยู่ช่วงขาลงแน่ และถ้าไม่มีอะไรอัดฉีดเข้ากระตุ้นแน่นอนว่าคงได้เห็นความซบเซาของเศรษฐกิจ ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงนำมาสู่การตัดสินใจว่าปี 2550 รัฐจำเป็นต้องทำงบขาดดุล
เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง ก็ต้องปรับตัวไปตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนด้วย ดั่งเช่นสถานการณ์เมื่อต้นปีจนรกลางปีรัฐบาลยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนต่อไปได้ แม้จะมีสถานการณ์หลากหลายเป็นตัวบั่นทอนการลงทุนของภาคเอกชน ตั้งแต่น้ำมัน ดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นจนเป็นภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ หรือแม้แสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงวุ่นวายไม่จบสิ้น แต่ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศมีความเข้าใจสถานการณ์ทำให้รัฐบาลไม่วิตกกับการจัดทำงบปี 2550
ในยามนั้นปัจจัยหลักที่เสี่ยงอันดับต้น ๆ ต่างยกให้กับเรื่องของราคาน้ำมัน เพราะเป็นการกระโดดที่สูงมากจนทำให้เงินเฟ้อทยานพุ่งตาม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็แบกรับต้นทุนการดำเนินธุรกิจมากขึ้นภายใต้การควบคุมสินค้าราคาจากภาครัฐเพื่อบรรเทาไม่ให้ประชาชนต้องรับความเดือดร้อนมากนัก
แต่เมื่อนานวันแม้สถานการณ์น้ำมันจะยังคงสูงขึ้นก็ตาม แต่ดีกกรีความรุนแรงหาเทียบเหตุบ้านการเมืองได้ เพราะแม้น้ำมันจะขึ้นสูงผู้ประกอบการสามารถหาทางออกด้วยการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ หากแต่เมื่อการเมืองไม่นิ่งการหาทางออกนั่นเป็นเรื่องยากยิ่งต่อผู้ประกอบการ ทางเดียวที่ทำได้คือการชะลอการลงทุนจนกว่าสถานการณ์จะชัดเจน
จนถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์การเมืองก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ในอันดับแรก และเป็นผลทางด้านจิตวิทยาที่ทำให้การลงทุนชะงักแม้กำลังผลิตการจะเต็มจนต้องเพิ่มใหม่แล้วก็ตาม แต่ผู้ประกอบการเอกชนก็ยังคงอั้นไว้ไม่ลงทุนจนกว่าสถานการณ์จะแน่ชัด และดูเหมือนว่าการออกมาสร้างความมั่นใจจากภาครัฐในหลายครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช่วยแก้สถานการณ์ความเชื่อมั่นของเอกชนให้ดีขึ้นด้วย และนั่นทำให้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มป่วยหนักขึ้นและนับจากนี้ไปอีก 6 เดือนคงต้องนอนโรงพยาบาลหากไม่มีการอัดฉีดยาสร้างภูมิคุ้มกัน
สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการการนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมที่คาดไว้ทำให้รัฐบาลต้องจัดทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งจากที่ประชุมร่วมกับภาคเอกชนก็เห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้เพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้นิ่งก่อนตายสนิท เพราะสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มเห็นชัดขึ้น ไตรมาสแรกปี 2549 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ขยายตัวประมาณ 6% ไตรมาส 2เริ่มลดลงเหลือ 4.9% และจะต่ำสุดในไตรมาส 1ปี 50ซึ่งขยายตัวที่3 %กว่า ดังนั้นเศรษฐกิจจึงต้องอัดยาอย่างแรงในการกระตุ้นให้ยืนอยู่ได้
"ถามว่าถ้าไม่ทำงบขาดดุลได้หรือไม่ ก็ต้องอยู่ที่ว่าถ้าไม่ทำแล้วภาคเอกชนจะสามารถยืนอยู่ได้หรือเปล่าในสถานการณ์เช่นนี้ เขาจะตายหรือไม่ เมื่อไม่มีเงินไหลเข้าสู่ระบบ เพราะงบเบิกจ่ายปี 50ก็ล่าช้า เหตุบ้านการเมืองก็ยังไม่เข้าที่ความไม่มั่นใจมีสูง ถ้าไม่ใส่เงินลงไปเศรษฐกิจหยุดนิ่งภาคเอกชนก็ต้องตาย ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เราจึงต้องนำนโยบายคลังเข้ากระตุ้นให้เครื่องจักรกลทางเศรษฐกิจวิ่งต่อไปได้"
หากแต่การกระตุ้นนั้นไม่ใช่ทำในส่วนการบริโภคของภาคครัวเรือน หนนี้จะทำในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข ซึ่งเป็นการอัดฉีดวงเงินเข้าสู่ระบบเพื่อหวังผลประโยชน์ในระยะยาว จะว่าไปแล้วการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุขน่าจะเป็นอะไรที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ เพราะถ้าอัดลงในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จากความกังวลและการขาดความเชื่อมั่น ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่น่าจะทำให้นักลงทุนเกิดความกล้าที่จะลงทุนขยายธุรกิจมากนัก ดังนั้นเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมา
เพราะอย่างไรก็ตามการใส่เม็ดเงินลงในส่วนของ ทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข ก็ตาม ยังคงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน และเป็นการกระตุ้นที่เกิดผลในระยะยาวด้วย
สมชัย บอกว่ายังไม่มีการสรุปว่าจะทำงบขาดดุลเท่าไร แต่ตามเกณฑ์แล้วจะไม่ให้เกิน 2% ของ จีดีพี และคิดว่าวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท แต่ยังไม่ได้สรุปในบรรทัดสุดท้ายว่าควรอยู่ที่เท่าไร เพราะรัฐบาลเองก็ไม่อยากสร้างภาระหนี้สาธารณะมากจนเกินไป แม้ขณะนี้หนี้สาธารณะจังยังไม่น่าห่วงก็ตามโดยปัจจุบันอยู่ที่42%ของจีดีพี และถ้าทำงบขาดดุลก็จะมีการออกพันธบัตรในวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะก็ไม่เกิน 41-45% และก็เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่จำกัดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้ไม่เกิน 45%
"ภาครัฐยังไม่ได้สรุปตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะทำงบขาดดุลเท่าไร และต้องออกพันธบัตรในวงเงินเท่าไร เพราะเมื่อการออกพันธบัตรของภาครัฐมากไปก็จะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้นอีก เพราะเป็นการดึงสภาพคล่องจากสถาบันการเงินเข้ามา ในขณะที่สถาบันการเงินเองในปัจจุบันก็ต้องการระดมเงินฝากเช่นกัน ดังนั้นวงเงินจะเป็นสัดส่วนเท่าไรนั้นจะต้องดูหลาย ๆ ปัจจัยประกอบ"
การคาดเดาทิศทาง และปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อเศรษฐกิจในยุคใหม่นี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ปัจจัยหลายอย่างที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นก็ยังเกิด และผลก็รุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ด้วย ดังเช่นผลทางการเมืองที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นแค่ปัจจัยเสี่ยงระดับ 2 หรือ 3 แต่เมื่อปัญหารากยาวก็กลายเป็นความเสี่ยงที่ระดับ 1 จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และที่สำคัญทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
ดังนั้นเมื่อสถานการณ์หนึ่งเปลี่ยนไปจากที่คาด นโยบายเก่าที่เคยมั่นใจว่าทำได้ก็ต้องรื้อและงัดของใหม่ขึ้นมาใช้ให้กับสถานการณ์...แม้ว่ารัฐจะต้องกลืนน้ำลายตัวเองก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|