|
บัวทองฯ ชูคอนเซ็ปต์ 'ชัวร์โฮม'
ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นายรังสรรค์ หวังไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทบัวทองเตรียมออกแคมเปญใหม่ "ชัวร์โฮม" เพื่อเป็นการการันตีการบริหารงานขายให้แก่ผู้ประกอบการว่า หากโครงการที่บริษัทรับบริหารงานขายและการตลาดให้จะต้องประสบความสำเร็จ และสำหรับผู้ซื้อบ้านเอง จะได้บ้านที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ บริษัทจะปรับรูปแบบการบริหารงานขายใหม่ โดยจากเดิมจะมี 2 รูปแบบคือ การบริหารงานขายและการตลาด คิดค่าบริหารประมาณ 5-6% รูปแบบที่ 2 เป็นการบริหารงานขายเพียงอย่างเดียว คิดค่าบริหารประมาณ 3% แต่ที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาและข้อยุ่งยากในการทำการตลาด หากผู้ประกอบการเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่าย จะทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนเพิ่ม หรือมีแนวคิดการทำตลาดที่แตกต่างกัน
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว บริษัทจึงได้ตัดปัญหาด้วยการรับบริหารงานขายและการตลาดเพียงอย่างเดียว เพื่อจะได้วางแผนการตลาดได้อย่างถูกต้องและกล้าที่จะลงทุนในการทำการตลาด เพราะในส่วนนี้บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเอง ซึ่งผู้ขายจะเข้าใจการตลาดได้ดีกว่า
นอกจากนี้ บริษัทยังจะตรวจสอบโครงการที่เข้าไปรับบริหารงานขายให้ละเอียดมากขึ้น ทั้งในเรื่องของราคา, สินค้า, ทำเลที่ตั้ง และเงินทุนของผู้ประกอบการว่า จะสามารถสร้างโครงการจนแล้วเสร็จโดยไม่ส่งผลต่อผู้ซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้าน หรือได้บ้านไม่มีคุภาพภายใต้การบริหารงานขายของบริษัท และถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทได้อีกทางหนึ่ง
"บริษัทบัวทองฯ ต้องเข้มกับโครงการที่ไม่ได้คุณภาพออกไป เดือนที่แล้ว 1-2 ราย และเริ่มคุยกับลูกค้าไปบ้างแล้วว่าเราจะรับบริหารให้ทั้งการขายและการตลาด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ แต่ในบริษัทขนาดใหญ่หรือที่เป็นมืออาชีพอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องการมาเสียในส่วนของค่าการตลาดเพิ่มให้เรา ตรงนี้ก็ไม่เป็นไร บางรายที่ไม่มีงบตรงนี้ไว้ก็ถูกตัดออกไป" นายรังสรรค์กล่าว
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้เข้าไปทำความเข้าใจกับผู้บริหารของธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งลูกค้าสินเชื่อของธนาคารถือเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยปัจจุบันมีประมาณ 10-15% โดยบริษัทได้ชี้แจงถึงแนวทางการบริหารการขายและการตลาด เนื่องจากที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดในหลายเรื่องโดยเฉพาะโครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งผู้ประกอบการมักโทษว่าเป็นความผิดจากผู้ขาย แต่บางโครงการไม่มีศักยภาพ และคุณภาพทำให้ขายไม่ได้ ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวลงลึกไปถึงรายโครงการ ซึ่งผู้บริหารธนาคารฯได้รับทราบแล้ว
"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการพูดอย่าง เราพูดอย่างแบงก์ก็ไม่เข้าใจเรา แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าแบงก์ให้เข้าไปร่วมวางแผนและใส่เงินค่าการตลาดหรือเงินลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาสินค้าหรือแก้ไขจุดบกพร่องของโครงการให้สามารถขายออกไปได้ และตอนนี้ก็กลายเป็น 3 ปาร์ตี้ คือ ผู้ประกอบการ ธนาคาร และผู้บริหารงานขายต้องร่วมกันวางแผนเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ" นายรังสรรค์กล่าว
สำหรับผลประกอบของกลุ่มบริษัทในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มียอดขาย 1,700 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดี่ยวกันของปี 2548 ประมาณ 10% โดยมียอดขาย 1,900 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยอดขายดังกล่าวถือว่าไม่เลวร้ายนักเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการจำนวนมาก ได้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างมากขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะเป็นกลุ่มฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่สุด แต่หากสินค้าที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณมากก็อาจทำให้น่าวิตก ซึ่งควรต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|