"เขื่อนสาละวินจะดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐฉานได้เป็นอิสระจากพม่าแล้วเท่านั้น"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เม็ดเงินจำนวน 13,550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 338,750 ล้านบาท ที่บริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์ ยื่นให้แก่รัฐบาลทหารพม่า เพื่อแลกเปลี่ยนกับสัมปทานการก่อสร้างเขื่อนสาละวินเป็นเวลา 30 ปี ดูช่างหอมหวลไม่น้อยสำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นฟูประเทศเช่นพม่า

ทว่านอกเหนือจากเหตุผลของทางรัฐบาลทหารพม่าที่ชี้แจงต่อบริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์ และบริษัทอื่น ๆ อีกสองสามรายที่เสนอโครงการ เพื่อขอสัมปทานเช่นกันแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยที่ครอบครองพื้นที่ในเขตรัฐฉานและลุ่มน้ำสาละวิน จะเป็นปัญหาสำคัญไม่น้อยที่อาจทำให้โครงการเขื่อนสาละวินถึงกับต้องพับโครงการ!!!

"การก่อสร้างเขื่อนสาละวินจะดำเนินไปได ้ก็ต่อเมื่อรัฐฉานของเราได้เป็นอิสระจากพม่าแล้วเท่านั้น " ขุนส่าหรือ "ราชายาเสพติด" ที่ทั่วโลกรู้จักชื่อของเขาดี ประกาศออกมาสั้น ๆ แต่หนักแน่น เมื่อรู้ว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้กำลังคืบคลานเข้ามายังรัฐฉาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างตัวเขื่อนอยู่ในเขตอิทธิพลของขุนส่านั่นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักธุรกิจจากเมืองไทยกลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปพบกับขุนส่าที่รัฐฉาน เพื่อหยั่งท่าทีของขุนส่าที่มีต่อโครงการเขื่อนสาละวิน

ขุนส่าในฐานะประธานสภาฟื้นฟูแห่งรัฐฉาน (SHAN STATE RESTORATION COUNCIL) ครอบครองพื้นที่ปลดปล่อยในเขตบ้านนามน, เมืองใหม่, และหัวเมืองประมาณ 1,800 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ของรัฐฉานทั้งหมด 161,910 ตารางกิโลเมตรพร้อมทั้งกองกำลังติดอาวุธที่ทันสมัยในนาม "กองทัพเมืองไต" มากกว่า 10,000 คน คอยดูแลรักษาพื้นที่ปลดปล่อย รวมทั้งให้ความคุ้มครอง "คาราวานฝิ่น" และขบวนสินค้าอื่น ๆ นับตั้งแต่อัญมณี เช่น พลอย, หยก, งาช้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่มาของรายได้อันมหาศาลที่ทำให้กองกำลังขุนส่าสามารถที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าได้เป็นเวลานานหลายสิบปี

แน่นอนว่าพื้นที่ในเขตปลดปล่อยของขุนส่า นอกจากจะหมายถึง "เขตที่มั่น" ที่จำต้องรักษาเอาไว้อย่างสุดชีวิตแล้ว พื้นที่ปลดปล่อยยังหมายถึง "อู่ข้าวอู่น้ำ" ที่สำคัญของขุนส่าที่จะไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องอีกด้วย

ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะตกลงให้สัมปทานการก่อสร้างเขื่อนสาละวินแก่บริษัทหนึ่งบริษัทใด รัฐบาลทหารพม่าก็จะต้องเลือกวิธีที่จะ "จัดการ" กับขุนส่าไม่ว่าวิธีหนึ่งวิธีใด

"ในพม่าไม่มีชนกลุ่มน้อย เรามีแต่สหภาพ และเรานั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายกำจัดขุนส่า" พลจัตวาเดวิด อาเบล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามว่า รัฐบาลทหารพม่าจะทำอย่างไรเมื่อขุนส่าประกาศคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน

อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่รัฐบาลทหารพม่าจะยินยอมมอบอิสระภาพในการปกครองรัฐฉานให้แก่ขุนส่าตามที่เขาเรียกร้อง เพราะนอกจากจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในเวลานี้แล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็นการยอมอ่อนข้อให้แก่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งเรียกร้องที่จะปกครองตัวเองมานานเกือบ 50 ปี ทั้งยังเป็นตัวอย่างให้ชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ ใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลทหารพม่า

และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกันที่รัฐบาลทหารพม่าจะเลือกเอาวิธีการปราบปรามอย่างรุนแรงมาใช ้แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าจะทุ่มเทงบประมาณด้านทหาร และจัดซื้ออาวุธที่ทันสมัยมาเสริมเขี้ยวเล็บอีกก็ตาม เพราะนอกจากขุนส่าจะมีกองกำลังที่เข้มแข็งและอาวุธที่ทันสมัยแล้ว ขุนส่ายังมีความได้เปรียบทางด้านยุทธภูมิซึ่งทหารฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถที่จะบุกเข้ามาโจมตีได้อย่างถนัดนัก

หรือหากรัฐบาลทหารพม่าตัดสินใจ ที่จะเลือกใช้การปราบปรามทางทหารอย่างจริงจัง รัฐบาลทหารพม่าก็ต้องเสี่ยง ที่จะประสบกับความสูญเสียอย่างสูงทั้งด้านกำลังพล และงบประมาณและที่สำคัญจะทำให้ไฟสงครามที่ใกล้จะมอดดับแล้วลุกโชนขึ้นมาบนแผ่นดินพม่าอีก!!!

อย่างไรก็ดี นอกจากพื้นที่ของโครงการเขื่อนสาละวินจะอยู่ในเขตอิทธิพลของขุนส่าแล้วโครงการเขื่อนสาละวินดังกล่าวก็ยังเกี่ยวข้องกับกลุ่มกะเหรี่ยงอิสระของ "นายพลโบเมี๊ยะ" อีกด้วย

กลุ่มกะเหรี่ยงอิสระมีกองกำลังติดอาวุธมากกว่า 5,000 คน ครอบครองพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ตะเข็บจังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาถึงจังหวัดตาก และมีกองกำลังกระจายลงมาจนถึงชายแดนไทยจังหวัดระนอง

ก่อนหน้านี้นายพลโบเมี๊ยะซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ได้กล่าว ณ ฐานที่มั่นมาเนอร์ปลอว์ ว่า การก่อสร้างเขื่อนสาละวินเป็นการทำลายล้างพื้นที่เพาะปลูก, พื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยง และที่สำคัญยังเป็นการทำลายพื้นที่ปฏิวัติของฝ่ายกะเหรี่ยงอีกด้วย เนื่องจากการก่อสร้างขื่อนจะทำให้พื้นที่ยึดครองฝ่ายกะเหรี่ยงจมอยู่ใต้น้ำ

"เราขอร้องให้มีการระงับโครงการนี้ไปยังรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งยื่นหนังสือคัดค้านไปยังธนาคารโลกด้วย แต่หากไม่ประสบผลสำเร็จ เราก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่รุนแรงเพื่อยับยั้งโครงการนี้" นายพลโบเมี๊ยะกล่าว

กลุ่มกะเหรี่ยงอิสระ กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อยุติสงครามเรียกร้องอิสระภาพในการปกครองตนเองที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี และคาดว่าการเจรจาหยุดยิงอย่างเป็นทางการนี้ กลุ่มกะเหรี่ยงจะมีการหยิบยกโครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวินขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาด้วย

ไม่ว่าผลการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่มกะเหรี่ยงกับรัฐบาลทหารพม่าจะเป็นเช่นไร หรือบริษัทใดจะได้รับสัมปทานโครงการเขื่อนสาละวินก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ โครงการเขื่อนสาละวินยังไม่อาจที่จะเริ่มต้นก่อสร้างได้ ตราบใดที่รัฐบาลทหารพม่ายังไม่สามารถจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อยได้ลงตัว!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.