ยอด NPL ไตรมาส 2 เพิ่ม 2 หมื่นล้าน ภาคอุตฯ-อุปโภคบริโภคครองแชมป์


ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.เผย ยอดเอ็นพีแอลแยกตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยเอ็นพีแอลทุกประเภทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยกลุ่มรีเอ็นทรีมียอดหนี้เอ็นพีแอลพุ่งสูงถึง 70% โดยเฉพาะภาคการเงินเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นถึง 462.89% เหตุลูกค้าจากสถาบันการเงินได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้มีปัญหาการผิดนัดชำระค่างวดมากขึ้น กลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่อีกรอบ

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.ได้รายงานข้อมูลยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบแยกตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่า ภาคธุรกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจมียอดเอ็นพีแอลจำนวนทั้งสิ้น 71,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,121 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกที่มีอยู่ 52,549 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36.39% โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมมียอดเอ็นพีแอลมากที่สุดถึง 28,988 ล้านบาท รองลงมาภาคพาณิชย์มีอยู่ 13,433 ล้านบาท และภาคอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 10,679 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่ในไตรมาส 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 42,197 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 8,501 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.23% ซึ่งทุกภาคธุรกิจล้วนมีอัตราการเพิ่มเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่ โดยภาคอุตสาหกรรมเป็นเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นใหม่มากที่สุดถึง 14,424 ล้านบาท รองลงมาภาคพาณิชย์ 7,588 ล้านบาท และภาคอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 7,591 ล้านบาท ขณะเดียวกันภาคก่อสร้างก็มีเอ็นพีแอลเกิดขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นสูงถึง 3,286 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีแค่ 1,921 ล้านบาท ส่วนภาคบริการในไตรมาสนี้กลับมีเอ็นพีแอลเกิดใหม่ลดลงอย่างมากถึง 1,141 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สำหรับกลุ่มเอ็นพีแอลที่เคยปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จแล้วกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่ (รีเอ็นทรี) มีจำนวนทั้งสิ้น 22,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,417 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 70% โดยภาคอุตสาหกรรมมีมากที่สุด 11,704 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีอยู่แค่ 2,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,744 ล้านบาท หรือคิดเป็น 295.41% รองลงมาธุรกิจการเงินมีเอ็นพีแอลในกลุ่มนี้มากถึง 546 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 449 ล้านบาท คิดเป็น 462.89% และภาคอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่มีอยู่ 2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 671 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างมากจากไตรมาสก่อนที่มีอยู่ 3,021 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2 กลับอยู่ที่ 618 ล้านบาท หรือลดลง 2,403 ล้านบาท ลดลงเกือบ 80% ภาคบริการลดลง 1,463 คิดเป็น 184.49%

นอกจากนี้ยังมีเอ็นพีแอลกลุ่มอื่นๆ ที่มีอยู่ 6,581 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 1,203 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22.37% โดยภาคอุตสาหกรรมมีเอ็นพีแอลกลุ่มนี้มากที่สุดถึง 2,860 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 411 ล้านบาท รองลงมาภาคพาณิชย์เพิ่มขึ้น 2,680 ล้านบาท เทียบไตรมาสก่อน และภาคธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ลดลง 316 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอ็นพีแอลในกลุ่มรีเอ็นทรีที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และภาคธุรกิจต่างๆ ต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น มีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงิน และภาคอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมียอดหนี้กลุ่มนี้กลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้งจากผลกระทบดังกล่าว โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจการเงิน ที่ลูกค้ามียอดหนี้ในกลุ่มรีเอ็นทรีพุ่งสูงสุด ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาระการผ่อนค่างวดยากลำบากมากขึ้น

ประกอบกับก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เกิดจากลูกหนี้การค้าของธนาคารพาณิชย์จำนวน 2-3 รายเป็นสำคัญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.