ศาลปค.รับคำฟ้องแปรรูปปตท.


ผู้จัดการรายวัน(7 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาลปกครองสูงสุด รับคำฟ้องคดีที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้อง ครม. และ “ทักษิณ-วิเศษ” และให้เพิกถอนพ.ร.ฏ. การแปรรูปปตท. รวม 2 ฉบับ พร้อมเตือนผู้เกี่ยวข้องระมัดระวังการแสดงความเห็นที่อาจจะเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล ด้านตัวแทนมูลนิธิฯ ย้ำรัฐบาลต้องรับผิดชอบหากต้องใช้เงินกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนหุ้นปตท. ขณะที่รักษาการขุนคลัง ออกโรงป้องตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ละเมิดศาล แต่เป็นการให้ข้อมูล พร้อมเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเดินหน้าต่อไป ด้านคตง.หักคุณหญิงจารุวรรณ ดึงดันตั้งทีมที่ปรึกษากฎหมายจ้องล้มผลสอบกรมสรรพากรช่วยโกงภาษีดีลชินคอร์ป

รายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุด วานนี้ (6 ก.ย.) แจ้งว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 ก.ย. 2549 รับคำฟ้องที่มูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เป็นโจทก์ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิฯ และน.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ส.ว.กทม. ที่ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และนายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวม 3 คน

โดยคำฟ้องได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) กำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพ.ร.ฏ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมาย ว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 โดยกำหนดให้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และมีคำสั่งลงวันที่ 6 กันยายน 2549 ให้ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน จัดทำคำให้การแก้คำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว

ขณะเดียวกัน คำสั่งดังกล่าวได้ระบุว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว ขอให้ผู้เกี่ยวข้องพึ่งงดเว้น และระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น การนำเสนอข่าวหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเป็นการชี้นำ การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอันอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ

ด้านน.ส.สารี กล่าวภายหลังที่ศาลรับคำฟ้องว่า มูลนิธิฯ จะได้เตรียมในเรื่องของข้อมูลเพิ่มเติม เพราะคำฟ้องที่ยื่นไปนั้นเสนอในประเด็นหลักการเยอะ แต่ยังขาดในเรื่องของรายละเอียด รวมทั้งจะขอดูคำให้การของการแก้คำฟ้องของครม. นายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ที่ส่งให้ศาลปกครองสูงสุดว่า จะมีคำคัดค้านหรือแย้งในประเด็นใดหรือไม่

“รู้สึกขอบคุณที่ศาลรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณา และขณะนี้ไม่อยากให้ทางฝ่ายรัฐบาลออกมาพูดในลักษณะว่า หากจะมีการนำปตท.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น รัฐจะต้องสูญเงินงบประมาณในการซื้อคืนจำนวนมาก ควรจะรอคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดก่อนว่าจะออกมาอย่างไร เพราะถ้าออกมาแล้วทุกฝ่ายก็จะต้องปฏิบัติตาม ใครที่เป็นคนผิดก็จะต้องรับผิดชอบ”

ด้าน น.ส.รสนา กล่าว่า เรื่องนี้ขั้นตอนยังอยู่ในกระบวนการของศาล ดังนั้นควรที่จะรอฟังคำพิจารณาของศาล โดยหลังจากนี้ตนได้รับการประสานจากรายการโทรทัศน์และสื่อมวลชน เพื่อชี้แจงถึงข้อมูลในการแปรรูปปตท. ซึ่งอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีข้อมูลนำข้อมูลมายันกันว่า ฐานะปตท.ควรอยู่ตรงไหนระหว่างรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะต้องรับมากที่สุด

ทั้งนี้ หากศาลมีคำวินิจฉัยให้การแปรรูปปตท.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนและให้ปตท.กลับมาอยู่ในการครอบครองของรัฐนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ผลักดันให้มีการแปรรูปปตท.

“การซื้อหุ้นคืนรัฐบาลต้องซื้อคืนอย่างแน่นอน แต่ต้องซื้อในราคาพาร์ เพราะที่ผ่านมา 4-5 ปี ผู้ถือหุ้นได้กำไรไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายต้องมาตกลงกัน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ การที่จะให้รัฐบาลควักเงินออกจากกระเป๋า ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ไปซื้อหุ้นในราคาตลาด ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นก่อนจะถึงกระบวนการดังกล่าว เราควรเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนดีกว่า”

น.ส.รสนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคตน่าจะมีกฎหมายที่ควรเอาผิดกับผู้นำ และผู้ที่ใช้อำนาจทางกฎหมายดำเนินการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะนักการเมืองที่ชอบรับผลประโยชน์ แต่ไม่มีความรับผิดชอบ

“เราจะต้องเอาผิดกับผู้นำที่มักจะรับแต่ชอบแต่ไม่รับผิด คือเมื่อกระทำผิดแล้วมักจะลาออกอ้างเป็นการรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะเมื่อรับผิดแล้ว ต้องรับผิดชอบในส่วนที่เสียหายด้วย ดังนั้นในกรณีของปตท. ผู้ที่ผลักดันให้ปตท.เข้าตลาดหุ้น ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น”

ทนงยันเดินหน้าแปรรูปรสก.

ด้านนายทนง พิทยะ รักษาการ รมว.คลัง ให้ความเห็นกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุดเพื่อชี้แจงผลกระทบถ้าหากศาลจะเพิกถอนหุ้นปตท. PTT ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้มูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ลดลงถึง 6 แสนล้านบาท ว่าคงไม่เป็นการชี้นำศาลแต่อย่างใด เป็นเพียงการชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น พร้อมยืนยันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจต้องเดินหน้าต่อไป แต่ต้องดำเนินการคำสั่งของศาลและตามขั้นตอนอย่างถูกต้องโปร่งใส

โดยก่อนหน้านี้ นายวิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำหนังสือไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่ออธิบายถึงผลกระทบหากมีการถอดถอนปตท.ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน จะส่งผลกระทบในวงกว้างและร้ายแรงต่อตลาดหุ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากบริษัทปตท.เป็นหลักทรัพย์ที่สำคัญ เพราะเป็นหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมหรือมาร์เกตแคปขนาดใหญ่ และจะมีผลต่อการเข้าจดทะเบียนของหลักทรัพย์รายอื่นๆ อีกด้วย

ขณะที่ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปตท. ยังคงสถานะในการเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 68% และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการบริหารงานอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการบริหารงานเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย รวมถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างเต็มที่ พร้อมระบุว่าหากถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้มาร์เกตแคปตลาดหายไปประมาณ 6 แสนล้านบาท จากมาร์เกตแคปตลาดรวมอยู่ที่ 5 ล้านล้านบาท

สำหรับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. ได้ออกมาแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการกระทำของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ว่า ปตท.แปรสภาพเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้วไม่น่าจะเดินถอยหลัง และยังนึกไม่ออก ถ้าหากให้ ปตท.เข้ามาเป็นรัฐวิสาหกิจใหม่จะมีมาตรการอะไรรองรับ เนื่องจากมีการกระจายหุ้น ปตท.ไปให้นักลงทุนต่างประเทศด้วย

“หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนหุ้นปตท. ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าปตท.จะต้องใช้เงินประมาณ 3.61 แสนล้านบาท ทำค่าเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อย (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ในราคาหุ้นละ 272 บาท ขณะที่ตอนนำหุ้นเข้าตลาดปตท.ได้เงินเพียง 2.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น”

ด้านผลการดำเนินงานล่าสุด ประจำไตรมาส 2 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 ปตท. มีกำไรสุทธิ 31,658.15 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 11.32 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 18,354.68 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 6.56 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13,303.47 ล้านบาท คิดเป็น 72.48%

ขณะที่งวด 6 เดือน กำไรสุทธิ 55,380.94 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 19.80 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 44,350.58 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 15.86 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 11,030.36 ล้านบาท คิดเป็น 24.87%

คตง.หักคุณหญิงจารุวรรณดึงดันตั้งทีมที่ปรึกษาฯ

ในวันเดียวกัน นายเกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูร กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการประชุมของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)วานนี้ (6 ก.ย.) ว่า ในที่ประชุมไม่ได้หยิบยกวาระที่นายนรชัย ศรีพิมล ประธานคตง.ได้เสนอให้ตั้งอนุกรรมการที่ปรึกษาทางกฎหมาย คตง. เพราะคตง.ได้เห็นชอบไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เพราะคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้จึงเสนอให้ คตง. แต่ละคนชี้แจงเหตุผลว่าเพราะเหตุใดถึงต้องการให้บุคคลทั้ง 7 เป็นคณะอนุกรรมการ

“ระหว่างที่ คตง. บางคนกำลังชี้แจงเหตุผลอยู่นั้น นายนรชัย ได้พูดตัดบทขึ้นมาว่าให้ยกเลิกการชี้แจงดังกล่าว โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าให้คุณหญิงจารุวรรณทราบไว้ว่า คตง. มีความต้องการแต่งตั้งเท่านั้น และทำการเปลี่ยนไปพิจารณาเรื่องอื่นๆ แทน” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ คตง.อ้างว่า การแต่งตั้งอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ไม่ได้แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาการตรวจสอบการเก็บภาษีของกรมสรรพากรกรณีซื้อขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นเท่านั้น แต่คตง. มีวาระที่ต้องใช้การพิจารณาทางข้อกฎหมายมาก ซึ่งการที่จะไปปรึกษาแต่สำนักกฎหมายของ สตง. เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักกฎหมาย สตง. ก็เคยทำการให้คำปรึกษาผิดพลาด จนทำให้นายปัญญา ตันติยวรงค์ อดีตประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ถึงขั้นติดคุก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายนรชัย ได้เสนอให้คุณหญิงจารุวรรณเห็นชอบให้ คตง. สามารถแต่งตั้งข้าราชการจาก สตง. เข้ามาเป็นเลขาของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาชุดดังกล่าวเองได้ ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณมองว่านายนรชัยอาจจะแต่งตั้งบุคคลที่สนิทสนมกับตัวเองมาเป็นเลขาคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวนั่นเอง

“ขณะนี้ผมคิดว่าคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาข้อกฎหมาย คตง. คงต้องเกิดขึ้นแน่ๆ เพียงแต่ต้องให้ประธานคตง.และผู้ว่าสตง.สร้างความชัดเจนและหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวให้เป็นที่พึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้เท่านั้น ดังนั้นรายชื่อที่ถูก คตง. เสนอให้มาเป็นคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวทั้ง 7 ท่าน ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งคุณหญิงจารุวรรณก็อาจจะเป็นผู้เลือกบุคคลที่จะเข้ามาเป็นเลขาในคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวได้ด้วย”นายเกรียงศักดิ์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.