กลิ่นหอมสดชื่นคล้ายกลิ่นของหญ้าที่ถูกตัดใหม่ ๆ อบอวลทั่วสำนักงานใหญ่ของ
ลิน ดิงจ์-ซัง ในเมืองซาน ฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้านนอกของสำนักงานแห่งนี้
มีลังไม้ขนาดใหญ่ที่บรรจุหญ้า "อัลฟาตา" อยู่เต็ม
"คนที่แวะมาออฟฟิศ เขามักจะถามว่า 'คุณมาทำอะไรที่นี่ ในเมืองซาน
ฟราสซิสโก กับหญ้าพวกนี้ คุณท่าจะบ้าอย่างแน่นอน'" ลิน เถ้าแก่ชาวไต้หวัน
เล่าให้ฟัง
คนที่ไม่เชื่อถือในสิ่งที่ลินทำอยู่อาจหัวเราะอยู่ในใจ แต่สำหรับลิน การหัวเราะทีหลังย่อมส่งเสียงได้ดังและยาวนานกว่า
ธุรกิจของลินในขณะนี้มีมูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ และถือว่าเป็นบริษัทใหญ่อันดับสามที่ส่งออกหญ้าอัลฟาตาไปญี่ปุ่น
ธุรกิจของเขาเป็นแบบครบวงจรในแนวดิ่งคือ นอกจากบริษัทส่งออกหญ้าแล้วยังมีโรงงานผลิตหญ้าที่ซาเล็มและโอเรกอน
รวมทั้งเป็นเจ้าของกิจการรถบรรทุกขนส่งด้วย
กลุ่มลูกค้าของลินคือ ธุรกิจปศุสัตว์ในเอเซียที่ต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูงสำหรับม้าและวัว
"สัตว์พวกนี้กินไม่หยุด" ลินพูดด้วยน้ำเสียงพึงพอใจมาก ในขณะที่สอดมือทั้งสองคู่เข้ากระเป๋ากางเกงยีนส์
นับวันชาวเอเซียจะหันมาบริโภคเนื้อวัวและดื่มนมมากขึ้น แต่หญ้าที่ใช้เลี้ยงวัวให้อ้วนและสร้างน้ำนมยังมีปริมาณน้อยมาก
ที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ารัฐแคลิฟอร์เนียถึง 10 เท่าแต่ที่ดินมีราคาสูงถึง
80,000 เหรียญสหรัฐต่อเอเคอร์หรือแพงกว่า 40 เท่าเมื่อเทียบกับราคาที่ดินของแคลิฟอร์เนีย
"ความต้องการดื่มนมของชาวญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ชาวนาก็ไม่มีกำลังเงินพอที่จะซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายฟาร์ม"
ทัสซุโอะ มิวาผู้จัดการสำนักงานประจำซานฟรานซิสโก ของ JAPAN'S NATIONAL FEDERATIVE
ASSOCIATIONS กล่าว
ปัญหาที่ดินราคาแพง ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นต้องหาซื้อหญ้าจากต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาส่งออกหญ้าเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจาก
283,000 เมตริกตันในปี 1980 เป็น 553,853 ตันในปี 1991
"เราไม่มีทางเลือกเราต้องการอาหารแต่ไม่มีปัญญาจะปลูกหญ้าเอง"
เคน ไล ผู้จัดการของ "คานาเมตสุ แคนาดาอิงค์" ที่โตเกียวกล่าว
ลิน ในขณะนี้มีอายุ 43 ปี หลังจากจบการศึกษาที่ TAMSUI OXFORD COLLEGE
ที่ไต้หวันแล้ว เขาย้ายมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1981 และได้ลงเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยยูทาห์
และที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เขามีโอกาสรู้จักกับเจ้าของไร่คนหนึ่งจากรัฐเนวาด้า
ชาวไร่ผู้นี้ได้ชักชวนให้เขาอยู่และทำงานให้ในฐานะผู้จัดการทั่วไปดูแลเรื่องการผลิตและการส่งออกหญ้าฟาง
หลังจากนั้นไม่นาน ลินและพี่ชายที่มีอายุมากกว่าเขา 2 ปี ชื่อว่า จิม ซึ่งเรียนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยยูท่าห์เช่นกัน
ได้ร่วมกันทำธุรกิจค้าหญ้าฟางต่อมาปี 1980 สองพี่น้องได้รับข้อเสนอจากชาวไร่ผู้นั้นให้สินเชื่อที่มีอายุการชำระหนี้
30 วัน ทั้งคู่รวมทั้งพี่ชายคนโต-เควิน ซึ่งขณะนี้อายุ 47 ปี จึงตัดสินใจตั้งบริษัท
ลิน คิวบิ้ง ขึ้นในปี 1982 และเริ่มส่งออกหญ้าฟางโดยทางเรือให้ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
ปัจจุบัน ลิน รับซื้อหญ้าจากชาวไร่ทั้งหมด 20 ราย ที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย
ไอดาโฮ เนวาด้า โอเรกอนและยูท่าห์ ยอดขายได้เพิ่มสูงขึ้นตาก 70,000 เหรียญสหรัฐในปี
1985 เป็น 12 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1993
ปี 1985 ลินได้แยกตัวออกมาตั้งบริษัทเอง ชื่อว่า "ลิมเม็กซ์"
ลินอึกอักที่จะเปิดเผยข้อขัดแย้งกับพี่ชายทั้งสอง เขาบอกเพียงแต่ว่า เขาต้องการให้ธุรกิจเติบโตให้เร็วกว่าที่พี่ชายวางแผนไว้
"วิถีการทำงานของเราแตกต่างกัน ผมต้องการชาวไร่มากขึ้นและต้องการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นด้วย"
ลิน ให้เหตุผลของการแยกตัว
"เดวิตเป็นคนฉลาดและดุดันมากในการทำธุรกิจเขามีเซ็นต์ทางธุรกิจ ส่วนพี่ชายของเขาก็เป็นคนคมเหมือนกัน
แต่ค่อนข้างจะคอนเซอร์เวทีฟ" เคน ไล พูดถึงสามพี่น้อง ซึ่งเขาเคยทำธุรกิจด้วยและเป็นที่ปรึกษาให้ทั้งสามคน
แม้ว่าพี่ชายทั้งสองจะมีความเห็นไม่ลงรอยกับลินก็ตาม แต่หุ้นในส่วนของลินในบริษัทก็ยังไม่ขายให้ผู้ใด
พี่ชายของลินยังทำธุรกิจส่งออกหญ้าฟางไปญี่ปุ่นเช่นเดิม ยอดขายปีที่ผ่านมาของบริษัทสูงเกือบถึง
5 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ผมรู้ว่า ดิงจ์-ซังกำลังทำอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่เขารู้ว่าเราทั้งสองทำอะไรอยู่เช่นกัน
เราเพียงแต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ แต่มิใช่ว่าเราจะสามารถผลิตหญ้าได้มากจนบีบเขาให้เลิกทำธุรกิจนี้ได้"
จิมกล่าว
ลินมีวิธีการผูกสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างชาวอเมริกันและชาวเอเชีย ด้วยการพาชาวไร่อเมริกันให้รู้จักชาวไร่ญี่ปุ่น
ซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่ง
"ผมไม่ได้มีอาชีพเป็นนายหน้า ผมเป็นพ่อค้าผมต้องการสอนให้ชาวไร่อเมริกันรู้จักชาวญี่ปุ่นและรู้ว่าชาวญี่ปุ่นต้องการอะไร"
ลินพูดด้วยน้ำเสียงแรียบๆ
สิ่งที่คนญี่ปุ่นต้องการมากอันดับหนึ่ง คือ คุณภาพ หญ้าอัลฟาต้า จะอุดมด้วยแร่ธาตุ
โปรตีนและวิตามิน ฉะนั้นเวลาจัดส่งต้องระวังเรื่องความชื้นเพราะจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้น
จนสามารถทำลายสินค้าทั้งหมดที่ต้องเสียเวลาถึงสองอาทิตย์ในการขนส่งข้ามมหาสมุทรแปซิฟิค
ก่อนที่หญ้าจะถูกบรรจุในคอนเทนเนอร์ ต้องนำมัดฟางมาอัดแน่นให้ได้ขนาด 5
ลูกบาศก์เซ็นติเมตรในการขนส่งทางเรือแต่ละครั้งจะบรรจุได้ 10-27 ตันต่อหนึ่งคอนเทนเนอร์
"อย่างนี้ซิ ถึงจะเรียกว่าเป็นหญ้าชั้นเยี่ยม" ลินพูดพร้อมกับใช้นิ้วชี้ขยี้หญ้าที่อัดแน่นแล้ว
"คนญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าคนอเมริกัน เวลาคุณซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่นี่
คนขายก็จะยื่นแฮมเบอร์เกอร์ให้ แล้วคุณก็รับไป สำหรับที่ญี่ปุ่นการซื้อแฮมเบอร์เกอร์
หนึ่งชิ้น คนญี่ปุ่นจะคำนึงถึงคุณภาพและรูปลักษณ์ของมันด้วย นี่เป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น"
ลินสาธยาย
เมื่อมาดูตลาดขายเนื้อที่โตเกียว คำกล่าวของลินค่อนข้างเป็นจริง เพราะราคาเนื้อวัวที่นี่
60 ดอลล่าร์ต่อหนึ่งกิโลกรัมซึ่งแพงกว่าที่ขายกันในสหรัฐอเมริกา 10 เท่าตัว
ลินกำลังเตรียมบรรจุหญ้าลงคอนเทนเนอร์สำหรับการส่งงวดต่อไป เป็นหญ้าที่ได้มาจากซานฟรานซิสโกบนเนื้อที่
8 เฮกตาร์ นอกจากนี้แล้วเขากำลังเตรียมส่งออกเนื้อวัวให้ญี่ปุ่น เมื่อปี
1992 เขาส่งออกเนื้อวัว 30 คอนเทนเนอร์ มีมูลค่า 1.5 ล้านดอลล่าร์
ลินพยายามขยายธุรกิจสู่ประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากญี่ปุ่น ที่ไต้หวันก็เริ่มมีความต้องการมากขึ้น
มีสัดส่วนของตลาดประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายทั้งหมดในขณะนี้ นอกจากนี้แล้วลินยังเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่ในเมืองจีนพัฒนาคุณภาพหญ้า
"มีคนจำนวนไม่มากนัก ที่กำลังทำในสิ่งที่ผมทำอยู่ และบริษัทของเราก็จะเติบโตมากยิ่งขึ้นทุก
ๆ ปีด้วย" ลินกล่าว