"บันไดสู่ไฮเทค"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเทศต่าง ๆ และบริษัทหลายแห่งในเอเชียกำลังพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อเข้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีชั้นสูง

ตอง-เอ ฟามาซูติคอล ไม่ใช่บริษัทระดับโลก เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการในปี 1992 ซึ่งเท่ากับ 247 ล้านดอลลาร์ ทำให้ตอง-เอกลายเป็นผู้ผลิตยาที่ใหญ่ที่สุดนอกกลุ่มแชโบล (กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้) นอกจากนี้ความพยายามด้านชีวเทคโนโลยีของบริษัทแห่งนี้ก็แสดงผลให้เป็นที่ประจักษ์กันมาบ้างแล้ว รวมทั้งการทดสอบเชื้อไวรัสเอดส์กับคนที่เป็นเอดส์ทั่วเกาหลีเมื่อปีที่แล้วทำให้ได้ค้นพบไวรัส 2 ชนิดที่มีอันตรายถึงตายได้

"แต่เรายังต้องพึ่งเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เพื่อทำการวิจัยขั้นพื้นฐานอยู่" ยี เปียง กุก กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างประเทศกล่าวพร้อมกับถอนหายใจ

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว เมื่อไหร่ที่ช่องว่างทางเทคโนโลยีถึงจะถูกอุดลงได้ รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต่างหันไปใช้วิธีการเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นใช้นั่นคือ การวางนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี "ยังไม่มีคาถาสำหรับความสำเร็จ" อิไม คาเนอิชิโร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของสมาคมเพื่อการศึกษาด้านวิศวกรรมแห่งญี่ปุ่น (เจเอสอีอี) กล่าว

สิ่งที่แน่นอนเพียงอย่างเดียวก็คือ เทคโนโลยีขั้นสูงจะเป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเจริญเติบโตในอนาคต และภายในปี 2000 ตลาดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกก็อาจจะขยายตัวถึง 900,000 ล้านดอลลาร์

นักเทคนิคในประเทศแถบเอเชียต่างก็พร้อมแล้วที่จะเข้าไปแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดด้านนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ของไต้หวันราว 200 แห่ง ได้เข้าไปกินส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของโลกได้ 14% ในปี 1992 แต่ก็มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น อทิ เอเชอร์ อิงค์ที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจมัลติมีเดียแล้วอย่างจริงจัง

ฮวง ชินเหยียง รองผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลการตลาดของรัฐบาลอธิบายให้ฟังว่า "เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีแล้ว การลงทุนของเรายังนับว่าต่ำมาก"

บริษัทของไทยยิ่งตกอยู่ในสถานะที่ย่ำแย่มากกว่า ยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติกล่าวว่า ปกติแล้วบริษัทเอกชนให้ความสนใจกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์และโฆษณามากกว่าการพัฒนาและวิจัย แต่ข้อบกพร่องที่แท้จริงอยู่ที่การที่รัฐบาลละเลยด้านการศึกษา

"เราขาดแคลนแรงงานมีฝีมืออย่างมาก ปีหนึ่งเราผลิตได้เพียง 4,000 คนเท่านั้น แต่เราต้องการเพิ่มมากกว่านั้นเป็น 2 เท่า ซึ่งกรณีเช่นนี้ก็คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นทั่วไปในเอเชีย" ยงยุทธกล่าวเตือน

นอกเหนือไปจากการที่ไม่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาและภาวะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญอีกอย่างที่ต้องขบคิดกันให้หนักแน่นนั่นก็คือ การที่บริษัทต่างประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยลำพองใจเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตใช้เทคโนโลยีแก่ชาติเอเชียที่กำลังร่ำรวย เริ่มตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมาภายหลังโดยอิมาอิได้ตั้งคำถามไว้ว่า "ถ้าการถ่ายทอดเทคโนโลยีทำให้ประเทศที่รับถ่ายทอดกลายมาเป็นคู่แข่ง คุณยังจะส่งเทคโนโลยีให้กับประเทศนั้นหรือเปล่า"

อย่างไรก็ดี ยังดีที่มีแสงแห่งความหวังให้เห็นบ้างลาง ๆ มาที่สิงคโปร์ สถาบันโมเลกุลลาร์ และเซลล์ ไบโอโลจี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล โดยมีหน้าที่หลักในการศึกษาการเติบโตและพัฒนาการของเซลล์ อันเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจกลุ่มเชื้อโรคและมะเร็ง "คุณภาพเชิงวิทยาศาสตร์ของเราทัดเทียมกับคุณภาพที่ดีที่สุดของตะวันตกได้สบาย" วาย เอช. ถาน หัวหน้าสถาบันกล่าว

ขณะเดียวกันรัฐก็ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมอีกแรงในรูปแบบต่าง ๆ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติของมาเลเซียได้จัดสรรเงินทุนมูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ต่อปีในรูปของเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยตั้งเป้าไว้ที่งานด้านการวิจัยและพัฒนา แต่อาวุธชิ้นเยี่ยมที่สุดก็คือโครงการสร้างนิคมวิทยาศาสตร์ ซึ่งโครงการนี้จะเป็นตัวชูโรงที่จะดึงดูดต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน

บางทีนิคมวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็คือที่เมืองชินชู ในไต้หวัน โดยมีเนื้อที่โครงการขนาด 380 เฮกตาร์ และในไม่ช้าจะมีการขยายออกไปอีก 200 เฮกตาร์ โครงการนี้ดึงดูดบริษัท หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของรัฐกว่า 150 แห่ง หลังจากเปิดตัวโครงการเมื่อปี 1980 บริษัทหลายแห่งต่างมารุมตอมนิคมแห่งนี้เพราะรัฐให้ความช่วยเหลือในเรื่องการเช่าที่ดิน และยังมีระยะปลอดภาษี 5 ปีด้วย

ชินชูได้รับความสนใจอย่างมากถึงขนาดกระทรวงเศรษฐกิจต้องทุ่มเงินราว 600 ล้านเหรียญเพื่อสร้างนิคมซอฟต์แวร์ในนานกิง เจ้าหน้าที่ของกระทรวงประเมินว่า ภายในปี 2001 ไต้หวันจะขายโปรแกรมต่าง ๆ ได้กว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไต้หวันขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลก

มาเลเเซียเองก็ไม่ยอมน้อยหน้า โดยตอนนี้มีการวางแผนสร้างนิคมแบบนี้แล้ว 3 แห่ง หนึ่งในจำนวนนั้นคือเทคโนโลยี ปาร์ค มาเลเซีย ซึ่งได้รับการออกแบบไว้เพื่อ "เลี้ยงดู" บริษัทที่เน้นงานด้านวิจัยและพัฒนาในประเทศที่ยังเดินเตาะแตะอยู่ แม้แต่ในฮ่องกงก็ยังไดเปิดศูนย์เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมแห่งฮ่องกงขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว โดยรัฐให้เงินช่วยเหลือ 32 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาและวิจัย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยผู้เข้าร่วมโครงการไฮ-เทคได้ถึง 80 ราย

ถ้าจะว่าไปแล้ว แค่นี้ก็นับว่าดีมากแล้ว เพราะการเข้ามาอุดช่องว่างที่ธุรกิจข้ามชาติไม่สามารถเข้ามาเติมเต็มได้นี้ คงจะทำกำไรได้ภายในหนึ่งทศวรรษ แต่ถานเองก็ยังสงสัยอยู่ว่า "โครงการเหล่านี้จะไปได้สักกี่น้ำ" แต่ยี่จากตองเอไม่คิดอย่างนั้น เขากำลังมองหาลู่ทางที่จะสร้างศูนย์ชีวเทคโนโลยีในสหรัฐฯ แต่ก็เป็นเรื่องที่หนักหนาสากรรจ์ ใช้ต้นทุนสูง แต่เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากกว่าใครในเอเชีย คงมีโอกาสที่จะทำได้อย่างที่คิดไว้สักวันหนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.