คตง.จ้องล้มผลสอบภาษีชิน


ผู้จัดการรายวัน(4 กันยายน 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

‘ระบอบทักษิณ’ พล่านกลัวติดคุกซ้ำรอยกกต.! 5 เสือสรรพากรเล่นสงครามประสาทกับสตง.อีกรอบพยายามยื้อให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรวจสอบภาระภาษีตระกูลชินวัตร กรณีดีลชินคอร์ป ขณะที่แก้เกมผ่านคตง.เตรียมแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาทั้งที่ทุกเรื่องมีการกลั่นกรองโดยฝ่ายกฎหมายของสตง.แล้ว คาดดึง“ไกรสร บารมีอวยชัย” เซียนกฎหมายแขนขารัฐบาลหวังพลิกคำตัดสินหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน “โอ๊ค-เอม” ต้องจ่ายภาษี-คนเกี่ยวข้องมีสิทธิเดินเข้าคุกซ้ำรอย กกต. เผยเบื้องหลังคตง.แต่ละคนล้วนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลเถื่อนทั้งสิ้น

จากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบการจัดเก็บภาษีและการประเมินภาษีของกรมสรรพากร กรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นของ บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากบริษัทแอมเพิลริช ก่อนที่จะมีการซื้อ-ขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างชินคอร์ปกับกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ มูลค่า 73,000 ล้านบาทโดยไม่มีภาระต้องเสียภาษีนั้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรทั้ง 5 รายได้เดินทางมาชี้แจงกับ สตง. ในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีหนังสือมาจากคณะทำงานกฤษฎีกาส่งข้อวินิจฉัยมาแล้วว่า สตง. มีอำนาจในการดูข้อมูลจากรมสรรพากรกรณีการเสียภาษีของบุคคลแล้ว ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นถือเป็นการยืนยันอำนาจของ สตง. ได้เป็นอย่างดี

โดยภายหลังจากการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 ราย สตง. ได้ส่งหนังสือไปยังกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อขอเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรอ้างถึงระหว่างการให้ข้อมูลแต่ไม่ได้นำมาแสดงประกอบเพื่อเป็นการยืนยันการอ้างถึง รวมทั้งเอกสารบางฉบับที่ทาง สตง. ขอไปตั้งแต่ครั้งแรกแต่ยังไม่ได้รับเอกสารจากกรมสรรพากร โดยขอความร่วมมือว่าให้ส่งกลับมาให้เร็วที่สุด

ส่วนการนัดหมายให้เจ้าหน้าที่อีก 2 รายมาชี้แจงเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้ได้มีการขอเลื่อนนัดออกไปเป็นวันที่ 20 กันยายน จากเดิมที่เคยตกลงกันไว้ว่าจะให้มาชี้แจงภายในสัปดาห์นี้

“ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 รายได้อ้างว่าช่วงเวลาดังกล่าวติดราชการจึงขอเลื่อนนัดไปเป็นประมาณวันที่ 20 กันยายน ซึ่งในส่วนของวันที่นัดหมายนั้นทาง สตง. กำลังทำการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คนอยู่ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย โดยต้องดูเหตุผลในการขอเลื่อนนัดด้วยว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหน ดังนั้นช่วงที่รอเอกสารและการให้ข้อมูลเพิ่มเติมนั้นทาง สตง. ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเบื้องต้นก่อน ดังนั้นทาง สตง. จึงคาดว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายนนี้เช่นเดิม” แหล่งข่าวกล่าว

เสนอตั้งที่ปรึกษากฎหมายเตรียมพลิกมติ

สำหรับขั้นตอนของการตรวจสอบ หากคณะทำงานของสตง.ภายใต้การกำกับดูแลของ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. แล้วเสร็จในเดือนนี้ก็จะส่งต่อให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เป็นผู้ตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งถ้าพบว่าทุจริตจริงก็จะเข้าพระราชบัญญัติ (พรบ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา46 ทาง คตง. ก็จะต้องส่งเรื่องให้พนักงานสืบสวนเป็นผู้ตรวจสอบดำเนินคดีต่อไป

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) กล่าวว่า เมื่อวันพุธที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา นายนรชัย ศรีพิมล ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางกฎหมาย คตง. ขึ้น โดยคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายชุดดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 7-8 คน ซึ่งรายชื่อเบื้องต้นนั้นมีทั้งอดีตผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ นักวิชาการและข้าราชการประจำจากกระทรวงยุติธรรม โดยเป็นที่สงสัยว่าทาง คตง. จะตั้งคณะที่ปรึกาษาดังกล่าวขึ้นมาเพื่อเหตุผลอะไร ทั้งๆ ที่ทาง สตง. มีสำนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตในการตั้งทีมที่ปรึกษากฎหมายในชุดดังกล่าวว่า การจัดตั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ คตง. ทั้ง 10 คน โดยไม่ต้องดำเนินการตรวจสอบประวัติใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งบางคนนั้นที่ถูกเสนอชื่อมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายชุดดังกล่าวนั้นมีภาพลักษณ์ของการเป็นตัวแทนให้กลุ่มคนในรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย โดยเฉพาะนายไกรสร บารมีอวยชัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนของรัฐบาล

รายงานข่าวระบุอีกว่า การที่ คตง. จัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางกฎหมายชุดดังกล่าวขึ้นมานั้น อาจใช้เพื่อหาช่องกฎหมายบิดเบือนการพิจารณาของ สตง. ในกรณีการซื้อขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้หาก คตง.ตั้งที่ปรึกษาไม่มีความเป็นกลางอาจทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่สตง.ทำการตรวจสอบการทุจริตเรื่องต่างๆ ก็จะต้องหลุดไปถึงมือที่ปรึกษาชุดนี้ ซึ่งเปรียบเสมอคนนอก สตง. ดังนั้นอาจจะทำให้ผู้ที่ถูกสตง. ตรวจสอบรู้ความลับของ สตง. ได้ แต่ทั้งนี้การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาชุดดังกล่าวนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น

เบื้องหน้าเบื้องหลัง คตง.

ในส่วนของกรรมการคตง.ประกอบด้วยนายนรชัย ศรีพิมล ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน ในอดีตเป็นผู้ที่คลุกคลีและเติบโตมาจากสำนักงบประมาณ ดังนั้นจึงค่อนข้างมีความสนิทสนมกับนักการเมืองมากเป็นพิเศษ เพราะหากนักการเมืองคนไหนอยากได้งบประมาณก็จะต้องมาทำการปรึกษากับคนที่สำนักงบประมาณทั้งสิ้น

นอกจากนี้ที่ปรึกษาของนายนรชัย นั้นยังเป็นน้องภรรยาของของ นายศรีเมือง เจริญศิริ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็น สว. กลุ่มเดียวกับนายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา

ส่วน คตง. อีกรายที่ประวัติการทำงานที่ค่อนข้างเป็นที่เคลือบแคลงในความโปร่งใสนั้นคือ นายสำราญ ภูอนันตานนท์ ที่เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และยังเป็นอดีตผู้สมัครส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม พรรคไทยรักไทย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายวราเทพ รัตนากร ในปี พ.ศ. 2544 – 2545 และหลังจากนั้นจึงขยับขยายออกไปทำงานในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล โดยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2545 – 2546 อีกด้วย

ทางด้านนางศศิพัฒน์ เศวตวัฒนา นั้นในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปี พ.ศ. 2535 และยังเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย ซึ่งในการประชุมของ คตง.ในบางครั้งนางศศิพัฒน์ยังเคยเอ่ยปากถึงรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดพรรคไทยรักไทยว่าฝากเรื่องบางเรื่องมาให้พิจารณา ส่วนนายสิทธิพันธ ศรีเพ็ญ นั้นเคยเติบโตมาจากการเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ 6 สำนักงบประมาณ

ส่วนนางรวีพร คูหิรัญ นั้นเป็นลูกหม้อเติบโตมากจาก สตง. โดยตรง แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนในสตง. ต่างรู้กันดีว่า ไม่ค่อยลงรอยกับคุณหญิงจารุวรรณนัก ส่วนสาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ขณะนายบุญรอด โบว์เสรีวงศ์ ก็เป็นที่รู้กันดีว่ามีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดยเป็นเจ้าของโรงแรมวินเซอร์ ถนนสุขุมวิท โรงแรมหรูระดับสี่ดาว ด้านพลโท สมชาย วิรุฬหผลนั้นเคยเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2545 ซึ่งในความใกล้ชิดกับรัฐบาลของคตง.ทำให้ไม่มีคตง.คนใดคัดค้านการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายในครั้งนี้

ดิ้นเฮือกสุดท้ายก่อนซ้ำรอยกกต.

ที่ผ่านมานั้น ประเด็นการขายหุ้นของตระกูลชินวัตร เป็นที่ถกเถียงกันวงกว้าง โดยหลักการหนึ่งเดียวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ พวกยกมาอ้างคือ ธุรกรรมเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายอยู่แล้ว ขณะที่ตัดตอนข้อสังสัยอื่นๆโยนให้ข้าราชการระดับสูงของกรมสรรพากรเป็นผู้คอยช่วยเหลือบิดเบือนกระบวนการที่ควรจะเป็น การกระทำพยายามปกปิดข้อเท็จจริงนี้ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมาการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งผลสุดท้าย คณะกรรมการกกต.ต้องเดินเข้าคุก และกรณีการเว้นภาษีให้กับตระกูลชินวัตรกำลังถูกจับตามองว่า อาจซ้ำรอยกกต.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.