"ศึกธุรกิจมอเตอร์โชว์ร้อยล้านวัดกันที่คอนเซปท์คาร์หรือยอดขาย"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

งานมอเตอร์โชว์ที่สวนอัมพรของปราจิณ เอี่ยมลำเนา เจ้าของบริษัทกรังด์ปรีซ์อินเตอร์เนชั่นแนล ได้จุดพลุช่องทางจำหน่ายรถยนต์ จนกลายเป็นธรรมเนียมของวงการธุรกิจนี้ไปแล้วว่า สำหรับผู้ที่จ้องจะซื้อรถใหม่หรือนักเลงรถที่อยากดูรถต้นแบบจริงๆ ต้องมางานมอเตอร์โชว์

"มันเริ่มจากผมจัดงานคาร์ออฟเดอะเยียร์เลียนแบบต่างประเทศ ประกวดและโชว์รถที่โรงแรม ทำอยู่ 2-3 ปีหมุนจัดตามโรงแรมจนกระทั่งมีความคิดว่าน่าจะจัดโชว์รถแล้วเก็บค่าบัตร ตอนแรกกะว่าคนจะไม่ค่อยมาก แต่ผิดคาดคนมาดูกันแน่น เรามอบเงินค่าผ่านประตูให้มูลนิธิดวงประทีบถึง 2 แสนบาทจากค่าบัตรใบละ 5 บาท" นี่คือจุดเริ่มต้นงานมอเตอร์โชว์ที่ปราจิณเล่าให้ฟัง ปัจจุบันค่าบัตรเพิ่มเป็น 30 บาท

ตลอดระยะเวลา 14 ปี วัตถุประสงค์การจัดงานมอเตอร์โชว์ ยังมีลักษณะ "เทรดแฟร์" มากกว่าแสดงเทคนิคยนตรกรรมขั้นเยี่ยมแบบงานมอเตอร์โชว์ระดับโลก ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตและออกแบบรถยนต์แต่เป็นแค่โรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์เท่านั้น

งานนำเข้ารถต้นแบบหรือทอปคาร์จากเมืองนอกมาแสดงในไทยนั้น กล่าวกันว่าเป็นเรื่องที่บริษัทแม่ยินดีจะนำมาแสดงเพียงแต่กระบวนการนำเข้าและค่าใช้จ่ายด้านขนส่งและประกันภัยในวงเงิน 50,000-100,000 บาท ทางผู้จัดงานต้องยินยอมควักกระเป๋าจ่ายบ้าง

แต่จนแล้วจนรอดผู้ซื้อบัตรเข้าชมงานก็ยังไม่จุใจเพราะมีโชว์รถต้นแบบไม่กี่รายเอง การคัดเลือกรถแต่ละรุ่นที่มาแสดงในงานนี้มีเจตจำนงขายรถมากกว่าเจตนาที่จะยกระดับคุณภาพสินค้าให้คุ้มกับคุณภาพชีวิตคนไทย

ดังนั้นเมื่อนโยบายเปิดเสรี-ลดภาษีนำเข้ารถยนต์สมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ก็ทำให้งานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 13 ฟูเฟื่องสุดขีด ยอดจองรถใหม่ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่น้อยพุ่งสูงพรวดพราด จากแรงอั้นที่ผู้บริโภครอดูรถใหม่ที่จะมีมาโชว์ในงานนี้ โดยเฉพาะค่ายมิตซูบิชิที่ได้รับยอดจองรถสูงถึง 1500 คันและปีที่แล้วได้พุ่งขึ้นแซงหน้าขึ้นอันดับสามแทนฮอนด้าไป

แต่ในปีนี้ ผู้บริโภคเริ่มอิ่มตัวในกำลังซื้อ แต่ยังฝันที่จะเห็นรถต้นแบบ หรือทอปคาร์จริงๆ ขณะเดียวกนผู้ขายรถก็นำรถหลากหลายแบบเข้ามาทดสอบตลาด สถานการณ์เช่นนี้ ปราจิณรู้ว่าเขาต้องปรับปรุงคอนเซปท์ของงานมอเตอร์โชว์ให้ครบเครื่องมากขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนซื้อแปรเปลี่ยนไปตามกระแสโลกานุวัตร พวกเขาต้องการมากกว่างานเทรดแฟร์ขายรถธรรมดาๆ ที่มีโปรโมชั่นด้านราคาพร้อมลุ้นโชคสองชั้น

ดังนั้นปราจิณจึงประกาศให้บริษัทใดก็ตามที่มีรถต้นแบบและแสดงเทคโนโลยีล้ำหน้าสามารถมีสิทธิ์เลือกพื้นที่ส่วนที่ดีที่สุดในงานได้ก่อน ปรากฏว่ามีรถต้นแบบหรือทอปคาร์มาแสดง 10 รถเด่น เช่น บริษัทธนบุรีพานิชผู้ประกอบรถเบนซ์ก็ได้พื้นที่กว้างขวาง สามารถจัดแสดงโชว์ยนตรกรรมยอดเยี่ยมของเบนซ์ได้เต็มที่โดยเฉพาะรถต้นแบบ STUDY A ซึ่งเป็นความสำเร็จของการพัฒนารถนั่งขนาดเล็กแห่งอนาคต ที่นำเอาระบบพลังงานไฟฟ้าที่มีแผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคารับพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้

ส่วนค่ายมิตซูบิชิ ก็มี HSR-2 รถยนต์สุดยอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ นิสสันก็มี APX ที่โดดเด่นมาจากงานโตเกียวมอเตอร์โชว์

เก้าวันเต็มๆ กับงานมอเตอร์โชว์ที่จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 15 ในปีนี้ปราจิณ ผู้จัดงานขยายพื้นที่งานที่สวนอัมพรเพิ่มขึ้นอีกเป็น 52,800 ตารางเมตร จากเดิมปีที่แล้วประมาณ 28,000 ตารางเมตร อีกทั้งยังรู้สึกสมใจกับยอดผู้ชมใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 ล้านคน รับเงินเฉพาะค่าบัตรสุทธิก็ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท (ไม่รวมบัตรที่แจกให้กับบริษัทและร้านค้าที่มาร่วมงาน) ส่วนรายได้หลักจากค่าเช่าพื้นที่แต่ละบูทอีกไม่ต่ำกว่าร้อยล้าน ก็ทำให้กิจการหลักอย่างหนังสือกรังด์ปรีซ์ยืนอยู่ได้สบายๆ ทั้งปี

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนแห่ทำธุรกิจมอเตอร์โชว์นี้ตาม โดยเฉพาะปีที่แล้ว ธุรกิจนี้เฟื่องฟูมากๆ จนมีการแตกเซกเมนท์เตชั่นออกมาเป็นกลุ่มเป้าหมายระดับต่างๆ หรือในพื้นที่ต่างจังหวัดมีคู่แข่งกับงานมอเตอร์โชว์เกิดขึ้นตลอดปี

เช่น ต้นปีที่แล้วกลุ่มธัญพัฒน์จัด IMPORT VAN & STATION WAGON 93 ที่อาคารธนิยะพลาซ่า กลางปี บริษัทรี้ด เทรดเด็กซ์ ซึ่งเป็นมอือาชีพจัดงานแสดงนิทรรศการเครื่องจักรกลก็กระโดดเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย โดยจัดงาน "มอเตอร์เวิลด์" ขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถัดมาอีกเดือน บริษัทฟอรั่ม เอ็กซ์บิชั่นก็จัดงาน "บางกอกอิมพอร์ตคาร์" ที่เวิลด์เทรดเซนเตอร์ ขณะเดียวกันบริษัทเพิร์คส์ (ประเทศไทย) ก็จัดงาน "เอดะมิเลี่ยนแนร์ส คาร์" ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ตบท้ายปลายปีด้วยงาน "มหกรรมรถยนต์" ของบริษัทสื่อสากลของขวัญชัย ปภัสรพงษ์ เจ้าเก่า

ไม่นับงานมอเตอร์โชว์ที่เกิดขึ้นตามหัวเมืองธุรกิจใหญ่ๆ ปีที่แล้ว บริษัทนากาเน่ โยโก (ไทยแลนด์) ก็จัดงาน "โคราชไทยแลนด์มอเตอร์โชว์" และ "ภูเก็ตมอเตอร์โชว์" ที่ศูนย์แสดงสินค้าสะพานหิน จ. ภูเก็ต รวมทั้ง "งานแมสมอเตอร์โชว์" ที่ระยองคอมเพล็กซ์ จ. ระยอง และต้นปีนี้ บริษัทฟอรั่มได้จัดงานออโตเอ็กซ์โป 94 ที่กาดสวนแก้ว เชียงใหม่ด้วย

"ผมมองว่าอนาคตการแข่งขันจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น งานแสดงยนตรกรรมรถยนต์จะอยู่ได้ด้วยคุณภาพของงานจริงๆ โดยมีปริมาณคนดูเป็นตัวสะท้อนงาน" อาณัฐ วิชิตพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทน้องใหม่ ฟอรั่ม เอ็กซิบิชั่นเล่าให้ฟัง

แรงกดดันจากสถานการณ์แข่งขันรอบๆ ตัว รวมทั้งขีดจำกัดจากสถานที่เดิมคือสวนอัมพรที่มีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีศูนย์รวมความสนใจแท้จริง ทำให้ปราจิณ วางแผนคิดอยู่หลายปี ที่จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนเก่าอย่างขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ เจ้าของหนังสือฟอร์มูล่าและผู้จัดงาน "มหากรรมรถยนต์" ทำโครงการจัดงานมอเตอร์โชว์ร่วมกันในปี 2538 ในนามบริษัทใหม่ โดยใช้พื้นที่ในโครงการซิตี้เซนเตอร์ที่เมืองทองธานี แจ้งวัฒนะของอนันนต์ กาญจนพาสน์ เจ้าของบริษัทบางกอกแลนด์ จัดไว้เป็นพื้นที่เอ็กซ์บิชั่นฮอล

"เรารวมกันเพราะแข่งขันกันมานานแต่ก็ไม่สามารถวัดได้ว่าใครใหญ่กว่ากัน ก็เลยมารวมกันดีกว่า" ขวัญชัย เจ้าของบริษัทสื่อสากลชี้ทางเลือกที่ให้ประโยชน์ทั้งคู่

อย่างไรก็ตามขวัญชัยเองก็มีความคิดที่จะเข้าไปบริหารโครงการมอเตอร์แกลลอรี่ในแฟชั่นไอร์แลนด์ ย่านรามอินทรา โดยคอนเซปท์ของมอเตอร์แกลลอรี่จะเป็นการเช่าเซ้งพื้นที่ระยะยาว และทางผู้เช่าจะเป็นผู้ขายเอง

ขณะเดียวกัน อนันต์ กาจนพาสน์ ได้ดึงตัวปราจิณ และงานมอเตอร์โชว์เข้าไปเป็นจุดขาย รวมทั้งชักชวนให้ปราจิณเข้าไปบริหารและวางคอนเซปท์ "ศูนย์การค้ารถและประดับยนต์" ในซิตี้เซนเตอร์ที่เป็นศูนย์รวมรถทุกยี่ห้อและร้านประดับยนต์พร้อมพนักงานขายที่สร้างขึ้นจากบริษัทกรังด์ปรีซ์

ถึงเวลานี้แล้ว ปราจิณก้าวไปไกลกว่าที่เขาเคยเป็นมาด้วยฐานรากที่สั่งสมเงินทุนและสายสัมพันธ์มาจากงานมอเตอร์โชว์ ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ทำเงินมหาศาลไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาทในระยะเวลาเพียงเก้าวัน เป็นภาพพจน์เชิงธุรกิจที่คุ้มแสนคุ้ม !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.