"เส้นทางอาถรรพณ์ของยูเนียน แดวู"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ในบรรดาบริษัทรับเหมาก่อสร้างจากต่างชาติที่มุ่งหน้าหวังจะเข้ามารับงานในไทยนั้น คงไม่มีชาติอื่นใดที่รู้ใจคนไทยเท่ากับผู้รับเหมาที่มาจากทวีปเอเชียด้วยกัน ไม่ต้องดูอื่นไกลเจ้าประจำที่เข้ามารับงานในไทยแรกๆ ก่อนใครเพื่อน ก็ไม่หนีไปจากญี่ปุ่น ที่อาศัยเครดิตเรื่องเงินช่วยเหลือต่างประเทศที่ให้แก่ไทยมากเป็นพิเศษ เข้ามาเป็นใบเบิกทางรับงานได้อย่างมีศักยภาพสูงกว่าประเทศอื่นที่ตามมาภายหลัง

นอกจากนั้นด้วยคุณลักษณะของบริษัทรับเหมาจากญี่ปุ่นที่ถึงพร้อมด้วยความตรงต่อเวลา และการรักษาสัจวาจาที่ตัวเองได้ลั่นปากไว้ให้กับเจ้าของโครงการ เหล่านี้เป็นคุณสมบัติส่วนเสริมที่ทำให้จนถึงทุกวันนี้ ญี่ปุ่นก็ยังรักษาระดับการรับงานไว้ในระดับแนวหน้าได้เช่นเดิม

ถัดจากนั้นมาจนถึงทศวรรษปัจจุบัน เกาหลีใต้ ประเทศซึ่งมีความคล้ายคลึงหลายประการกับญี่ปุ่น ก็ได้พยายามอาศัยจุดขายหลายข้อที่ไม่แตกต่างจากญี่ปุ่นข้างต้น มาเป็นกลยุทธ์ในการทำให้คนไทยรู้จักบริษัทรับเหมาจากประเทศนี้แต่เนื่องด้วยข้อด้อยบางประการ จึงทำให้แนวหน้าของธุรกิจรับเหมาจากเกาหลีชุดแรกๆ ไม่สามารถทะลวงฟันเอาส่วนแบ่งงานโครงการมาเชยชมได้มากตามต้องการ

ดังนั้นผู้รับเหมาหน้าใหม่ๆ จากเกาหลีที่หวังจะเข้ามาไทยในงวดใหม่นี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องศึกษาบทเรียนของรับเหมาหน้าเก่าที่เข้ามาก่อนหน้า และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

"แดวู คอนสตรัคชั่น" ถือเป็นบริษัทรับเหมาระดับ TOP FIVE ของเกาหลี และถือเป็นหน้าใหม่ดังกล่าวที่หมายตาจะเข้ามารับงานในไทยมานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่ได้โอกาสเหมาะสักครั้ง

จนกระทั่งเมื่อมาพบเนื้อคู่ที่ถูกชะตากันมากที่สุดอย่างเช่นค่ายสหยูเนียน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว การหมั้นหมายระหว่างกันจึงได้เกิดขึ้น

โดยแรกเริ่มนั้น ได้มีการพูดจากกันระหว่าง 2 กลุ่มนี้มานานพอสมควร ซึ่งในขั้นต้นทางสหยูเนียนก็มีโครงการที่จะขยายงานด้านโรงงานอุตสาหกรรมในเครือของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ หรือเครื่องไฟฟ้าหรือการขยายบทบาทของตัวเองเข้าไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยเช่นกัน จึงได้ตกปากรับคำทางแดวูที่จะเข้าถือหุ้นในบริษัทใหม่คือ "บริษัทยูเนียนแดวู เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด" ในอัตรา 51:49 อย่างเต็มใจ ในขณะที่แดวูเองก็เต็มใจอยู่แล้ว ที่จะปรับกลยุทธ์ในการเข้ามารับงานในไทยเสียใหม่ หลังจากที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากคนที่มาก่อนหน้าว่า การเข้ามาเปิดตลาดในไทยโดยเข้าร่วมถือหุ้นกับบริษัทชั้นแนวหน้านั้น จะเป็นหนทางออกที่ดีของปัญหาการเจาะตลาดร่วมกันรับงานในไทย เพราะจะเป็นหลักประกันด้านชื่อเสียงซึ่งจะเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว

นอกจากการเจาะตลาดเพื่อรับงานจะเป็นไปอย่างคล่องตัวแล้ว แต่ละฝ่ายต่างก็มีอุปสงค์ของตัวเอง โดยแดวูก็หวังว่าจะอาศัยฐานของสหยูเนียนเพื่อศึกษาสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย เพื่อการก้าวต่อไปสู่ภูมิภาคอินโดจีน ตามความมุ่งหมายเดิม ในขณะที่สหยูเนียนก็หวังเป็นอย่างมากว่าจะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีก่อสร้างจากแดวู เพื่อไปประสมประสานปรับใช้กับการขยายโครงการของตัวเองในอนาคต

แต่แล้วก็เหมือนกับมีอะไรมาบดบังทำให้การร่วมงานระหว่าง 2 กลุ่มนี้ต้องไปเรื่อยๆ มากว่า 3 ปี โดยยังไม่มีโอกาสได้รับงานใหญ่เป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด

โดยสังเกตได้จากผลงานที่ยูเนียน แดวูรับทั้งในอดีตที่ผ่านมาและที่รับอยู่ในปัจจุบันจะมีมูลค่างานไม่เกิน 400 ล้านบาทเท่านั้น อย่างโครงการที่ทำไปเสร็จแล้ว เช่น บ้านฉางพลาซ่า มูลค่าประมาณ 140 ล้านบาท และบ้านฉางช้อปเฮาส์ก็มีมูลค่าเพียง 18 ล้านบาทเท่านั้น หรือโครงการอีสเทอร์นสตาร์คลับเฮาส์ ก็มีมูลค่าเพียง 34 ล้านบาท และโรงงานกระดาษที่สิงห์บุรีก็เป็นโครงการล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปในราคาเพียง 263 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนโครงการที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบัน อย่างเช่นโรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์คก็อยู่ในวงเงินเพียง 300 กว่าล้าน หรือโครงการราชการอย่างอาคารสำนักงานใหญ่ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยก็ไม่เกินวงเงิน 400 ล้านบาทไปแต่อย่างใด และล่าสุดกับโรงแรมภูเก็ตซิตี้ ทราเวล ลอดจ์ ก็เพียง 205 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้ใกล้ชิดกับบริษัททั้ง 2 ให้ทัศนะถึงสาเหตุที่ความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทยังเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่ว่า เพราะทางสหยูเนียนยังไม่มีทีท่าแต่ประการใดที่จะเข้าไปร่วมมือในบริษัทร่วมทุนนี้อย่างจริงจัง เพราะนอกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังไม่ได้ส่งสัญญาณให้บุกได้เต็มที่แล้ว นโยบายการลงทุนของสหยูเนียนในขณะนี้ก็ยังมุ่งเน้นที่จะไปลงทุนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศจีน เช่นการก่อสร้างพาวเวอร์แพลนท์ หรือโรงงานผลิตไฟฟ้า ก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพันธมิตรแดวู

"ที่เมืองจีนบริษัทรับเหมาก่อสร้างมีมากมายทุกระดับให้เลือก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบราคากับการส่งผู้รับเหมาจากภายนอกเข้าไป การใช้ผู้รับเหมาพื้นเมืองย่อมถูกกว่าอย่างแน่นอน ดังนั้นความสัมพันธ์ของ 2 กลุ่มนี้จึงดูเหมือนว่า ทางสหยูเนียนจะปล่อยให้ทางแดวูหาลูกค้าเอาเองเสียมากกว่า" ผู้ใกล้ชิดให้ทัศนะ

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ชองโร ลี กรรมการผู้จัดการบริษัทยูเนียน แดวู ซึ่งรับหน้าเสื่อในการผลักดันให้ความมุ่งหมายของบริษัทพันธมิตเป็นจริงนั้น ก็คงต้องหนักพอสมควร อย่างไรก็ตาม ชอง ยังคงยืนยันว่า ความร่วมมือฉันท์มิตรระหว่างสหยูเนียนและแดวูยังคงสม่ำเสมอไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด และทั้ง 2 ฝ่ายยังคงยึดหลัก "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" ไว้เช่นเดิม ด้วยการตั้งเป้าว่าภายในปีนี้จะต้องมีผลดำเนินการไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ในขณะที่ปีที่แล้วมีผลประกอบการเพียง 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

ชองยังมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อกระแสการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นกว่านี้แล้ว ทางสหยูเนียนก็คงจะแสดงความสนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมกับแดวูมากยิ่งขึ้น

"ตอนนี้เรากำลังหวังว่าจะได้เข้าไปรับงานอาคารขนาดใหญ่สูงถึง 44 ชั้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งเราหวังว่าด้วยงานนี้จะทำให้เรามีเครดิตที่จะไปรับงานขนาดใหญ่มากกว่านี้อีก" ชองกล่าว

ในส่วนของชองเองนั้นไม่ค่อยจะเป็นห่วงปัญหาความร่วมมือกับสหยูเนียนมากนัก แต่ตัวเขาเองกลับเป็นห่วงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านงานก่อสร้างที่ยังคงเรื้อรังอยู่จนถึงขณะนี้ เพราะแม้ว่าทางยูเนียนแดวูจะพยายามเปิดโอกาสให้วิศวกรของไทยได้เข้าไปมีบทบาทในงานของบริษัทได้อย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่สงครามการแย่งชิงคนดีมีความสามารถในธุรกิจประเภทนี้ยังคงรุนแรงแสนสาหัสเช่นเดิม

อีกปัญหาหนึ่งที่ชองวิตกเป็นอย่างมากเช่นเดียวกันคือ การแข่งขันตัดราคาในวงการก่อสร้างที่ยังคงรุนแรงอยู่ตลอดมา จนดูเหมือนว่าทุกค่ายในวงการจะต้องเข้าไปตัดราคาด้วยจึงจะอยู่รอดได้

ซึ่งหากสถานการณ์บีบมากกว่านี้แล้ว ยูเนียนแดวูก็คงอดไม่ได้เช่นกันที่จะต้องเข้าไปร่วมในมหกรรมการตัดราคาด้วยอย่างช่วยไม่ได้

อย่างไรก็ตามชองมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยแนวทางการรับงานของแดวูในช่วงต่อไปที่จะหันไปรับงานภาคเอกชนมากขึ้น ในขณะที่จะไม่ทิ้งการรับงานราชการหรือสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะงานรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งทางแดวูบริษัทแม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ และมีความในใจจนได้ตั้งทีมศึกษาการเข้ามารับงานในไทยทางด้านนี้โดยเฉพาะ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประสบการณ์ของบริษัทรับเหมาจากเกาหลีก่อนหน้า แม้ว่าจะช่วยเตือนสติน้องใหม่ที่เข้ามาภายหลังให้ระมัดระวังตัวในการเข้ามารับงานให้จงหนักแล้วก็ตาม แต่การเลือกพันธมิตรหรือลูกค้าเจ้าของโครงการ ก็ดูจะเป็นเรื่องของโชคชะตาไปเสียแล้ว

ดูจากประสงการณ์ของรุ่นพี่บริษัทซัมซุง คอนสตรัคชั่น ที่ต้องมารับเคราะห์กรรมในการรับงานครั้งแรก คืออาคารสีลมพรีเชียส ทาวเวอร์ และโครงการรัตนโกสินทร์ ไอร์แลนด์ ก็ต้องเจอปัญหาหนักทั้ง 2 โครงการเสียแล้ว

ก็คงจะเป็นเครื่องเตือนสติยูเนียนแดวู ให้ระมัดระวังตัวอย่าปล่อยให้เกิดอาถรรพณ์ที่ว่า "หนทางของบริษัทรับเหมาเกาหลีจะต้องประสบปัญหาจนไปไม่ถึงฝั่งฝันแม้แต่รายเดียว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.