ปลายเดือนมกราคมนักธุรกิจไทยกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง รวมทั้ง "ผู้จัดการ"
ได้บุกป่าฝ่าดงจากชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าสู่เมืองหัวเมืองฐานที่มั่นของขุนส่าในรัฐฉานของประเทศพม่า
ในห้วงแห่งการเดินทาง คำถามประโยคเดียวแต่ให้ความหมาย ที่ต้องการคำยืนยันจากเจ้าถิ่นว่า
"ถ้าจะสร้างเขื่อนสาละวินในเขตรัฐฉานจะเป็นไปได้หรือไม่?"
คำตอบจากปากของขางซีฟู (ชื่อจีนของขุนส่า) ราชายาเสพติดของโลก คือ 'ได้'
แต่ต้องมาคุยกันในรายละเอียด
คำตอบที่ได้นั้นตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรือเปล่า? หรือมีความหมายระหว่างบรรทัดหรือไม่?
รวมทั้งจะมีผลในทางปฏิบัติได้สักเพียงใด? ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ค้างคาในใจ
กลับมาได้ไม่นานเท่าใด คืนใส ใจเย็น เลขานุการของขุนส่า ส่งโทรสารตามหลังมาว่า
ที่ประชุมสภาฟื้นฟูแห่งรัฐฉานได้ตกลงกันว่า สัญญาใด ๆ ก็ตามที่ทำกับรัฐบาลสลอร์คในกรุงย่างกุ้ง
หากโครงการนั้นอยู่ในพื้นที่ของรัฐฉานเสียแล้วโครงการนี้ไม่มีผลบังคับ
นั่นเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่พูดคุยกับขุนส่าในเรื่องการพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้า
เพราะว่าความจริงแล้วทั้งไทยและพม่ามีความสนใจที่จะพัฒนาแหล่งน้ำชายแดนทั้งสองประเทศมาเป็นเวลานาน
แต่แนวความคิดที่จะสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเพิ่งจะก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนเมษายน
2531 นี่เองเมื่อผู้แทนของทั้งประเทศได้เจรจากัน ในเวลานั้นมีเพียงหลักการกว้าง
ๆ เท่านั้น
เรื่องมาปรากฏเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2532 เลาขาธิการพลังงานแห่งชาติในเวลานั้น
(ภายหลังคือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน) ได้เดินทางไปเยือนกรุงย่างกุ้ง ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาพลังงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
ทั้งยังได้ตกลงกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน
มีการประชุมของคณะทำงานในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน การประชุมครั้งนั้นยกโครงการพัฒนาพลังงานตามแนวชายแดนสองประเทศขึ้นมาถึง
7 โครงการแล้วทั้งสองฝ่ายก็กลับไปพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ
มีการประชุมคณะทำงานชุดนี้อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2533 ที่กรุงเทพฯ
หลายโครงการถูกตัดออกไปเพราะความไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ แต่โครงการหนึ่งที่เหลืออยู่คือ
"โครงการสาละวิน"
เดือนมีนาคมปีถัดมามีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่งที่กรุงย่างกุ้ง คราวนี้ได้มีการขอให้บริษัทพัฒนาพลังงานไฟฟ้า
(ELECTRIC POWER DEVELOPMENT COMPANY-EPDC) ของญี่ปุ่นทำการศึกษา เดือนพฤษภาคมปี
2534 บริษัทอีพีดีซี ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายที่จะทำโครงการ
การศึกษาขั้นต้นแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมปีถัดมา
เมื่อผลการศึกษาออกมา การพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีความเป็นแตกต่างกันอยู่บ้าง
กล่าวคือในโครงการสาละวินการพลังงานเห็นว่าควรจะมีแค่พื้นที่เดียวในขณะที่การไฟฟ้าเห็นว่าสาละวินควรมีทั้งตอนล่างและตอนบน
ความไม่ราบรื่นทางการเมืองภายในของไทยทำให้โครงการนี้พลอยเงียบหายไปด้วย
สาละวินได้รับการหยิบยกขึ้นมาสู่ความสนใจของสาธารณชนอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทยพม่าในเดือนกันยายน
2536 ที่กรุงย่างกุ้ง โดย น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานฝ่ายไทยนำการประชุมในตอนนั้น
ซึ่งในที่สุดการประชุมครั้งนั้นได้มีการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกันขึ้นมาฉบับหนึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการสาละวิน
เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำ
แต่ระหว่างที่กระบวนการทางการทูตของเขื่อนสาละวินระหว่างไทย และพม่ากำลังดำเนินการอยู่อย่างเชื่องช้านั้น
บริษัทธุรกิจเอกชนของไทยถึง 3 บริษัทด้วยกันที่เสนอตัวเข้าไปทำโครงการสาละวิน
"บริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์" ของ ดร. ชาญณรงค์ โตชูวงศ์ เป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ได้เสนอขออนุมัติโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินต่อรัฐบาลพม่า
เนื่องจาก ดร. ชาญณรงค์ คุ้นเคยทั้งด้านภูมิประเทศทางตอนเหนือของไทยและใกล้ชิดกับกลุ่มพลังต่าง
ๆ ในพม่า ด้วยว่าเคยทำงานพัฒนาพื้นที่ในเขตกองทัพภาค 3
ดร. ชาญณรงค์เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพทั้งของไทยและพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพลเอกสุจินดา
คราประยูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2532 อันเป็นปีเดียวกับที่เขาเสนอโครงการดังกล่าว
และยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพลเอกสุจินดาก้าวขึ้นเป็นรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
ซึ่งนับได้ว่าช่วงเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าเป็นไปอย่างลึกซึ้งในหมู่ผู้นำกองทัพของสองประเทศ
นอกจากนี้ ดร. ชาญณรงค์ยังเป็นที่รู้จักดีในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติและวิทยาลัยการทัพบก
ตลอดจนเคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบกสมัยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด
นับตั้งแต่การเสนอโครงการสาละวินของเวิลด์ อิมเพ็กซ์ ดูเหมือนว่ายิ่งนานวัน
กลับมีผู้ต้องการเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในโครงการนี้มากยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนรายอื่น
ๆ ของไทย แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีเค้าว่าโครงการสาละวินจะไปสิ้นสุดที่จุดใด
"โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้มีเป้าหมายที่จะให้ทางพม่าได้ใช้ไฟฟ้าฟรี
และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของไทยในอนาคต และเพื่อเป็นการล้างกรรมของบรรพบุรุษพม่าที่ได้มาเผาบ้านเผาเมืองของไทยในอดีต"
ดร. ชาญณรงค์เปิดเผยความเป็นมาของโครงการกับ "ผู้จัดการ" เมื่อไม่นานมานี้
เริ่มแรกเขาได้ขอให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้สร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในบริเวณรัฐฉาน
ประเทศพม่า เหนือเขตแดนจังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอเวียงแหงไปประมาณ 70 กิโลเมตร
เพื่อผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,000 เมกกะวัตต์ โดย 10% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจ่ายให้ประเทศพม่าเพื่อใช้ในประเทศโดยเป็นการให้เปล่า
ที่เหลือจะขายให้ประเทศไทยในราคาที่เหมาะสม และขอผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินเข้าสู่ประเทศไทยทางต้นแม่น้ำปิงประมาณ
30% โดยไม่กระทบต่อปริมาณที่จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
รายละเอียดในข้อเสนอของบริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์ ถูกตีกลับและขอให้เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ
ๆ โดยรัฐบาลพม่า อาทิ การเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนแห่งอื่นก่อน คือที่เปาหลวง
ใกล้เมืองเปียงมะนาซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศพม่า ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดเล็ก
พลังไฟฟ้าที่ได้จะใช้สำหรับประเทศพม่าเท่านั้น หรือแม้กระทั่งพื้นที่การสร้างเขื่อนสาละวินที่ข้อเสนอมีว่า
ให้เขื่อนนี้เป็นสมบัติระหว่างประเทศอันมีความหมายว่าจะทำให้รัฐบาลพม่าเสียสิทธิเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งเขื่อนตลอดไป
เวิลด์ อิมเพ็กซ์ จึงขอเปลี่ยนข้อเสนอครั้งสุดท้ายเป็นขอสัมปทานสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นระยะเวลา
30 ปี นับตั้งแต่ที่ได้สร้างเขื่อนเสร็จซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6
ปี และเสนอที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐบาลพม่าเป็นรายปี คือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงการก่อสร้าง
หลังการก่อสร้าง 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นปีละ
500 ล้านเหรียญสหรัฐจนกระทั่งหมดสัญญา และเมื่อพ้นระยะเวลา 30 ปี เขื่อนสาละวินนี้จะตกเป็นของประเทศพม่าโดยสมบูรณ์
แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่อาจคืบหน้าไปได้มากกว่านั้น เมื่อรัฐบาลพม่า โดยพลจัตวาเดวิด
อาเบล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วางแผน และการคลังสมัยนั้น ได้มีหนังสือลงวันที่
26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เห็นชอบในหลักการให้บริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์ดำเนินการสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อน
แต่ต้องนำเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าบัญชีของรัฐบาลพม่าผ่านทางธนาคารแห่งหนึ่งของประเทศสิงคโปร์
เพื่อเป็นเงินประกันสำหรับการอนุญาตสถานที่ก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เวิลด์
อิมเพ็กซ์ประสบปัญหาในการหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมการสำรวจก่อสร้าง ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน
ดร. ชาญณรงค์จำต้องหยุดพักโครงการสาละวิน หันมาเอาดีทางด้านธุรกิจการเกษตรในพม่าซึ่งเขาได้ริเริ่มขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่างเต็มตัว
ถึงกระนั้นก็ตามเขายังคงมีความเชื่อมั่นว่า โครงการของเขายังจะได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี
จากกลุ่มพันธมิตรใดก็ได้ที่พร้อมจะก้าวไปในทางเดียวกันกับเขา แม้นั่นจะหมายถึงการที่เขาต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
นอกเหนือจากบริษัทเวิลด์ อิมแพ็กซ์ที่ยื่นเสนอโครงการเข้าไปแล้วก็มีกลุ่มเอกชนไทยอีก
2-3 กลุ่มที่สนใจโครงการสาละวินไม่น้อยไปกว่า ดร. ชาญณรงค์ ได้แก่บริษัทเวส
กรุ๊ป ของวิกรม อัยศิริ เจ้าของโรงแรมดุสิต ไอร์แลนด์ รีสอร์ท เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
วิกรมไม่เพียงสนใจการสร้างเขื่อนสาละวิน แต่ยังพุ่งความสนใจไปที่ทรัพยากรป่าไม้เหนือเขื่อนซึ่งความเป็นไปได้ของเขามีแต้มไม่น้อยกว่ารายอื่น
ๆ ด้วยเพราะความสัมพันธ์ที่มีกับหมู่นายทหารระดับสูงของของรัฐบาลพม่า
กิจการของเขาตั้งต้นจากการทำธุรกิจไม้ในพม่าแล้วจึงได้สัมปทานเป็นระยะเวลา
30 ปีในการเช่าเกาะสน ใกล้กับวิคตอเรีย พ้อยท์ตรงข้ามจังหวัดระนอง เพื่อสร้างรีสอร์ท
ต่อมาได้มีการร่วมทุนกับวิสาหกิจพม่าในอัตราส่วน 48:52 ตั้งโรงงานเจียระไนพลอย
และประกอบตัวเรือนเครื่องประดับ
เช่นเดียวกับบริษัทล็อกซ์เล่ย์ และบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์อันมีสุบิน ปิ่นขยัน
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาบริษัท ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทินในลาวร่วมกับบริษัทนอร์ดิกของนอร์เวย์และสวีเดน
ต่างก็ได้แสดงความจำนงต่อรัฐบาลพม่าเช่นกัน
ในเวลาต่อมาล็อกซเล่ย์ถอนตัว แต่พร้อมจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นที่ได้โครงการนี้
ขณะที่เอ็มดีเอ็กซ์ยังคงเดินหน้า และในเดือนพฤษภาคมนี้สุบินได้เดินทางไปพม่าเพื่อเจรจาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนภาครัฐบาล ต่างก็ให้ความสนใจไม่แพ้ภาคเอกชนเช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เดินทางเยือนพม่า
โครงการสาละวินจะต้องถูกหยิบยกขึ้นหารือกับฝ่ายพม่าจนเสมือนหนึ่งเป็นประเด็นหาเสียงในหมู่ระดับรัฐมนตรี
และคณะกรรมาธิการจากสภาผู้แทนราษฎร
ในความเห็นของผู้รับผิดชอบข้อเสนอฝ่ายพม่า พลจัตวาเดวิด อาเบล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์
ฝ่ายวางแผนและการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
ในปัจจุบันนี้เปิดเผยเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า โครงการสาละวินเป็นโครงการขนาดใหญ่
ต้องลงทุนมหาศาลไม่ต่ำกว่า 13,550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 338,750 ล้านบาท
เขาไม่คิดว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งจะสามารถดำเนินการคนเดียวได้ หากแต่ควรจะรวมกันเป็นกลุ่มคณะหรือ
CONSORTIUM
"ไม่ว่าใครจะเสนอมาสำรวจทางบก หรือทางอากาศ จะทำบางส่วนหรือทำทั้งหมดผมบอกทุก
ๆ คนว่า อย่าหมดเปลืองเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แม่น้ำสาละวินก่อกำเนิดมาจากชายแดนจีนไหลลงสู่ทะเล
ดังนั้นคุณไม่สามารถใช้เงินมากมายขนาดนั้นไปเพื่อสำรวจแม่น้ำสาละวินทั้งหมด
ถ้าคุณทำคนเดียวมันต้องใช้เวลาถึง 20 ปี"
"ผมคิดว่า บริษัทเหล่านี้ควรจะมีที่ปรึกษารวมกันเป็น CONSORTIUM ดูว่าจะหาเงินกันมาอย่างไร
เมื่อทุกอย่างชัดเจน จากนั้นก็เหลือเพียงแต่การสำรวจที่จะเริ่มต้น ซึ่งก็มีหลายแห่งมากที่พร้อมจะทำ"
พลจัตวาเดวิด อาเบลกล่าว
นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่พลจัตวาเดวิด อาเบลย้ำอยู่เสมอก็คือ โครงการดังกล่าวจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่จะเข้ามาค้ำประกันโครงการดังกล่าว
ทางออกของฝ่ายพม่าขณะนี้ จึงเป็นการยืดเวลา เพื่อรอดูท่าทีที่ชัดเจนของฝ่ายไทยเท่านั้นโดยอ้างว่าพม่าจำต้องพิจารณาถ้อยคำในร่างบันทึกความเข้าใจที่ฝ่ายไทยเสนอมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
และขอศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งคงจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรในการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการสาละวินกลับไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลพม่าแต่เพียงฝ่ายเดียว
เมื่อที่ตั้งโครงการสาละวินทั้งที่อยู่ในส่วนของข้อเสนอของเอกชนไทย และในส่วนการว่าจ้างบริษัท
EPDC (ELECTRIC POWER DEVELOPMENT COMPANY) ของญี่ปุ่นโดย กฟผ. ล้วนคาบเกี่ยวอยู่ในเขตปกครองของชนกลุ่มน้อยคือกลุ่มไทยใหญ่ในเขตรัฐฉานของขุนส่า
และกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงนำโดยนายพลโบเมียะ ซึ่งการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มต่าง
ๆ ยังอยู่ในกระบวนการที่ดูท่าว่าจะยังไม่เสร็จสิ้นง่าย ๆ (อ่านล้อมกรอบ)
แม้ว่าบัดนี้ที่โครงการสาละวินกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ยังคงมีความพยายามของฝ่ายไทยที่จะผลักดันให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้
วีระศักดิ์ ฟูตระกูล เอกอัครราชทูตไทยประจำพม่ากล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การแยกเจรจาระหว่างการผันน้ำโดยผ่านอุโมงค์ส่งน้ำซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของไทย
ออกจากการสร้างเขื่อนน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะไม่ต้องรอผลการศึกษาความเป็นไปได้
ซึ่งเขาบอกว่าพม่ามีท่าทีตอบรับข้อเสนอของสถานทูตไทยในกรุงย่างกุ้งไปในทางบวก
ขณะที่สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวและการพลังงาน
ยอมรับในปัญหาที่ว่า ข้อเสนอของไทยในร่างบันทึกความเข้าใจนั้น "กว้าง"
เกินไปและจำเป็นจะต้องมีการพูดให้ชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยว่า
โครงการดังกล่าวควรจะใช้เพื่อการใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเขาเดินทางไปพม่าเพื่อเจรจาเรื่องนี้ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยอีกครั้งในต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ภารกิจรัฐบาลและเอกชนไทยในวันนี้ จะต้องทำให้โครงการสาละวินเป็นจริงขึ้นมา
ดังนั้นการต้องตัดสินใจเลือกความเป็นไปได้ของโครงการให้ชัดเจน พร้อมทั้งการต้องเข้าไปมีส่วนในการเจรจากับกลุ่มพลังต่าง
ๆ ในพม่าที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงผลประโยชน์ที่ควรจะได้ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นของฝ่ายใดก็ตาม
เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างความเชื่อมั่นในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลดูจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าปรารถนาจากไทยมากที่สุด
แต่ก็กลายเป็นปัญหาหญ้าปากคอกที่ไทยตอบไม่ได้ง่าย ๆ เช่นกัน