|
หวั่นเศรษฐกิจซบยาวถึงปีหน้าแนะเร่งใช้เงินรสก.โปะงบปี50
ผู้จัดการรายวัน(5 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 2 ปี 49 โต 4.9% ลดลงจาก 6.1%ในไตรมาสแรก ระบุการใช้จ่าย-บริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนยังน่าเป็นห่วง ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเริ่มกระทบภาคส่งออก พร้อมปรับประมาณปี 49 เหลือ 4.2-4.7% แนะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบรัฐวิสาหกิจที่เหลือเพื่อชดเชยความล่าช้างบฯปี 50
จีดีพีไตสมาส2 ขยายตัว 4.9%
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 2 ปี 2549 ขยายตัว 4.9% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 6.1% ในไตรมาสแรกของปี 2549 โดยการขยายตัวในอัตราดังกล่าวมีแรงขับเคลื่อนมาจากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีเป็นแรงกระตุ้นหลัก โดยในไตรมาส2 การส่งออกขยายตัวถึง 16.3% ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยการใช้จ่ายรัฐบาล ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้น 3.4% ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.0%
สำหรับด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 5.8% ภาคการเกษตรขยายตัว 5.4% ขยายตัวต่อเนื่องจาก 6.3% ในไตรมาสแรก ด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีในไตรมาส2 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 16.2% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 21.7% ในไตรมาสแรก โดยมีเงินใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 102,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% จากไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 25.2%
จับตาภาคอุปโภค-บริโภคของครัวเรือนชะลอ
ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัว 3.7% ซึ่งชะลอตัวลงจาก 4.1% ซึ่งเป็นผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสนี้ ซึ่งในไตรมาสที่2 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.6% เมื่อเทียบกับ 7.2% ในไตรมาสแรก ประกอบกับยังมีปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้ค่าครองชีพสูงและกระทบกำลังซื้อที่แท้จริง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจลดลง ส่งผลให้ในครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่มีอัตราการขยายตัว 5.5%
“ในครึ่งหลังของปีราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับที่สูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ลดลงจะทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐที่ได้ผลกระทบบ้างจากการที่พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2550จะต้องล่าช้าออกไป ในขณะที่เศรษฐกิจโลกก็มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลัง”เลขาธิการสศช.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3 และ 4 ของปีคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4% ซึ่งจะชะลอลงกว่าในครึ่งปีแรกปี 2549 ทั้งนี้เป็นเพราะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกและการบริโภคมีการชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งก็จะส่งผลให้จีดีพีในไตรมาส 1/50 จะต่ำกว่าไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2549 หากการลงทุนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเช่นในปัจจุบัน
ปรับประมาณการณ์ทั้งปีเหลือ 4.2-4.7%
นายอำพน กล่าวต่อถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2549 ทั้งปีว่าน่าจะมีแนวโน้มอัตราการเติบโต 4.2-4.7% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ปรับลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 4.2-4.9% เนื่องจากคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 4.5-4.7% ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับในการประมาณการในครั้งก่อน ขณะที่คาดว่าดุลการค้าจะขาดดุลประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกยังขยายตัวได้มากกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลเล็กน้อยที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.6% ของจีดีพี
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบให้การขยายตัวของจีดีพีในครึ่งปีหลังชะลอตัวลงเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีราคาเฉลี่ยในปี 2549 ประมาณ 65-68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการขยายตัวสูงในครึ่งปีแรกซึ่งส่งผลให้สัดส่วนคำสั่งซื้อต่อการมอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลกเริ่มลดลงในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลให้กระทบต่อการแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่กำลังสูญเสียขีดความสามารถต่อประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำโดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ประกอบกับปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย MLR ส่งผลให้การขยายสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปี 2548
มองการเมืองชัดเจนเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ความมั่นใจของผู้บริโภคและเอกชนลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี รวมถึงผลกระทบจากการที่ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2550 ไม่สามารถเริ่มใช้จ่ายได้ตามกำหนดการปกติ
“หากปัจจัยทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนการเลือกตั้งสามารถตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ทันในปี 2550 เชื่อว่าทุกอย่างก็น่าจะดำเนินการตามที่คาดไว้ได้”นายอำพลกล่าว
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2549 อยากเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อให้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 และไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 มีเงินออกสู่ระบบมากขึ้น เนื่องจากหากไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายจะกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2550 โดยเฉพาะงบของรัฐวิสาหกิจที่ขณะนี้มีอยู่ 3.8 แสนล้านบาท ขณะนี้เบิกจ่ายได้ 75% และหากเบิกจ่ายได้ 85% ก็จะทำให้งบลงทุนในปี 2550 ไม่มีปัญหา รวมถึงงบเหลื่อมปีที่ต้องเบิกทำให้ได้ 85% จากปัจจุบัน 74%
คาดปี 2550 จีดีพีโต 4.5-5%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 คาดการณ์ว่าจีดีพีจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.5-5% หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับไม่เกิน 70 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และการลงทุนภาคเอกชนกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยในส่วนของภาคการลงทุนในปี 2550 นั้นแม้จะได้รับผลกระทบจากการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2550 นั้น เชื่อว่าทุกอย่างจะสามารถเดินไปตามที่คาดไว้ คือการลงทุนภาครัฐและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะมีสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะไม่น้อยกว่าการลงทุนในปี 2549 แต่อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2-5% ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะในปี 2550 มีโครงการเกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐที่จะต้องมีการลงทุนหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงโครงการของรัฐวิสาหกิจ อาทิ โครงการขยายการลงทุนของปตท. ในการส่งท่อก๊าซ ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการลงทุนเพิ่มขึ้น
“ในปี 2550 ยังมีเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุน โดยยังเชื่อว่าแม้การเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปีนี้ และเงินงบประมาณก็จะออกสู่ระบบได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2550 ขณะที่ การทำงบประมาณขาดดุลในปี 2550 ต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สาธารณสุข การส่งเสริมการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดหาพลังงานทดแทน เพราะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว จะต้องดูแลเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น”นายอำพนกล่าว
สศค.ย้ำเศรษฐกิจครึ่งปีโตแค่ 3-4%
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ”เวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค” ที่จังหวัดขอนแก่น ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยทางการเมือง โดยคาดว่าไตรมาสที่ 3-4 จะขยายตัว 3.0-4.0% และทำให้เฉลี่ยทั้งปี 2549 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% เท่ากับปีที่แล้ว
สำหรับปี 2550 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 3.5-4.5% เท่านั้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาการใช้จ่ายของภาครัฐที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ล่าช้า ทำให้ช่วงเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณน้อย ดังนั้น ภาครัฐต้องเตรียมการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและภาคเอกชนจะลงทุนตาม และในปี 2551 – 2552 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นประมาณ 5.0-6.0%ต่อปี ตามการใช้จ่ายภาครัฐและภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น
"ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรจึงจะให้มีการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง เติบโตอย่างยั่งยืน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีก ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาภาคการเกษตรที่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าภาคอื่น ภาคอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่จังหวัดเท่านั้น การแก้ไขปัญหาการโยกย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือ"นายนริศกล่าว
แบงก์พอใจศก.ไตรมาส2โต4.9%
ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีบี กล่าวว่า การประกาศของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ 4.9%นั้น ถือว่าจีดีพีในระดับดังกล่าวยังคงดีอยู่และยังส่งผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจดีอยู่ เพราะจะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี และการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องของระบบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|