"ธุรกิจนักพูด ขุมทองบนฟองน้ำลาย"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

เดิมทีเดียว "นักพูด" ไม่ได้ถือว่าเป็นอาชีพ แต่ไม่กี่ปีย้อนหลัง บรรดาคนเจ้าคารมพากันชักแถวยกแผงขึ้นจอแก้ว สร้างความนิยมอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นขวัญใจชาวบ้านและกลายเป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ให้มากมาย ทุกวันนี้ นักพูดอาชีพทั้งหลายกำลังมุ่งหน้าสู่ธุรกิจฝึกอบรม ธุรกิจที่ลงทุนน้อย แถมมีอนาคตดีอีกต่างหาก!!

การพูดเพิ่งจะมามีความหมายในเชิงธุรกิจเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง!

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ นักพูดชื่อดังและเจ้าของสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ เล่าว่า "เมื่อก่อนการพูดจะเป็นการให้เกียรติกัน พูดเสร็จก็จะได้โล่ห์ ได้กล่อง ได้ของขวัญไปเรื่อย ๆ แต่ในยุคผมนี้สามารถเรียกค่าตอบแทนได้เลยว่า ..เท่าไร"

อภิชาต ดำดี นักพูดพิธีกรและเจ้าของสถาบันวิทยากรจัดการ บริษัท อาดัม กรุ๊ป บอกว่าครั้งแรก ในการพูดของเขาได้ต้นบอนไซกับเงินไม่ถึงร้อยบาทเป็นค่ารถสามล้อกลับบ้าน แต่ในยุคปัจจุบันนี้เขายอมรับว่าอาชีพนักพูดคืออาชีพที่เลี้ยงตัวได้

การพูดเป็นอาชีพของหลายคน ไม่ว่าจะเป็นทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์, อภิชาต ดำดี, วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์, สุรวงศ์ วัฒนกุล, พนม ปีเจริญ, นันทนา นันทวโรภาส, พะเยาว์ พัฒนพงศ์, จตุพล ชมภูนิช ฯลฯ เริ่มต้นขึ้นโดยวิธีไม่แตกต่างคือ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะมีอาชีพนี้โดยตรง แต่คิดจะทำไปเพราะใจรัก

"บังเอิญกระโดดมาตรงจังหวะของสังคมเปิดรับพอดี จึงถือเอาการพูดเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญทางหนึ่ง" นักพูดหลายคนพูดตรงกัน

มีหลายคนถึงกับทิ้งงานประจำหันมาจับงานการพูดอย่างเดียว

ผู้ที่เข้ามาก่อนใครและครองความนิยมมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้ และกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า "นักพูด" ก็คือ ทินวัฒน์

นั่นอาจจะเป็นเพราะเขาตั้งสถาบันขึ้นมาตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน และในรอบกว่า 20 ปี ทินวัฒน์ยึดอาชีพสอนวิชามนุษยสัมพันธ์และการพูดมาโดยตลอด สรุปได้ว่าเขาเป็นคนแรกที่ถือเอาเอาชีพนี้เลี้ยงตัว และขณะที่คนอื่น ๆ ในยุคของเขาทำเป็นอาชีพเสริมหรือไม่ก็เป็นการทำไปเพราะใจรัก วงจรชีวิตนักพูดอาชีพในความหมายที่กว้าง เพิ่งเริ่มต้นเมื่อราวปี 2525-2526 ซึ่งตรงกับช่วงของรายการทอล์คโชว์ทางโทรทัศน์เกิดขึ้น

สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 สมัย ผู้คลุกคลีในวงการนักพูดมาโดยตลอดให้ความเห็นว่า ก่อนหน้ามีรายการทอล์คโชว์ก็มีคนทำอยู่บ้างเหมือนกัน แต่พอมีรายการนี้ก็เริ่มมองว่าเป็นอาชีพได้ คนเริ่มรู้แล้วว่าเมื่อมีการติดต่อคนไปพูดเรื่องอะไรสักอย่าง จะต้องมีค่าตอบแทนให้ด้วย

รายการทีวี-วาทีทางสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 5 ของกรรณิกา ธรรมเกษร เป็นรายการทอล์คโชว์ที่มีส่วนอย่างมากในการเสริมให้สังคมวงกว้างรู้จักหน้าค่าตา และคุณของนักพูดในแง่ของการสร้างสรรค์บรรยากาศ "บันเทิงปนสาระ" ทั้งที่ก่อนหน้านี้แพร่หลายในวงจำกัด

รายการเวที-วาที จึงเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาชีพขึ้นมาอย่างกว้างขวางขึ้นในเวลาต่อมา

กลุ่มนักพูดมืออาชีพที่โตขึ้นมาเป็นแผงและกำลังขึ้นหม้อในยุคปัจจุบัน โดยทั่วไปมีรูปแบบประกอบการรับพูดตามที่ต่าง ๆ 3 ลักษณะ

ประการแรก จะรับงานทอล์คโชว์ ทั้งเดี่ยวและเป็นทีม เช่น รายการแซววาที, โต้วาที

ประการที่สอง จะเป็นผู้สอนศิลปะการพูดในที่ชุมนุมชนและมนุษยสัมพันธ์

และประการที่สาม เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ เช่น การบริหาร การจัดการ การขาย การบริการ ฯลฯ

นอกเหนือจากนั้นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมคือ ออกรายการทีวี ทั้งเกมโชว์และทอล์คโชว์ ตามแบบฉบับของขวัญใจประชาชนทั่วไป

และด้วยความสามารถในการดึงเอาสาระมาปนด้วยความบันเทิง ได้ผลลัพธ์เป็น "เสียงฮา" ส่งผลให้นักพูดจำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น "จำอวดราคาแพง" ซึ่งสมญานามนี้วงการนักพูดรับไม่ค่อยจะได้เพราะเป็นฉายาที่รุนแรงเกินไป

วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์ เจ้าของสถาบันฝึกอบรมแมน พาวเวอร์ นักพูดแห่งยุคอีกคนหนึ่งก็ยอมรับว่าปวดร้าวกับคำกล่าวหาที่รุนแรงนี้ "นักพูดต้องตลกแบบมีสาระ ต้องเสนอระบบความคิด ระบบมุมมองสังคม มุมมองหัวข้อนั้น ๆ ส่วนตลกต้องแสดงความแหลมคมทางแก๊กตลก แต่ไม่จำเป็นต้องมีสาระ"

"บางส่วนก็กลายเป็นจำอวดจริง ๆ" วิกรณ์ รักปวงชน วิทยากรนักพูดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวยอมรับและบอกว่า ส่วนตัวเขาเองไม่ต้องการเป็นนักพูด ต้องการเป็นนักวิชาการ นักฝึกอบรมมากกว่า เนื่องจากสถานะเช่นนี้เป็นการพูดที่มีกรอบวิชาการ มีประสบการณ์และมีงานวิจัยมารองรับ

จากบทบาทนักแสดงทอล์คโชว์ ไปถึงวิทยากรผู้ทรงภูมิบรรยายหัวข้อวิชาการด้านการจัดการการบริหารอื่น ๆ ก็เป็นส่วนที่ทำให้คนสับสนในสถานภาพของนักพูด

หลายคนถึงกับถามว่า อาจารย์…สอนที่ไหน? โดยเฉพาะผู้ซึ่งไม่เคยมีประวัติว่าเป็นอาจารย์ในสถาบันใดมาก่อน

นักพูดคนหนึ่งยอมรับตรงไปตรงมาว่า เคยถูกถามหลายครั้งเช่นเดียวกับวิทยากรนักพูดอีกหลายคน ทำให้บางคนต้องเป็นอาจารย์สอนขึ้นมาจะเป็นอาจารย์พิเศษก็เอา

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ตั้งข้อสังเกตไปถึงนักพูดที่ออกรายการทีวีแล้วกลายเป็นอาจารย์โดยไม่ได้สอนที่มหาวิทยาลัยหรือที่ไหนว่า "ไม่รู้ว่าเรียกตนหรือว่าคนเรียกขาน"

ขณะที่กรรณิกา เจ้าของรายการเวที-วาทียืนยันว่า เป็นเพราะผู้ฟังยกย่องจึงต้องเรียก

วสันต์สรุปตรงนี้ว่า ความจริงการเรียกอาจารย์เป็นการเรียกที่เหมาะสม เพราะนักพูดมีสถานภาพของการเป็น "ผู้ให้" ด้วย

"นักพูดมีจำนวนมากขึ้นก็มีทั้งความดีและความเสื่อม ความดีคือพวกที่เข้าไปสามารถได้ทั้งคุณค่าเนื้อหาสาระ แต่บางคนโด่งดังอาจจะมีคนเชิญ ซึ่งหลายด้านไม่โทษเขา แต่โทษคนเชิญ ไม่ใช่ความผิดของนักพูด เพราะเขาอยากได้รายได้เขาต้องไป" เสรี วงษ์มณฑา อาจารย์ชื่อดังกล่าวถึงนักพูดที่เป็นวิทยากรรับบรรยายหัวข้อต่าง ๆ ว่า ผู้เชิญควรศึกษาวิทยากรว่ามีภูมิหลังมาจากด้านใด

"บางคนไม่มีภูมิหลังทั้งเรียนและทำงาน ยังอุตส่าห์แจ้นไปจ้างเขา แล้วจะให้พูดได้อย่างไร" เสรีกล่าว

3 รูปแบบที่นักพูดมักได้รับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกเหนือจากหน้าที่พิธีกร งานที่ทำรายได้สม่ำเสมอและนำมาซึ่งชื่อเสียงก็คือ งานบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเสริมศักยภาพของคน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย (ตรง) ประกอบเข้ากับยุคสมัยที่ธุรกิจขยายตัวมากขึ้น ความต้องการด้านการอบรมก็มีมากเป็นเงาตามตัว เกิดเป็นตลาดที่รองรับการขยายตัวของนักพูดได้เป็นอย่างดี

กิจการอบรมในรูป IN-HOUSE TRAINING เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกเหนือไปจากการเปิดสอนหัวข้อเปิดให้ผู้สนใจสมัครเข้าเรียนที่สำนักฝึกอบรมทั่วไปเปิดอย่างแพร่หลาย

บรรดานักพูดซึ่งได้รับการเรียกขานว่า "อาจารย์" ด้วยความสามารถในการถ่ายทอด จึงดูเหมาะสมกับธุรกิจฝึกอบรมอย่างหลีกไม่ได้

มีนักพูดจำนวนมากกำลังมุ่งเข้ามาในธุรกิจฝึกอบรม

ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ตั้งสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ (MANAGEMENT TRAINING LTD,. เรียกย่อ ๆ ว่า "MTL") เปิดตัวหลักสูตรการพูดและมนุษยสัมพันธ์ โดยมีแนวทางจากสถาบันเดล คาร์เนกี้ สถาบันซึ่งมีสาขาทั่วโลกเมื่อปี 2515

สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพถือเป็นกิจการแห่งแรกในเมืองไทยที่ทำให้ "การพูด" กลายเป็นธุรกิจจากเดิมที่การสอนวิชาทำนองนี้จะมีเฉพาะในองค์กรซึ่งไม่แสวงกำไรอย่างเช่น "สมาคมพัฒนาการพูดแห่งประเทศไทย"

และกว่า 20 ปีมานี้ สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพขยายตัวขึ้นโดยมี ทินวัฒน์ ยังคงนั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการ และภรรยาของเขา มาลีรัตน์ เป็นรองกรรมการผู้อำนวยการ

ทินวัฒน์ สนใจวิชาการพูดต่อชุมชนอย่างจริงจังมาตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิยาลัยธรรมศาตร์จนกระทั่งจบการศึกษาก็เริ่มทำงานที่ศูนย์เพิ่มผลผลิต กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมนักธุรกิจ เขายังสนใจเข้าฝึกอบรมรวมถึงเป็นผู้สอนให้กับผู้สนใจหน้าใหม่ ในสมาคมพัฒนาการพูดฯ

ในคราวที่ทินวัฒน์ได้ไปดูงาน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เขาไม่รีรอที่จะกระโดดเข้าฝึกการพูดกับสถาบันเดล คาร์เนกี้ สาขาลอนดอน หลักสูตรมนุษยสัมพันธ์และการพูดต่อที่ชุมชน ตามคำแนะนำของแพทย์หญิงลัดดาวัลย์ ศรียานนท์ ผู้ที่จบหลักสูตรเดียวกันและจากสถาบันเดียวกัน แต่เป็นสาขาเมือง LYNCHBURRG มลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกากลับมาเมืองไทยปี 2515 เขาก็จับมือกับแพทย์หญิงลัดดาวัลย์ เปิดโรงเรียนฝึกการพูดทันที

เมื่อเริ่มต้นทินวัฒน์ และแพทย์หญิงลัดดาวัลย์ปรึกษากับประโพธิ เปาโรหิตย์ นักธุรกิจใหญ่ แห่งค่ายลีเวอร์ บราเธอร์ อดีตนายกสมาคมพัฒนาการพูดฯ คนที่ 2

ประโพธิให้คำแนะนำทุกอย่างและมีส่วนช่วยอย่างมาก แม้กระทั่งการตั้งชื่อ ศูนย์ "พัฒนาบุคลิกภาพ" ก็มาจากประโพธิ เพราะชื่อที่ขึ้นด้วยคำว่า "สร้าง…" ตามที่ทินวัฒน์ต้องการนั้น ประโพธิบอกว่าสร้างก็คือเดิมไม่มี ให้มีความหมายในทางลบมากกว่าทางสร้างสรรค์

ทินวัฒน์ ลาออกจากศูนย์เพิ่มผลผลิตไปทำงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก่อนจะสมัคร ส.ส. ในปี 2519 และสอบตกพร้อมกับ นายแพทย์ประสาน ต่างใจ, อาทิตย์ อุไรรัตน์ และผู้สมัครในนามพรรคพลังใหม่ทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ทำให้เขาหันหน้ามาจับธุรกิจอบรมมนุษยสัมพันธ์ และการพูดต่อที่ชุมชนอย่างจริงจังในนามสถาบันพัฒนาบุคคลิกภาพหลังจากที่ทำเป็นอาชีพเสริมมานานถึง 4 ปี

รุ่นแรกที่เปิดสอนมีผู้สนใจเข้ามาเรียน 41 คน โดยคิดราคา 500 บาทต่อคน มีระยะเวลาเรียน 10 วัน (เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์)

"เปิดรุ่นหนึ่งปั๊บผมก็รู้เลยว่าเกิดได้แล้ว เพราะวัดจากคุณภาพคนที่เข้ามาเรียน และก็เป็นจริงตามที่คิด รุ่นหนึ่งไม่ทันจบ ก็ต้องเปิดรุ่นสองซ้อนขึ้นมาเลย เพราะได้รับความสนใจมาก ลูกศิษย์ที่เข้ามาเรียนเป็นกลุ่มแรกก็คือ ดร. ทรงศักดิ์ เอาฬาร เจ้าของกลุ่มฟอร์ร่าวิลล์ บราเดอร์ หลุยส์ ชาแนล หรือ วิริยะ ฉันทะ วโรดมภ์ อธิการใหญ่ในกลุ่มโรงเรียนอัสสัมชัญ คุณสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ตอนนั้นยศแค่ พ.ต.ท. เป็นสารวัตรใหญ่ สน. จักรวรรดิ" ทินวัฒน์เล่าถึงความมั่นใจในธุรกิจ นอกจากนั้นยังมี เกษม วิศวพลานนท์ นักธุรกิจพัฒนาที่ดินชื่อดังอบรมมาตั้งแต่ปี 2515 สุพจน์ เดชสกุลธร นักธุรกิจผู้อื้อฉาวก็อบรมในปี 2516 เจ้ากอแก้ว ประกายวิล ณ เชียงใหม่ อบรมในปี 2523, ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา อบรมตั้งแต่ปี 2520

กิจการของเขาได้รับความยอมรับในสังคม มีผู้คนอีกมากมายแทบทุกวงการเข้ามาที่สถาบันของทินวัฒน์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และยังขยายวงจากคนไม่กี่กลุ่มไปสู่คนมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัด

ถึงสิ้นปี 2536 มีผู้ผ่านหลักสูตรมนุษยสัมพันธ์และการพูดต่อที่ชุมชน จากสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพกว่า 23,000 คน ปัจจุบันเปิดอบรมปีละ 30 กว่ารุ่น แต่ละรุ่นอาจจะมีมากกว่า 1 ห้อง (ห้องละ 35 คน) มีหัวข้ออบรมในหลักสูตร 10 หัวข้อ ระยะเวลาอบรม 5 วันเต็ม ราคาค่าอบรมปรับขึ้นเป็น 7,904 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ประเมินอย่างคร่าว ๆ ทินวัฒน์มียอดรายได้จากการเปิดสอนการพูดเพียงแค่หลักสูตรเดียวกว่า 7 ล้านบาทต่อปี

แม้นจะมีบางเสียงครหาว่า แท้จริงเขาลอกเลียนเอาหลักสูตรของ เดล คาร์เนกี้ มาทำขึ้นโดยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์ แต่ทินวัฒน์ก็สามารถดำเนินการมาได้อย่างยิ่งยงเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอบรมทางด้านนี้

"ราวปี 2519 ก็มีตัวแทนของเดล คาร์เนกี้มาดูผมเหมือนกัน แต่ความจริงผมไม่ได้เอาของเขามาหมด ผมเอามาผสมเป็น เดลผสมน้ำพริก" เจ้าสำนักพัฒนาบุคลิกภาพ กล่าวถึงต้นแบบหลักสูตรก่อนจะเล่าว่า เขาเก็บค่าฝึกอบรมแค่ 700 บาทในปี 2519 แต่เดล คาร์เนกี้ซึ่งเคยคิดจะมาเปิดสาขาในไทยเหมือนกัน คิดค่าเรียนประมาณหมื่นกว่าบาท ย่อมแข่งขันกับกิจการของเขาไม่ได้แน่

สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพเติบโตในหมู่คนไทยโดยไม่มีสาขาของเดล คาร์เนกี้ให้เห็นในเมืองไทย จนกระทั่งในปี 2534 สมัย ชินะผา แห่งเครือเซนต์จอห์น ได้ขอลิขสิทธิ์เข้ามาเปิดสาขาของ เดล คาร์เนกี้เป็นหนึ่งใน 72 ประเทศทั่วโลก

ปัจจุบันนอกเหนือจากหลักสูตรมนุษยสัมพันธ์และการพูดในที่ชุมชน สถาบันพัฒนาบุคลิกภาพให้มีหลักสูตรที่หลากหลายขึ้นเพียงใด เขาก็ยังไม่ทิ้งแกนของศูนย์คือ หลักสูตรมนุษยสัมพันธ์และการพูดต่อที่ชุมชน

ขณะที่สถาบันอื่น ๆ เริ่มเกิดขึ้นด้วยฝีมือของนักพูดรุ่นต่อมา เช่น สถาบันพัฒนาบุคคล ของ ไพรัช สร้างถิ่น อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง คนที่ 1

ไพรัชเป็นข้าราชการซี 7 สังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เขาเคยเข้ามาในสมาคมพัฒนาการพูดแห่งประเทศไทย เคยได้รับรางวัลพูดสุนทรพจน์ชนะเลิศ และเคยเป็นวิทยากรให้กับศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพของทินวัฒน์ ทำให้มีประสบการณ์มากพอในด้านการอบรม

ไพรัชรวบรวมเอานักพูดที่เข้าขั้นระดับวิทยากรมาชุมนุม ตั้งเป็นสถาบันอบรมขึ้น ในทีมเขามี ถาวร โชติชื่น นักพูดระดับเหรียญทองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เสน่ห์ ศรีสุวรรณ จากจุฬาฯ เช่นกัน และคมคาย สงวนนภาพร นิติศาสตร์บัณฑิตจากรามคำแหง ฯลฯ

"สถาบันพัฒนาบุคคล" เกิดเมื่อปี 2526 ในช่วงแรกมีความถี่ของการอบรมมาก นับเป็นสถาบันคู่แข่งของทินวัฒน์ ในด้านการสอนศิลปการพูดที่ชุมนุม แต่ในเวลาต่อมากิจการของ ไพรัช ไม่ฟู่ฟ่าเท่าที่ควรหากเทียบกับสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพสาเหตุประการสำคัญก็คือ วิทยากรทุกคนล้วนมีงานประจำทำทั้งหมด

ปัจจุบันสถาบันพัฒนาบุคคลของไพรัชยังคงอยู่ มี "วิน ทองใบ" รับผิดชอบประจำ มีสาขาหลายแห่งทั่วประเทศ แต่ความถี่ของการอบรมไม่มากนัก ความเสียเปรียบของ ไพรัช ประการสำคัญอันหนึ่งในเวลานี้ก็คือเขาไม่ได้ออกรายการทีวีจึงไม่โด่งดังเหมือนนักพูดคนอื่น ๆ

สำหรับถาวร โชติชื่น เป็นนักพูดรับเชิญทางทีวีที่คุ้นหน้าคุ้นตา ไม่แพ้ เสน่ห์ ศรีสุวรรณ ทั้งสองมีงานประจำไม่ได้ยึดเอา "การบรรยายหรือทอล์คโชว์" เป็นอาชีพหลัก และไม่ได้ผูกอยู่กับสถาบันพัฒนาบุคคลของไพรัช

ปัจจุบัน ถาวร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ของบริษัทเบทาโกร ขายอาหารสัตว์ ส่วนเสน่ห์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัทเอสโซ่ แสตนดาร์ด (ไทย)

"ตามทะเบียนที่ผ่านเข้ามาอบรมในสถาบันมีประมาณ 8,000 คน" ไพรัช กล่าวถึงลูกศิษย์ลูกหาที่เข้ามาอบรมหลักสูตรศิลปการพูดตามแนวทางของเดล คาร์เนกี้ ผสมกับการพูดในระบบโทสต์มาสเตอร์ เช่นเดียวกับสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพ

สุรวงศ์ วัฒนกุล เป็นนักพูดอีกคนที่เข้ามาจับธุรกิจฝึกอบรม เขาจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นบัณฑิตดีเด่นของมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เอาดีด้านทนายความสมกับที่เรียนมาโดยตรง แต่หันมาสนใจการพูดอย่างจริงจังตั้งแต่เป็นนักศึกษา เคยเป็นประธานแผนกปาฐกถาและโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2519 เป็นวิทยากรการพูดให้กับสถาบันหลายแห่ง เคยร่วมขบวนกับสถาบันพัฒนาบุคลิกภาพของทินวัฒน์ เช่นเดียวกับนักพูดอีกหลายคน

สุรวงศ์ตั้งสถาบันพัฒนาฝึกการพูดและการบริหารเมื่อปี 2529 โดยร่วมมือกับวสันต์ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัดสินใจทิ้งงานประจำคือ นิติกรประจำการเคหะแห่งชาติ ลาออกมาจับธุรกิจการพูดอย่างเต็มตัว มีนักพูดชื่อดังหลายคนมาเป็นกำลังให้กับธุรกิจของสุรวงศ์อย่างคับคั่งในตอนเริ่มต้นใหม่ ๆ บางคนเคยเป็นวิทยากรในศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพของทินวัฒน์ แต่พร้อมใจกันออกมาด้วยเหตุผลใกล้เคียงกันคือ เป็นวิทยากรศูนย์ฯ แล้วไม่สามารถรับงานบรรยายโดยอิสระ ขณะเดียวกันทางศูนย์ก็ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนที่ดีแต่อย่างใด

กิจการของสถาบันฝึกการพูดและการบริหารซึ่งเป็นสถาบันอบรมทั้งการพูดและการบริหารจัดการทำท่าจะไปได้สวย แต่แล้วก็มีปัญหาเรื่องการจัดการเสียเอง ประกอบกับ สุรวงศ์ มีงานบรรยายส่วนตัวมากทำให้มีปัญหาขึ้น

วิทยากรคนหนึ่งบอกว่า "ธุรกิจการอบรมของสุรวงศ์ในช่วงนั้นความจริงสร้างรายได้ให้กับทีมงานได้มาก หากมีความสามารถจัดระบบอย่างมีประสิทธิภาพและจริงจังในการทำงาน"

สำนักของสุรวงศ์ ยุบตัวไปพร้อมกับการหันมาทำรายการทีวี รายการทอล์คกิ้ง คอนเสิร์ต รายการทางโทรทัศน์ช่อง 9 ที่มีเฉพาะวันหยุดนักขัตฤกษ์ และภายหลังขยายเวลาออกไปในวันธรรมดาเพื่อเพิ่มรายได้ แต่ต้องพบกับความผิดหวังอีก

"รายการไม่ประสบความสำเร็จเพราะขยายเวลา" วสันต์ หุ้นส่วนคนหนึ่งสรุปเหตุการณ์ และในที่สุดกิจการทำรายการทีวีก็ล้มลงไปพร้อมกับหนี้สินจำนวนหนึ่ง

ข่าวไม่ลงรอยของผู้ถือหุ้นก็ปรากฏขึ้น มีรายการแฉโพยให้นักพูดระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยฟังกันอย่างเมามัน เล่ากันว่า ความบาดหมางมีมาถึงวันนี้

สุรวงศ์ยังอยู่ในธุรกิจอบรมและรับบรรยายทั่วไปในหัวข้อต่าง ๆ เป็นวิทยากรรับเชิญทอล์คโชว์ทั้งทางโทรทัศน์รายการเวที-วาที9 ใหม่ และอื่น ๆ ปัจจุบันเขาตั้งสำนักพัฒนาทักษะความคิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว สำนักของเขารับทำหลักสูตรที่เป็น IN-HOUSE TRAINING เป็นหลัก

ส่วนวสันต์ก็มาร่วมงานกับกรรณิกาที่บริษัท ภาษร โปรดักส์ชั่น เช่นเดียวกับ พนม ปีเจริญ นักพูดชื่อดัง แต่ไม่นานนักเรื่องไม่ลงรอยกันในทางธุรกิจก็ปรากฏขึ้นมาอีก วสันต์ถอนหุ้นจากภาษร โปรดักส์ชั่น ออกมาทำงานในบริษัท เนเจอร์ ไลฟ์ กิจการขายนมผึ้งและเครื่องสำอางของพนมอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะมาตั้งบริษัททำรายการทีวีชื่อรายการ "คู่ปาก-คู่ปรับ" ทางช่อง 3 โดยมีพนม เป็นผู้ดำเนินการ

พนมเป็นนักพูด และวิทยากรอีกคนที่ไต่ระดับขึ้นมาในวงการอย่างน่าสนใจ เขาจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. จากโรงเรียนเพาะช่าง เข้าทำงานที่บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในฝ่ายประสานงานจัดอบรมนักขายประกัน ต่อมาได้รับการชักชวนให้เป็นผู้จัดการแผนกบุคคลของห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ที่เลิกกิจการไปแล้ว

ก้าวต่อมาพนมย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ บางลำพู จากนั้นมานั่งเป็นที่ปรึกษาบริษัทขายนมผึ้งชื่อ ควีน ลิฟวิ่งโปรดักส์ ก่อนที่จะออกมาตั้งบริษัทเนเจอร์ไลฟ์ ทำนมผึ้งขายเอง

ล่าสุดพนมและวสันต์ ตั้งสถาบันฝึกอบรมแมนเพาเวอร์ สอนหลักสูตรการพัฒนาพลังการพูดและบุคลิกภาพ โดยพนมนั่งเป็นประธานสถาบันส่วนวสันต์เป็นผู้อำนวยการ

สถาบันฝึกอบรมแมรเพาเวอร์เปิดสอนหลักสูตรใกล้เคียงกับของทินวัฒน์ มีหัวข้ออบรม 10 หัวข้อ ระยะเวลา 5 วันโดยเลือกว่าจะเรียนเสาร์หรืออาทิตย์ คิดราคาค่าอบรมคนละ 6,955 บาท

แม้สำนักของวสันต์และพนมเพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 10 รุ่น มีผู้ผ่านสถาบันยังไม่ถึงพันคน แต่ความแรงของสื่อโฆษณาที่อยู่ในมือของเขา นับเป็นสิ่งที่ประมาณได้ว่าสถาบันนี้จะต้องโตขึ้นรวดเร็วและมายืนอยู่แนวหน้าของธุรกิจได้อย่างไม่ยากเย็น

เว้นเสียแต่ว่าจะเกิดปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับวสันต์มาแล้วสองครั้งสองครา!!

แนวทางการอบรมของสถาบันฝึกอบรมแมนพาวเวอร์ ยังเป็นเพียงการสอนเรื่องการพูดและบุคลิกภาพ ในหลักที่ไม่ได้ต่างไปจากสถาบัน 2 แห่งที่กล่าวไปแล้วคือใช้ระบบเดล คาร์เนกี้ผสมโทสต์มาสเตอร์

ขณะที่สถาบันวิทยาการจัดการของอภิชาติ ดำดี บัณฑิตจากรั้วธรรมศาสตร์ที่โด่งดังในแวดวงการพูดและเขียนมาตั้งแต่ครั้งโน้น ไม่ได้มุ่งจัดอบรมการพูด เขาเปิดสถาบันฝึกอบรมในหลักสูตรครอบคลุมหลายอย่าง มีหัวข้อที่สถาบันเขารับจัดการกว่า 30 หัวข้อ ตั้งแต่เรื่องเทคนิคการสร้างภาวะผู้นำการพัฒนาหัวหน้างาน เทคนิคการประชุม ศิลปะการประชุม เทคนิคการเป็นวิทยากร ไปจนถึงศิลปะการคลายเครียด

สมชาย หนองฮี ผู้จัดการฝ่ายอบรมของสถาบันวิทยาการจัดการ บอกว่า "ปีนี้ทางบริษัทจะโหมรุกด้านธุรกิจอบรมมากขึ้น เราจะเน้น IN-HOUSE TRAINING"

นอกจากธุรกิจสื่อทีวีซึ่งอภิชาติจับเอาไวเในฐานะมือรับจ้างเป็นพรีเซนเตอร์ในแบบผู้ใหญ่บ้านดำดี เขายังรับเป็นวิทยากรบรรยายตามแบบฉบับนักพูดทั่วไป

บริษัท อดัม กรุ๊ป ของเขากำลังขยายตัวไปในธุรกิจอบรม ซึ่งทำรายได้ให้เงียบ ๆ โดยวิธีอบรมให้ภายใน (IN-HOUSE TRAINING) อย่างน่าจับตา

นันทนา นันทวโรภาส หนึ่งในกลุ่มนนักพูดรุ่นเดียวกับอภิชาติและวสันต์ เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยครองตำแหน่งประธานชมรมปาฐกถาและโต้วาทีของมหาวิทยาลัยถึง 3 ปี ปัจจุบันนอกจากเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ยังตั้งสถาบันอบรมในสังกัดของศรีปทุมเองชื่อ EXPERT TRAINING CENTER

"เราตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อผลหลายอย่าง ทั้งด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ หลักสูตรที่เราทำให้ก็มีหลายด้านทั้งเรื่องการขาย การพัฒนาทีมงาน การบริหาร" นันทนา โฆษณาศูนย์อบรมที่ตัวเองนั่งเป็นผู้อำนวยการ

สถาบันฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยศรีปทุม นอกจากจะเปิดสัมมนาและอบรมตามโรงแรมต่าง ๆ แล้ว ยังรับจัดหลักสูตร IN-HOUSE TRAINING เช่นเดียวกับสถาบันของนักพูดคนอื่น ๆ

จตุพล ชมภูนิช นักพูดน้องใหม่ไฟแรงก็เพิ่งเปิดตัวตั้งสถาบันอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจขึ้นมาสด ๆ ร้อน ๆ มีหลักสูตรการพัฒนาบุคลิกภาพและการพูดเสนอให้ผู้สนใจเข้าอบรม โดยให้เวลาอบรม 4 วันจาก 6 หัวข้อ คิดราคาเพียง 4,500 บาท

จตุพลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี เขาจบนิติศาสตร์บัณฑิต จากรามคำแหงและเป็นทนายฝึกหัดช่วงปี 2528 แต่ไม่พอใจกับวิถีทางทนายความจึงกระโดดมาอยู่ในแวดวงนักพูด เป็นนักพูดขวัญใจผู้ชมรายการเวทีวาที ก่อนเป็นพิธีกรรายการโต้คารมมัธยมศึกษา เคยทำงานประจำด้านอบรมให้กับบริษัทควีนลิฟวิ่งโปรดักส์ที่เคยเป็นที่ปรึกษามาก่อน

ปัจจุบันจตุพลมีธุรกิจของตัวเองเป็นสถาบันอบรมชื่อ PROGRESS BUSINESS TRAINING INSTITUTE

กลุ่มนักพูดกำลังเคลื่อนไหวเปิดตัวสถาบันอบรมกันอย่างคับคั่ง กรรณิกา เจ้าของรายการเวที-9 ใหม่ เปิดเผยว่า ตนเองกำลังคิดจะขยายกิจการเข้าไปทำธุรกิจอบรมในเร็ว ๆ นี้ เพราะเห็นว่าตลาดนี้กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่คนเรายังต้องมีการพัฒนา

"นักพูด" เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาราวสิบปีมานี้ แต่เป็นอาชีพที่กำลังเติบใหญ่และขยายปีกเข้าไปในธุรกิจการอบรม ซึ่งเดิมมีเพียงนักวิชาการจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ทำกัน

นักพูดใช้ฐานการอบรมจากหลักสูตรพัฒนาการพูดและมนุษยสัมพันธ์ บุกเข้ามาหัวข้ออื่น ๆ แม้นบางคนถูกครหาถึงคุณภาพว่า อาศัยวิธีจดจำมาบอกเล่าต่อโดยไม่ได้มีภูมิด้านการศึกษาหรือประสบการณ์มาก่อน แต่ด้วยการถ่ายทอดที่ทรงประสิทธิภาพ บรรดานักพูดก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

รายรอบเค้กก้อนใหญ่ของธุรกิจนี้ ย่อมมีนักพูดแห่งยุคหลายคนถือมีดยืนปะปนกับคนอื่น ๆ รอตัดเค้กแบ่งกันกิน!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.