|

ธปท.คงดอกเบี้ยย้ำเศรษฐกิจยังดี
ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไว้ที่ระดับ 5% ต่อปี เช่นเดิม เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังปรับตัวได้ดีทั้งด้านเสถียรภาพและการเจริญเติบโต ซึ่งอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าว ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หากอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างชัดเจน และภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับหากปัญหาการใช้จ่ายและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมีผลจากการปัญหาการเมืองไม่มากนักก็อาจมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปได้
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยคงไม่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงมาในเดือนกรกฎาคม และลดลงมากๆ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเอง การจะเปลี่ยนแปลงทิศทางอัตราดอกเบี้ยต้องให้อัตราเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากกว่า 2 เดือน ประกอบกับเศรษฐกิจชะลอกว่าที่ธปท.คาดไว้ ซึ่งจากการประกาศตัวเลขของสภาพัฒน์ที่ผ่านมาดีกว่าที่แบงก์ชาติประมาณไว้ นอกจากนี้เรื่องปัญหาการเมืองหากไม่มีผลทำให้การใช้จ่ายและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดลงก็เป็นส่วนที่มีผลต่อเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ยน้อยมาก” นางอัจนากล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการมองว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังคงขยายตัวได้แม้ว่าอัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากการใช้จ่ายภายในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง แต่คงไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะต่อไปมากนัก เนื่องจากภาคการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจไทยดีอยู่
ขณะเดียวกัน ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นผลจากอัตราเงินเฟ้อลดลงและดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล แม้ราคาน้ำมันลดลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่และเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังต่อไป จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเมืองระดับประเทศและการก่อการร้ายสามารถดึงให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ในการประเมินราคาน้ำมันครั้งนี้อยู่ที่ 69 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ในรายงานเงินเฟ้อ ซึ่งการประมาณการน้ำมันข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงกับที่ธปท.ประมาณการไว้ยังอยู่ที่ระดับไม่สูงมาก
นางอัจนา กล่าวว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มีทิศทางเดียวกันหรือเกาะติดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่หากราคาน้ำมันในต่างประเทศเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นตาม และมีผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย การปรับดอกเบี้ยของไทยจะเป็นไปตามแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศไทยมากกว่า ดังนั้นยืนยันว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในและนอกประเทศในระดับ 0.25-0.5% ไม่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนมากนัก
“แบงก์ชาติเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่กำหนดกรอบไว้ที่ระดับ 0-3.5% แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2-3% จะหลุดจากเป้าหมายนั้นน้อยมาก ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อภาคธุรกิจต้องใช้ระยะเวลาเกือบปีครึ่ง เพราะหากมีธนาคารพาณิชย์มีการปรับอัตราเงินกู้หรือเงินฝากกว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหรือทำให้อัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร”
นายเกริกไกร จิระแพทย์ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินเป็นการมองภาพเศรษฐกิจอนาคตนั้น ไม่ได้เป็นการมองเพียงระยะสั้น แต่ต้องมองในระยะ 6 เดือน และ 12 เดือน โดยแม้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ปรับลดลง แต่ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ เพราะภายหลังราคาน้ำมันอาจจะปรับขึ้นลงวูบวาบได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ผลิต และกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
นอกจากนี้ สิ่งที่ตนเองรู้สึกเป็นห่วงคือ ควรให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำให้กำไรในรูปเงินบาทลดลง ซึ่งผู้ส่งออกควรจะต้องปรับตัวด้วยการปรับโครงสร้างการผลิตให้มีต้นทุนลดลง
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5% นั้น เป็นการตัดสินใจที่สะท้อนว่าสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้ปรับสูงขึ้นอีก และเริ่มลดลงแล้ว แต่การคงดอกเบี้ยครั้งนี้ คงยังไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชนทันที ซึ่งต้องรอดูระดับการลดลงของเงินเฟ้อและวิเคราะห์พื้นฐานการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศต่อไปอีกระยะ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย จะอยู่ระดับใด ขึ้นกับการพิจาณาของ ธปท. แต่มั่นใจว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะต้องปรับลดลงต่อเนื่อง แต่จะลดลงเร็วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ยังมีความผันผวน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|