|

เว้นภาษีชินฯ ส่อทุจริต
ผู้จัดการรายวัน(5 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บิ๊กสรรพากรจ่อซ้ำรอย 3 หนากกต. ฐานละเว้นภาษีให้“พานทองแท้-พิณทองทา ชินวัตร ” สตง.แฉสรรพากรตอบข้อซักถามวกวน แถมบอกปัดความรับผิดชอบ แต่จากเอกสาร-ข้อมูลแวดล้อมสามารถเอาผิดข้อหา “ละเว้นโดยทุจริต” ได้ เรียกสอบอีก 2 รายสอบ 15 และ 20 ก.ย.นี้ นักกฎหมายระบุแค่บันทึกกฎษฎีกาก็ชัดเจนแล้ว ย้ำตั้งที่ปรึกษาของคตง.ไม่จำเป็น และ ไม่มีกฎหมายรองรับเหตุผู้ที่สมัครเป็นคตง.ทุกคนล้วนมีความสามารถและทรงคุณวุฒิ
กรณีสำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน(สตง.) เรียกข้าราชการกรมสรรพากรให้ปากคำถึงเหตุผลละเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ชินคอร์ป กับ กองทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี นั้น ขณะนี้งวดเข้ามาทุกขณะ
ภายในเดือนกันยายนนี้ คณะทำงานของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) คาดว่าจะสรุปผลการตรวจสอบนี้ได้
ดังที่ทราบ ขั้นตอนการทำงาน หลังจากได้ผลสอบออกมาหากสรุปว่าเป็นการปฎิบัติที่ทุจริต เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุณหญิงจารุวรรณก็จะส่งผลสอบนี้ให้คณะกรรมการคตง.พิจารณาเพื่อดำเนินคดีต่อไป
ล่าสุดความเข้มข้นของการตรวจสอบคดีนี้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐหวั่นไหวหวั่นจะเกิด “เหตุการณ์ไม่คาดฝัน”เหมือนกรณีของคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) โดยผู้มีอำนาจรัฐพยายามตัดตอนก่อนภัยมาผลักดันให้ คตง.ตั้งคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายที่นำโดย นายไกรสร บารมีอวยชัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่เติบใหญ่มาภายใต้ร่มเงาของระบอบทักษิณ เข้ามาทำงานซ้อนคตง.อีกชั้น เจตนาเดียวที่เข้าใจได้ก็เพื่อเตรียมบิดผลสอบดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตน (ตามที่ผู้จัดการรายวันได้นำเสนอไปแล้วในตอนที่1ฉบับวานนี้)
สตง.แฉบิ๊กสรรพากรตีรวน-ตอบไม่ชัด
สำหรับความคืบหน้าในการตรวจสอบของสตง. วานนี้(4ก.ย.) แหล่งข่าวจาก สตง. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ออกหนังสือเชิญข้าราชการอีก 2 รายคือ นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เข้ามาชี้แจงเพิ่มเติมในวันที่ 15 กันยายน และนางไพฑูรย์ พงษ์เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากรให้เข้ามาชี้แจงเพิ่มเติมในวันที่ 20 กันยายนนี้
ทั้งนี้การเชิญข้าราชการทั้ง 2 รายมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากการเข้าชี้แจงในรอบแรกของข้าราชการทั้ง 2 รายมีการตอบคำถามที่ไม่ชัดเจนและใช้เวลาในการเรียบเรียงคำพูดนานมากอีกทั้งยังมีการขอเปลี่ยนแปลงคำพูดที่ใช้ในการชี้แจงอยู่ตลอดเวลาทำให้กระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องเสียเวลาในการซักถาม รวมทั้งข้าราชการทั้ง 2 รายยังอ้างว่าติดราชการอื่นทำให้สตง.มีเวลาสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงอย่างจำกัด
ขณะที่นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร นั้น การเข้าชีแจงข้อมูลแทบจะไม่เกิดประโยชน์ต่อการสอบสวนการตอบคำถามส่วนใหญ่จะเป็นการบอกปัดเรื่องต่างๆ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ของสตง.สอบถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายก็แจ้งว่าไม่ทราบให้ไปสอบถามที่นิติกร ส่วนการสอบถามแนวทางการปฏิบัติงานจัดเก็บภาษีก็บอกว่าให้ไปถามรองอธิบดีเพราะเรื่องดังกล่าวเขาไม่รู้เรื่อง
“แม้ข้าราชการของกรมสรรพากรจะพยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่สตง.ซักถามไป แต่ข้อมูลแวดล้อมทั้งหลายที่สตง.รวบรวมถือว่าชัดเจนเป็นเรื่องที่สังคมก็รู้เห็นอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แม้เขาจะหลีกเลี่ยงและบ่ายเบี่ยงการให้ข้อมูลแต่หลักฐานที่เป็นเอกสารก็ระบุได้อย่างแน่ชัดถึงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม” แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวนั้นขณะนี้ทาง สตง. กำลังรวมรวมหลักฐานที่ได้มาแล้วพิจารณาว่า การละเว้นการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในเรื่องดังกล่าวนั้นนั้นต้องดูหลักข้อกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ของกรม สรรพากรทำการตีความกฎหมายไปในทางที่ผิดหรือไม่ ส่วนเอกสารต่างๆ ที่ สตง. ขอเพิ่มไปนั้นขณะนี้ทางกรม สรรพากรยังไม่ได้ส่งกลับมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สตง. ก็น่าจะสามารถสรุปเรื่องดังกล่าวได้ภายใน เดือนกันยายนนี้แน่นอน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าวานนี้(4 ก.ย.) นายศิโรตม์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมแสดงสีหน้าไม่พอใจเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามในประเด็นดังกล่าว ขณะที่นางเบญจา นั้นในวันเดียวกันได้เดินทางมาที่สตง. พร้อมกล่าวว่าไม่ได้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสตง.แต่อย่างใด โดยระบุเพียงว่าการเดินทางมาสตง. ในครั้งนี้เป็นการมาหาเพื่อนเท่านั้น
ย้ำพิรุธผลักดันตั้งที่ปรึกษาคตง.
แหล่งข่าวยังกล่าวถึงกรณีที่ นายนรชัย ศรีพิมล ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ได้ทำการเสนอให้มี การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางกฎหมาย คตง. ขึ้น ว่าตามกฎหมายแล้วการจัดตั้งที่ปรึกษาดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้อง เพราะในการสรรหาคตง.ทุกคนที่สมัครเข้ามาต่างแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาว่ามีความรู้ความสามารถกันทุกคน แต่จะมาอ้างว่าไม่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต้องตั้งทีมที่ปรึกษาจึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
“คตง. ทุกท่านก็ต้องถือว่าเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถกันอยู่ทุกคนแล้ว ซึ่งการที่จะอ้างว่าไม่ มีความรู้ทางกฎหมายกันทุกคนนั้นก็เป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่ได้ความ เนื่องจากจะให้ คตง. ทุกคนมีความรู้ทาง กฎหมายกฎหมายทุกคนไม่ได้ เพราะไม่ใช่กระทรวงยุติธรรม คตง. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ดัง นั้นความรู้ก็ต้องมีหลากหลายสาขาต่างกันไป” แหล่งข่าวกล่าว
บันทึกฤษฎีกามัดส่อแววซ้ำรอย 3 หนา
นอกจากการสอบปากคำและหลักฐานที่สตง.พยายามเร่งตรวจสอบอยู่ หากมองย้อนถึงวิชามารที่พยายามจะตัดตอนเพื่อไม่ให้สตง.เข้าแคะคุ้ยเรื่องนี้ ก็ต้องกล่าวถึงการทดสอบจากข้าราชการในระบอบทักษิณ โดยการยื่นให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความถึงอำนาจที่จะเรียกเจ้าหน้าที่สรรพากรสอบปากคำ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานมีบันทึกถึงกรมสรรพากร ว่าด้วยเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสตง.ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีกรณีนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่ทำให้ ระบอบทักษิณ ต้องสะดุ้งตัวยาว
เนื่องเพราะนอกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อสงสัยในอำนาจของสตง.แล้วว่า กรมสรรพากรไม่อาจบ่ายเบี่ยงที่จะยอมให้คำชี้แจงต่อสตง.ได้แล้ว ในบันทึกของสำนักงานกฤษฎีกายังมีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ไปเพิ่มความหวาดกลัวของผู้เกี่ยวข้องช่วยกันปกปิดเงื่อนงำในเรื่องนี้ โดยประเมินกันว่า อาจจะต้องเผชิญวิกฤติคล้ายคลึงกับคณะกรรมการกตต.ที่ช่วยกันโอบอุ้มระบอบทักษิณจนต้องติดคุก
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยในหลายเรื่อง(อ่านบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบ) โดยล้วนชี้เข้าตรงจุด อาทิ วินิจฉัยว่าการปฎิบัติที่ผ่านมานั้นตามกฎหมายภาษี และ ผูกพันกรมสรรพากร ว่า กรณีการขายหุ้นในลักษณะนี้ต้องประเมินเงินได้ ณ เวลาที่ได้หุ้นมา แต่สำหรับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปกรณีนี้กรมสรรพากรกลับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด
ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายหมาย ให้ความเห็นตรงกันว่า ประเด็นนี้ กรมสรรพากรไม่มีทางเลือกอื่นเพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีนั้นมีผลผูกพันตามกฎหมาย หากจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องแก้กฎหมายเท่านั้น เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะไปเปลี่ยนคำวินิจฉัยเองไม่ได้
“คำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรมีการเปลี่ยนแปลงการคำนวณเงินได้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตระกูลชินวัตร จึงผิดกฎหมายชัดเจน มีโทษอาญาสถานเดียว และ อาจจะหนักถึงขั้นยึดทรัพย์” นักกฎหมายที่คว่ำหวอดในเรื่องของภาษีให้ความเห็น
ประการต่อมาการตอบข้อหารือเป็นการปฎิบัติหน้าที่ในทางภาษีอากรจึงต้องมีความรับผิดชอบ
ประการสำคัญคือ วินิจฉัยว่า ภาระการที่จะต้องเสียภาษีนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาซื้อขายหุ้นชินคอร์ปนอกตลาด แต่สามารถยื่นแบบเพื่อเสียภาษีได้ในเดือนมีนาคมของปี 2550 แต่เนื่องจากการซื้อขายหุ้นแบบนี้ผู้เสียภาษีจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและต้องยื่นเสียภาษีภายใน 7 วันนับแต่เกิดรายการซื้อขาย ดังนั้นเมื่อไม่เสียภาษีตามกำหนดนี้ก็ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยและค่าปรับด้วย
“ความจริงไม่ใช่เฉพาะกรณีของแอมเพิลริชแต่เพียงอย่างเดียว ยังครอบคลุมทั้งการขายทั้งหมด73,000 ล้าน เพราะโอนนอกตลาดหุ้นมาก่อนทั้งสิ้น” นักกฎหมายระบุ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|