การเมืองฉุดจีดีพีตกฟิทซ์ลดศก.ไทยตามหลังคู่แข่งในเอเชีย


ผู้จัดการรายวัน(6 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

" ฟิตช์ เรตติ้งส์ "บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ระบุ ความปั่นป่วนผันผวนทางการเมือง และการส่งออกซึ่งกำลังอ่อนปวกเปียก ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยมีอัตราเติบโตตามหลังคู่แข่งในเอเชียด้วยกันด้านนายแบงก์ประสานเสียง ปีหน้าปรับลดดอกเบี้ย 0.25-0.5 % พร้อมสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัว ฟันธง ประชุมกนง.หยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ มองเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย เริ่มมีแรงกดดันน้อยลง

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ทบทวนลดตัวเลขคาดหมายอัตราเติบโตของไทยประจำปีนี้ลงมาเหลือ 4.3% จากที่เคยให้ไว้ 5.0% พร้อมกับบอกด้วยว่า ความไม่แน่นอนต่างๆ ทางการเมือง ได้เป็นสาเหตุให้ประเทศไทย "สูญเสียเวลา 1 ปี" ไปในทางการคลัง

ฟิตซ์นั้นพยากรณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยของเอเชียในปีนี้ไว้ที่ 5.4% โดยที่ทำนายว่าเวียดนามจะขยายตัวถึง 7.8% ติดตามด้วยสิงคโปร์อยู่ที่ 7.0% และอินโดนีเซียกับมาเลเซียอยู่ที่ 5.2%

นอกจากนั้น ฟิตซ์ยังคาดหมายอัตราเติบโตของไทยในปีหน้า ว่าจะอยู่เพียงแค่ 4.6% ซึ่งยังคงต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของเอเชียอันพยากรณ์ไว้ที่ 5.1%

"ความปั่นป่วนผันผวน (ทางการเมือง) กำลังเป็นสาเหตุทำให้การลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดฮวบลงอย่างเลวร้าย" นายเจมส์ แมคคอร์แมค ผู้อำนวยการฝ่ายจัดเรตติ้งภาครัฐเอเชียของฟิตช์ กล่าวในรายงาน พร้อมกับบอกต่อไปว่า เรื่องนี้ "สะท้อนให้เห็นผลกระทบด้านลบที่สถานการณ์ทางการเมืองก่อให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย"

"เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดสำหรับประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขบรรดาประเด็นปัญหาภายในประเทศของตน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถผงาดขึ้นมาได้ในปีหน้า" นายแมคคอร์แมคย้ำ

"ถ้าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกรอบโครงนโยบายของรัฐบาล ยังคงไม่ได้การแก้ไขแล้ว เราก็อาจต้องทบทวนลดตัวเลขอัตราเติบโตระยะสั้นของประเทศไทยกันอีก" เขาเตือน

นอกจากสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว ฟิตช์ยังกล่าวโทษเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินค่า ว่ากำลังทำให้ยอดส่งออกของไทยย่ำแย่

"เศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ จะเป็นสาเหตุทำให้การส่งออกของเอเชียเริ่มลดต่ำในช่วงเวลาหลายๆ เดือนต่อจากนี้ไป" นายแมคคอร์แมคบอก

ขณะเดียวกัน เขาชี้ด้วยว่า ความรุนแรงทางการเมืองทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลให้ตลาดภายในประเทศทรุดตัวลง

"ความไม่สงบอันยืดเยื้อในภาคใต้ คือสถานการณ์ซึ่งรัฐบาลจะต้องเอาใจใส่ (เพื่อ) ปรับปรุงยกระดับเสถียรภาพภายในประเทศ" นายแมคคอร์แมคย้ำ

ประสานเสียงปีหน้าลดดอกเบี้ย

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.)ในวันนี้ เชื่อว่าไม่น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก โดยคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5% เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงทำให้แรงกดดันต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทางการลดลง และคาดว่าปีนี้ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5%

ทั้งนี้ในไตรมาสแรกของปีหน้าคาดว่าทางการน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยคาดว่าทั้งปีจะลดลงประมาณ 0.25-0.5% โดยการปรับลดครั้งนี้อาจจะเป็นการปรับลดก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยปรับขึ้นก่อนประเทศอื่นและเป็นการปรับในสัดส่วนที่มาก ทำให้ทางการน่าจะลด อัตราดอกเบี้ยลงก่อนประเทศอื่น ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์น่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

"แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกในปีหน้าจะเข้าสู่ภาวะที่เป็นการปรับลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว" นายบันลือศักดิ์ กล่าว

ด้านนางสาวอังคณา สวัสดิ์พูน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานนโยบาย ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.)ในวันนี้ ว่าน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงและสภาพคล่องในระบบที่มีอยู่สูง ทำให้แรงกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้าหรือประมาณไตรมาสแรก เชื่อว่าน่าจะมีการปรับลดลงได้ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อน้อยลงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา

ทั้งนี้การลดลงของอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของธนาคารซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่สูง การเติบโตของสินเชื่อที่ยังมีการขยายตัวไม่มาก ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้สินเชื่อเติบโตได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันและอาจจะปรับตัวลดลง เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวและภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวไม่มาก รวมทั้งการเลือกตั้งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ จะทำให้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไม่น่าจะปรับขึ้นสูงกว่าปัจจุบัน

นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เชื่อว่าหากราคาน้ำมันเริ่มมีแนวโน้มลดลงก็จะส่งผลให้ภาคเอกชนมีการลงทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ประกอบกับการขยายตัวของสินเชื่อก็จะเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือ (KBANK) กล่าวว่าในต้นปีหน้า น่าจะเห็นการปรับดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐน่าจะปรับลดลงในปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงตาม โดยอัตราดอกเบี้ยในปลายปีหน้าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 5.00

ทั้งนี้หากแนวโน้มของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังปรับตัวสูงขึ้นก็จะส่งผลให้การขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อได้ เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวถือเป็นแรงกดดันให้การปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนการขอกู้ลดลง

อย่างไรก็ตามในส่วนของธนาคารกสิกรไทย จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคให้มากขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่นด้วย โดยธนาคารจะเน้นการจัดหาสินเชื่อที่เหมาะสมให้กับลูกค้าหรือผู้กู้ให้มากขึ้น และเหมาะสมกับความต้องการของผู้กู้แต่ละกลุ่ม

"จากนี้ไปธนาคารพาณิชย์จะต้องระมัดระวังการปล่อยกู้ ให้เหมาะสมกับผู้กู้ในแต่ละคนมากขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภคที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ" นายประสาร กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.