|
“อุ๋ย” ส่งสัญญาณคงดบ.เปิดทางนโยบายการคลังดูแลเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายวัน(5 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
“หม่อมอุ๋ย”ยันยังไม่คิดปรับลดนโยบายดอกเบี้ย ย้ำเงินเฟ้อลดเดือนเดียวยังไม่ใช่สัญญาณที่ชัดเจน ต้องขอเวลาดูอีกระยะก่อนตัดสินใจ รับคลังตั้งงบประมาณขาดดุลเป็นช่วงที่เหมาะสม แต่ไม่ควรเกิน 2%ของจีดีพี ระบุเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะใช้นโยบายการคลัง ด้านคลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ-เอกชนหารือภาวะเศรษฐกิจทุกไตรมาส ขณะที่ภาคเอกชนขอภาครัฐวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.จะขึ้นอยู่กับภาวะเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ยังต้องติดตามอัตราเงินเฟ้อต่อไปอีกระยะก่อน เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงแค่เดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ยังไม่สามารถบอกสัญญาณอะไรได้ คงต้องรอให้สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มนิ่งก่อน
“อย่างเพิ่งนิ่งนอนใจ ยังคาดการณ์อะไรไม่ได้ เพราะราคาน้ำมันเพิ่งเริ่มลดลงในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนมีฐานที่สูง เพราะภาครัฐเริ่มมีนโยบายลอยตัวน้ำมันดีเซล จึงควรดูหลายๆ เดือนก่อน ยังไม่มีความรู้สึกว่าจะลง เพราะทิศทางของโลกกำลังขึ้น ขอดูอัตราเงินเฟ้อและเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนก่อน”ผู้ว่าธปท.กล่าว
สำหรับกรณีที่มีการใช้งบประมาณปี 2550 แบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายการคลังนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า หากมีการขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 2%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ก็ถือว่ารับได้ เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวและความไม่แน่นอนหลายๆ อย่าง ประกอบกับปีหน้าหลายๆ ประเทศคาดการว่าจีดีพีจะลดลง ผลจากราคาน้ำมันแพงที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นการใช้งบประมาณแบบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องที่ดี
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเขาเข้าใจภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคดีไม่ต้องเป็นห่วง ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็มีการใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินร่วมกันอยู่แล้วในการดูแลเศรษฐกิจ แต่ในสถานการณ์ในปัจจุบันหากมีการใช้นโยบายการคลัง ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลดีกว่านโยบายการเงิน อย่างไรก็ตามแม้นโยบายการเงินมีความจำเป็นในการกระตุ้นการลงทุนน้อยลง แต่ธปท.จะดูแลอย่างเหมาะสมแน่นอน ไม่ต้องเป็นห่วงจะเห็นได้จากการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้ว ส่วนนโยบายการเงินก็สามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อได้อย่างอิสระเสรีไม่ต้องเป็นห่วงทั้ง 2 เรื่องนี้“ผู้ว่าการธปท.กล่าว
**คลังเรียกถกภาวะศก.ทุกไตรมาส**
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาหัวข้อ "ทิศทางภาวะเศรษฐกิจไทยและการจัดทำงบประมาณปี 2550" ว่า ได้เชิญภาคธุรกิจ 3 สถาบัน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) มาประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคเอกชน ได้แสดงความเห็นด้วย กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปี 2550 เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกชะลอตัวลง และภาคเอกชนได้ฝากให้กระทรวงการคลังไปคิดแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรบ้างต่อไป
นอกจากนี้ ก็มีการหารือกันในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีการชี้แจงว่า ธปท. ได้ดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า 12-13 ประเทศแล้ว ขณะนี้ค่าเงินบาทของไทย ไม่ได้แข็งค่าไปกว่าประเทศเหล่านี้ แต่แข็งค่าในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะมีเพียงประเทศจีนเท่านั้น ที่มีความแตกต่างกัน เพราะจีนยังคงใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่อยู่
"เป็นเรื่องที่ดีในการมาคุยกันทุกคนจะได้ประโยชน์ โดยการประชุมในครั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นด้วยว่า ควรจะทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีหน้า เพราะ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ เศรษฐกิจจะชะลอตัว ทั้งนี้ การทำงบขาดดุล ก็เพื่อเป็นการฉีดเงินเข้าสู่ระบบ แต่ไม่ใช่เป็นการไปให้เงินใครใช้ฟรีๆ แต่จะใช้เพื่อเป็นการพัฒนาทางด้านซอฟท์แวร์ เช่น ในด้านการศึกษา การพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น" นายทนง กล่าว
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมาจากแนวคิดที่ว่าต้องการให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ในทุกๆไตรมาสในช่วงบ่ายของวันเดียวกันกับที่สศช.มีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ โดยนอกจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจแล้วการประชุมดังกล่าว ยังเป็นการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อดูแลภาวะเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในระดับที่เหมาะสมได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|