ดิสเคาน์สโตร์ เปิดเกมค้าปลีกรอบใหม่ ค้าปลีก-ค้าส่งวิ่งตามลิ้นห้อย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(13 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

*อิทธิฤทธิ์ดิสเคาน์สโตร์ ปั่นหัวยี่ปั๊ว ซาปั๊ว วิ่งตามลิ้นห้อย
*โมเดิร์นเทรด ฉีกตัวยกระดับจับลูกค้าเกรดบน
*ซัพพลายเออร์ โดดต่ออายุเส้นทางเทรดดิชั่น เทรด

หลังจากการใช้กลยุทธ์ด้านราคาควบคู่กับการขยายสาขา จนในที่สุดยักษ์ค้าปลีกโมเดิร์นเทรดก็เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตผู้บริโภคมากขึ้นแทนที่รูปแบบร้านค้าเก่าๆหรือ Traditional Trade ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องรวมตัวกันตั้งแต่ระดับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไปถึงโชห่วย รวมไปถึงซัปพลายเออร์หลายรายที่ถูกโมเดิร์นเทรดเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มเติมทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่ไม่สามารถขายแพงขึ้น จึงมีความพยายามในการร่วมมือกับช่องทางที่เป็น Traditional Trade หวังเปิดศึกคานอำนาจของดิสเคาน์สโตร์ไม่ให้มีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาดมากเกินไป

ในฟากของโมเดิร์นเทรดเองดูเหมือนไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องดังกล่าวมากนัก หากแต่ยังคงดำเนินกลยุทธ์ตามแนวทางเดิมๆในเรื่องของราคาและการขยายสาขา แต่มีจุดใหม่คือการล้างภาพลักษณ์เดิมๆที่มักถูกโจมตีจากคู่แข่งว่าขายสินค้าราคาถูกแต่คุณภาพไม่ดี ดังนั้นจึงมีความพยายามยกระดับภาพลักษณ์ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

ดิสเคาน์ฯปรับตัวขึ้นตลาดบน

จะว่าไปแล้วต้องถือว่าห้างดิสเคาน์สโตร์เหล่านี้พยายามยกระดับภาพลักษณ์ของตัวเองตั้งแต่ยุคของการทำสินค้าเฮาส์แบรนด์เนื่องจากสินค้าหลายรายการจ้างบริษัทใหญ่ที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคให้ผลิตให้ ซึ่งในยุคดังกล่าวถือได้ว่าเป็นยุค Smart Age ที่ผู้บริโภคมีความฉลาดในการเลือกซื้อ รู้จักเปรียบเทียบสินค้าก่อนซื้อ รู้ว่าแหล่งผลิตใดน่าเชื่อถือ ดังนั้นแม้จะเป็นเฮาส์แบรนด์แต่ถ้ามีการระบุว่าเป็นของผู้ผลิตรายใหญ่แล้วก็มักได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นการยกระดับสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจากการมีราคาถูกเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาสินค้าอุปโภคบริโภคในโมเดิร์นเทรดถือว่ามีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปอยู่แล้ว แต่สินค้าที่ทำให้โมเดิร์นเทรดถูกกล่าวขานในเรื่องราคามากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน โดยเป็นราคาที่ต่ำมากจนทำให้ผู้บริโภคยอมเสี่ยงที่จะซื้อสินค้าโนเนมดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสินค้าจากจีนมีทั้งดีและไม่ดี โดยเครื่องไฟฟ้าจีนส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในโมเดิร์นเทรดเป็นที่ยอมรับในเรื่องราคาแต่ยังขาดการยอมรับในเรื่องคุณภาพ จึงเป็นจุดที่คู่แข่งหยิบยกขึ้นมาโจมตีดิสเคาน์สโตร์บ่อยครั้ง

ล่าสุดเทสโก้ โลตัส พยายามยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการด้วยการปรับโฉมแผนกเครื่องไฟฟ้าใหม่โดยเริ่มจากสาขาพระราม 4 และจะกระจายไปสู่สาขาอื่นๆอีก 20 สาขาในปีหน้า โดยมีการเพิ่มไลน์อัพสินค้าระดับไฮแมสมากขึ้นเช่นแอลซีดีทีวี และพลาสม่าทีวีซึ่งปัจจุบันมีราคาลดลงมามาก และเทรนด์ของตลาดก็ไปในทิศทางดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ดีสินค้าที่นำมาจำหน่ายในโลตัสเป็นรุ่นที่มีความละเอียดของภาพไม่มากนัก และส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่มีราคาไม่ถึงหลักแสนบาท ซึ่งต่างจากดีลเลอร์ร้านไฟฟ้าและสเปเชียลตี้ สโตร์ อย่าง เพาเวอร์บาย และเพาเวอร์มอลล์ ที่เน้นสินค้าที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงมากกว่า แต่ก็มีไลน์อัพระดับรองลงไปให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ

คอนเซ็ปต์ใหม่ของแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าโลตัสคือ "ลองก่อนซื้อ" ซึ่งนอกจากจะมีไลน์อัพของสินค้าใหม่ที่อิงความเป็นแฟชั่นมากขึ้นแล้วยังมีการปรับปรุงบริการเช่นการมีเครื่องให้ลูกค้าได้ทดลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมถึงการเปลี่ยนระบบการให้บริการแก่ลูกค้าโดยพนักงานจะเข้าหาเวลาที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น จะไม่มีการเข้ามารุมลูกค้าเพื่อปิดการขายเหมือนในอดีต

ด้วยความที่มีสินค้าครบเครื่องทำให้โมเดิร์นเทรดมีคู่แข่งรอบด้าน นอกเหนือจากคู่แข่งที่เป็นเทรดดิชันนอลเทรด และดีลเลอร์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วก็ยังมีโมเดิร์นเทรดในเซกเมนต์อื่นๆที่เป็นคู่แข่งโดยตรงเช่นซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งในส่วนแผนกของสดของดิสเคาน์สโตร์ก็มักถูกโจมตีอีกเช่นกันว่าของมีราคาถูกแต่สดไม่จริง ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแผนกและหามาตรฐานรับรองเช่นสัญลักษณ์ Q ที่ออกโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนป้ายทองอาหารปลอดภัย ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในส่วนของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตได้รับการรับรองมาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะที่ดิสเคาน์สโตร์อื่นๆก็ทำตาม เช่น โลตัสเพิ่งได้รับการรับรองเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต พยายามสร้างความแตกต่างจากดิสเคาน์สโตร์โดยชูในเรื่องของคุณภาพสินค้า การทำ CRM กับลูกค้า ด้วยบัตร Spot Reward Card ซึ่งล่าสุดบิ๊กซีก็มีการทำบัตรสมาชิก Big Bonus ให้กับลูกค้าโดยเป็นเรื่องของการสะสมแต้มเพื่อแลกของรางวัลหรือสิทธิในการซื้อสินค้าราคาพิเศษต่างๆ

นอกจากจะชูเรื่องคุณภาพความสดสะอาดจากการรับสินค้าถึงแหล่งผลิตโดยตรงแล้ว ท็อปส์ ยังชูจุดขายในเรื่องของการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย พร้อมกับการจัดเทศกาลอาหารนานาชาติเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรมที่มากกว่าปีที่ผ่านมา ล่าสุดมีการจัดเทศกาลอาหารญี่ปุ่นโดยพุ่งเป้าไปที่ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในเมืองไทย ผู้บริโภคไทยที่ชอบอาหารญี่ปุ่น ตลอดจนชาวต่างชาติอื่นๆที่อาศัยในเมืองไทยและชอบอาหารญี่ปุ่น โดยท็อปส์ระบุว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวช่วยผลักดันให้ยอดขายโตขึ้นเป็นเท่าตัวและทำให้ท็อปส์ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทั้งชาวไทยและต่างชาติ

การปรับปรุงสาขาให้เป็น Neighborhood Store ก็เป็นอีกกลยุทธในการปรับภาพพจน์ เช่นสาขาย่านสุขุมวิทที่มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากก็จะมีการสร้างบรรยากาศให้เป็นร้านแบบญี่ปุ่นและมีรายการสินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมากกว่าสาขาอื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะของการ Customize ที่โลตัสได้ปรับปรุงแผนกเครื่องไฟฟ้าในบางสาขาที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น

ล่าสุดบรรดาดิสเคาน์สโตร์ก็พยายามยกระดับตัวเองอีกครั้งด้วยการโปรโมทสินค้านำเข้า เช่น โลตัสมีการทำแคมเปญ "สินค้านำเข้าคุณภาพ ราคาพิเศษ" International Range ในขณะที่คาฟูร์ก็มีการทำแคมเปญ International Food Fair ที่สาขาแจ้งวัฒนะ แต่สินค้าส่วนใหญ่ก็ยังคงไลน์อัพที่มีราคาไม่แพงมากนัก และความหลากหลายก็ยังไม่เท่ากับบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้านำเข้าอย่างท็อปส์ และฟู้ดแลนด์

สงครามรอบแรกดิสเคาน์สโตร์ห้ำหั่นจนคู่แข่งหลายรายต้องหายไปจากตลาดทั้งการทำราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดซึ่งก็ถูกโจมตีโดยผู้ประกอบการไทยซึ่งได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบการกำหนดราคาจำหน่ายมิให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงเพราะจะเข้าข่ายการทุ่มตลาดเพื่อฆ่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็ยังมีการเรียกร้องให้ภาครัฐควบคุมการขยายสาขาของดิสเคาน์สโตร์เหล่านี้เนื่องจากที่ผ่านมามีการเร่งขยายสาขาอย่างมากทำให้ธุรกิจข้างเคียงที่เปิดอยู่ก่อนหน้านั้นต้องปิดตัวลงไปหลายรายจึงเกรงกันว่าการกระจายสาขาของดิสเคาน์สโตร์จะทำให้คนไทยหมดอาชีพเลี้ยงตัวต้องไปเป็นลูกจ้างอย่างเดียว

กฎหมายผังเมืองที่มีการควบคุมการขยายสาขามีการพิจารณามาหลายรอบเพราะทั้งผู้ประกอบการไทยและฝ่ายดิสเคาน์สโตร์ต่างพยายามเจรจากับหน่วยงานรัฐเพื่อให้กฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด จนกระทั่งมีการประกาศใช้ล่าสุดโดยให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาว่าพื้นที่ใดเห็นควรให้มีการขยายสาขาได้หรือไม่ ซึ่งทำให้ดิสเคาน์สโตร์มีโอกาสเจรจาเพื่อขยายสาขาได้ง่ายขึ้น และมักจะเกิดปัญหาในการต่อต้านทุกครั้งล่าสุดมีการรวมตัวของผู้ประกอบการในหลายจังหวัดเพื่อรวมตัวประท้วงการขยายสาขาของเทสโก้ โลตัส

สำหรับสงครามในรอบนี้ฟากเทรดดิชันนอลเทรดถือว่าได้พี่เลี้ยงที่เป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่เข้ามาดูแลเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการออกกฎหมายที่จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตน ขณะที่ดิสเคาน์สโตร์ก็พยายามปรับตัวและยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นเพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้นตั้งแต่ระดับแมสไปถึงระดับบน เรียกได้ว่าเป็นการปรับเพื่อโต แต่เทรดดิชันนอลเทรดเป็นการปรับตัวเพื่อหนีตายจึงต้องใส่ความพยายามที่มากกว่า แต่ด้วยสายป่านที่สั้นเพียงนิดเดียวจึงเป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะดิสเคาน์สโตร์ อย่างเก่งในวันนี้คงทำได้แค่เพียงมีสินค้าตอบสนองผู้บริโภคในราคาที่สู้กับโมเดิร์นเทรดได้ แต่ความหลากหลายของสินค้ายังคงเป็นข้อจำกัดที่จะสู้กับห้างขนาดใหญ่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้อได้เปรียบของดิสเคาน์สโตร์เสียทีเดียว เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ดิสเคาน์สโตร์มีคู่แข่งรอบด้าน การปรับตัวจึงต้องทำมากกว่า และต้องทำรอบด้าน ไม่ให้เกิดช่องโหว่ที่คู่แข่งจะโจมตีได้

ซัพพลายเออร์อุ้มโชห่วย คาน โมเดิร์นเทรด

ด้านเทรดดิชั่น เทรด ที่ได้รับการต่อลมหายใจอีกครั้ง หลังซัพพลายเออร์ยักษ์ใหญ่หันมาให้ความสำคัญอุ้มยี่ปั๊ว-ซาปั๊วเพื่อรับมือกับเชนโมเดิร์นเทรดที่เริ่มแผ่อิทธิพลด้านลบ จนส่งผลกระทบอย่างจังต่อซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะการเก็บค่าธรรมเนียมที่ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรกเข้า ค่าขนส่ง ค่าชั้นวาง แม้แต่การปรับปรุงสินค้าเดิมให้มีรูปโฉมใหม่ ซัพพลายเออร์ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่มากถึง 2 เท่า เพื่อแลกกับการนำขึ้นชั้นวางแทนสินค้าเก่า รวมถึงการพัฒนาเฮ้าส์แบรนด์ออกมาแข่งกับตราสินค้าสร้างความอึดอัดใจให้กับซัพพลายเออร์ไม่น้อย ทั้งนี้ แม้ในระยะหลังภาครัฐจะออกกฎหมายผังเมืองออกมาจำกัดในการขยายสาขาของกลุ่มโมเดิร์นเทรด เพื่อไม่ให้กระทบต่อกลุ่มค้าปลีก-ส่งไทยก็ตาม ทว่า วิธีดังกล่าวก็ดูเหมือนจะมีช่องโหว่ที่เอื้อให้ทุนต่างชาติเหล่านั้นหาทางมุดลอดออกจากกรอบได้เช่นเดิม

"ทางโมเดิร์นเทรดจะไม่สนใจว่านั่นคือสินค้าใหม่ หรือสินค้าเก่า แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ถือว่า นั่นคือสินค้าใหม่ ซึ่งซัพพลายเออร์ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกครั้ง" เป็นคำกล่าวของ สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ซัพพลายเออร์หลายราย เช่น ยูนิลีเวอร์ สหพัฒน์ พีแอนด์จี เริ่มตระหนักและหันมาให้การสนับสนุนร้านค้าปลีกรายย่อยอย่างร้านโชห่วย หรือยี่ปั๊ว-ซาปั๊วอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากที่บรรดาร้านค้าปลีกดั้งเดิมเหล่านี้ต้องเผชิญกับอำนาจและต่อสู่กับกลุ่มทุนข้ามชาติในรูปแบบโมเดิร์นเทรดมานานกว่า 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีจำนวนไม่น้อยต้องล้มหายไป เพราะไม่สามารถทนแรงเสียดทานของเงินทุนเทคโนโลยีได้ และจากการเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่ของซัพพลายเออร์ในครั้งนี้ ทำให้เชื่อกันว่าอีกไม่นานยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว และร้านค้าปลีกรายย่อยจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในไม่ช้า

นายกสมาคมค้าปลีก-ส่ง กล่าวอย่างมั่นใจว่า นับจากนี้อีก 1- 2 ปี ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว รวมถึงร้านค้าปลีกย่อยจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะบรรดากลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ ได้ปรับกลยุทธ์ช่องการการจำหน่ายใหม่ ด้วยการเพิ่มบทบาทและพัฒนาช่องทางการจำหน่ายในกลุ่มร้านค้าย่อยและยี่ปั๊ว-ซาปั๊วมากขึ้น ให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มธุรกิจปลีกโมเดิร์นเทรด และดิสเคาท์สโตร์ได้

ล่าสุด ความเคลื่อนไหวในการต่อสู้กับโมเดิร์นเทรดเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อบรรดาซัพพลายเออร์ทั้งหลายให้การสนับสนุน โครงการ "ขึ้นป้ายสินค้าราคาถูกพลังการค้าไทย" ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ภายใต้ชมรม "พลังการค้าไทย" โดยร้านค้าปลีกที่เป็นสมาชิกกับสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย จำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ จะการันตีความถูกของสินค้า และโครงการ "จัดมหกรรมสินค้าราคาถูก" ซึ่งเดิมทั้ง 2 โครงการ จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ทว่า ทางสมาคมได้มีการเลื่อนออกไป เนื่องจากกลุ่มซัพพลายเออร์ที่เข้าร่วมสนับสนุนจำนวน 6 - 7 ราย ต้องการวางแผนให้เป็นโครงการระยะยาว ทั้งนี้ โครงการขึ้นป้ายราคาถูกจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ โดยเบื้องต้นจะมีร้านค้ายี่ปั๊วขึ้นป้ายจำนวน 30 แห่งก่อน จากจำนวนทั้งหมด 60 แห่งทั่วประเทศ

ขณะที่ โครงการมหกรรมสินค้าราคาถูกจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม และจัดเป็นเวลา 2 เดือน จากเดิมที่จะจัดเพียง 1 เดือนเท่านั้น พร้อมเพิ่มจำนวนพื้นที่ในการจัดด้วยเป็น 10 แห่ง จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 5 แห่ง เช่น ราชบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายภายในงานจะมีราคาถูกกว่าปกติ 20 - 50% พร้อมทั้งยังมีโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ซึ่งเป็นกลยุทธ์เดียวกันกับของโมเดิร์นเทรดในการกระตุ้นและดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาช่องทางร้านค้าโชห่วยไม่สามารถใช้กลยุทธ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์ในเรื่องราคาสินค้า ต่างจากกลุ่มโมเดิร์นเทรดที่อาศัยการสั่งสินค้าจำนวนมากมาเป็นข้อต่อรองกับซัพพลายเออร์ ในการต่อรองซื้อสินค้าในราคาที่ถูกกว่า จนเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ค้าปลีก-ส่งไทยหลายรายต้องปิดตัวไป

นับเป็น ความชัดเจนอีกครั้งในการรวมตัวของกลุ่มค้าส่ง-ปลีกไทย ในการต่อกรกับค้าปลีกเชนต่างชาติ ที่ครั้งนี้เริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น โดยมีบรรดาผู้ประกอบการสินค้าเป็นกำลังสนับสนุนสำคัญ เพราะไม่เพียงแต่การช่วยเหลือด้านต้นทุนราคาสินค้าเท่านั้น ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่นๆมาช่วยสร้างสีสันด้วย เช่น การจัดโปรโมชั่นกับเจ้าของร้าน การออกสินค้าขนาดเล็กที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าขนาดเล็กมากขึ้น การช่วยเหลือด้านการบริหารสต๊อกให้กับร้านค้า อาทิ ค่ายสหพัฒน์ นำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารสต๊อกให้กับร้านค้ารายใหญ่ ซึ่งทางสหพัฒน์ตั้งเป้าเบื้องต้นให้มีร้านค้าขนาดใหญ่ทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 100 แห่ง

"สหพัฒน์ต้องการบาลานซ์สัดส่วนการขายทั้งโมเดิร์นเทรดและเทรดดิชั่นนอลเทรดให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งมีราคาจำหน่ายในระดับเดียวกันด้วย ซึ่งบางร้านในต่างจังหวัดมียอดขายปีละ 3-4 พันล้านบาท ทำให้ต้องบริษัทดูร้านค้าเหล่านี้เหมือนเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขา ซึ่งเขาก็จะทำหน้าที่เชื่อมโยงกับร้านเล็กๆด้วย" บุญชัย โชควัฒนา กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าว

แม้แต่ ผู้ผลิตสินค้ายักษ์ใหญ่อย่าง ยูนิลีเวอร์ ซึ่งที่ผ่านค่อนข้างให้ความสำคัญกับการผูกมิตรกับโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก ก็หันมาให้ความสำคัญกับช่องทางเทรดดิชั่นนอลเทรดเป็นรายแรกๆเช่นกัน อาทิ การเข้าเจรจาซื้อพื้นที่วางสินค้าภายในร้านและทำสัญญาซื้อที่โฆษณาในร้านค้า โดยตอบแทนด้วยเงินรางวัลหากร้านค้าย่อยเหล่านั้นสามารถจัดเรียงสินค้าบนชั้นปกติตามแผนผังมาตรฐานในรายการที่ยูนิลีเวอร์กำหนด ตัวอย่างเช่น การจัดเรียงสินค้า 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย แชมพูและครีมนวดผลไม่น้อยกว่า 45% โลชั่นบำรุงผิวไม่น้อยกว่า 48% ผลซักฟองสูตรธรรมดาและผงซักฟองสูตรเข้าข้นไม่น้อยกว่า 47% และ 66% ตามลำดับ และน้ำยาปรับผ้านุ่มไม่น้อยกว่า 30% ทางร้านค้าจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 70,000 บาท ขณะที่หากเป็นกลุ่มสินค้าเลือก ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ซึ่งจะต้องมีสัดส่วนการวางบนชั้นปกติไม่น้อยกว่า 54% สบู่ก้อนและสบู่เหลวไม่น้อยกว่า 28% และ 33% จะไดรับเงินรางวัล 30,000 บาท

จะเห็นว่า การนำระบบบริหารพื้นที่จัดเรียงสินค้าในร้านค้าย่อย (Shelf Space Management) นอกจากเป็นการสร้างรายได้ให้กับยูนิลีเวอร์แล้ว ด้านร้านค้าเหล่านั้นก็จะได้รับผลประโยชน์จากการมียอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่กดดันให้ซัพพลายเออร์ต้องออกโรงมาหนุนเทรดดิชั่นนอลเทรดอย่างเต็มตัวในครั้งนี้ เป็นไปได้ว่าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับเหล่าร้านค้าย่อยเหล่านี้ให้มีความสามารถสู้กับทุนต่างชาติได้มากขึ้น แต่ ตราบใดที่ภาครัฐยังไม่มีกฎมายออกมาควบคุมการแข่งขันในสมรภูมินี้ เชื่อว่า ผู้ที่มีทุนมากย่อมเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่เช่นเดิม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.