|
"ไทยธนาคาร-ทหารไทย"ความเหมือนที่แตกต่างแบงก์ชาติยอมลดสัดส่วน-คลังดิ้นจำนำหุ้น
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เปรียบเทียบการเพิ่มทุน 2 ธนาคารรัฐ ไทยธนาคารของแบงก์ชาติยอมลดสัดส่วน เปิดกองทุนนอกถือหุ้นเกือบ 25% ส่วนทหารไทยคลังดิ้นสุดฤทธิ์รักษาสิทธิถึงขั้นจำนำหุ้น MCOT สะท้อนภาพ TMB แบงก์ไม่ธรรมดา ยอมรักษาสัดส่วนสุดชีวิต
การเพิ่มทุนของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT จำนวน 9,400 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มจำนวน 940 ล้านหุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท โดยเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้กองทุน TPG Newbridge สัดส่วนร้อยละ 24.99 ย่อมส่งผลให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(หน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย) ที่ถือหุ้นอยู่ 48.98% สัดส่วนดังกล่าวย่อมต้องลดลง รวมถึงผู้ถือหุ้นรายอื่น
เปรียบเทียบกับการเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย หรือ TMB ที่เพิ่งปิดการขายเมื่อ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา การเพิ่มทุน 3,222.39 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นละ 3 บาท จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 4.75 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ครั้งนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นในสัดส่วน 20.88% ต้องใช้เงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนราว 3 พันล้านบาท เร่งขวนขวายหากเงินเพื่อมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน จนต้องนำเอาหุ้น อสมท(MCOT) ไปจำนำกับธนาคารออมสิน พร้อมทั้งแก้กฎระเบียบเพื่อไม่ให้กระทรวงการคลังทำผิดเงื่อนไขเพราะเมื่อขายหุ้น MCOT ไปทำให้สัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 70%
เหมือนแต่แตกต่าง
แม้ว่าทั้ง 2 ธนาคารจะถือหุ้นใหญ่โดยหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากเป็นธนาคารที่ประสบปัญหาในช่วงวิกฤติค่าเงินบาท โดยธนาคารทหารไทยขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังและเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ธนาคารไทยธนาคารเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารสหธนาคารและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีก 10 กว่าแห่ง มีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
"จะเห็นได้ว่าการเพิ่มทุนของทั้ง 2 ธนาคารมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อความมั่นคงของเงินกองทุนเพื่อให้เพียงพอต่อการกันสำรองและเตรียมตัวเพื่อรองรับมาตรการบาเซิล 2 ของทางการ แต่แตกต่างกันในเรื่องของการรักษาสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าว
ด้านไทยธนาคารที่มีกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นใหญ่นั้นปล่อยให้มีการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้กับกองทุน TPG Newbridge เข้ามาถือหุ้น 24.99% โดยที่การเพิ่มทุนครั้งนี้ยังไม่ได้ให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมต้องถูกลดสัดส่วนลงไปราว 41% แตกต่างจากธนาคารทหารไทยที่ผู้ถือหุ้นเดิมอย่างกระทรวงการคลังใช้สิทธิ ทั้ง ๆ ที่อาจมีปัญหาเรื่องเงินที่ต้องนำมาใช้เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนต้องนำหุ้น MCOT ออกไปจำนำกับธนาคารออมสินและยอมเสียดอกเบี้ย
แม้ที่ผ่านมาธุรกรรมของไทยธนาคารยังไม่โดดเด่นนัก แต่ธนาคารแห่งนี้ยังได้รับการชดเชย Yield Maintenance จากทางการ และธนาคารมีผลขาดทุนสะสมเพียง 2 พันกว่าล้านบาท ขณะที่ธนาคารทหารไทยยังมีผลขาดทุนสะสมอยู่กว่า 4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังแล้วก็ตาม
คนรัฐบาลกับอดีตที่ TMB
ต้องไม่ลืมว่าในอดีตธนาคารทั้ง 2 แห่งเคยสร้างความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาก่อน โดยสูตรในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินทีทางการเข้าไปดูแลนั้น เคยมีการเสนอให้มีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารไทยธนาคารกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT) ซึ่งเป็นแผนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง แต่สุดท้ายก็ผลิกโผเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ธนาคารทหารไทยควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมและธนาคารดีบีเอสไทยทนุแทน ทำให้ธนาคารไทยธนาคารต้องดำรงสถานะเดิมต่อไป
แม้ว่าจะมีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย ดีบีเอสไทยทนุและบรรษัทเงินทุนฯ มาระยะหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์ของแบงก์ TMB ก็ยังไม่ดีขึ้นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่ำกว่า 8.5% ภาระขาดทุนสะสมยังไม่ได้รับการแก้ไข จนต้องทำการเพิ่มทุนในครั้งนี้
ที่สำคัญเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ TMB ในอดีต ทุกคนต่างทราบดีว่ามีชื่อของพานทองแท้ ชินวัตร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแห่งนี้มาระยะหนึ่งและชื่อของเขาก็หายไปโดยปราศจากการรายงาน นอกจากนี้อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารทหารไทยชื่อทนง พิทยะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร และพบชื่อของพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย
TMB มี DBS
นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 อย่างธนาคารดีบีเอส แบงก์ หรือธนาคารดีบีเอสไทยทนุเดิมนั้นถือหุ้น 18.48% นั้น ธนาคารดีบีเอสเป็นธนาคารสัญชาติสิงคโปร์ที่มีเทมาเส็กถือหุ้นอยู่ 28% และธนาคารดีบีเอสก็ได้ทำธุรกิจทางด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลในนามแคปปิตอลโอเคร่วมกับบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จนท้ายที่สุดตระกูลชินวัตรก็ขายหุ้นในชิน คอร์ป ให้กับเทมาเส็กจากสิงคโปร์ผ่านโครงสร้างนอมินี ที่ตั้งบริษัทกุหลาบแก้ว ที่มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้น จนทำให้เกิดการตีความและยังไม่ได้ข้อสรุป รวมถึงเรื่องการขายหุ้นที่ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ซึ่งเรื่องยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 แห่งที่ทางการถือหุ้นใหญ่ มีแนวทางในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ถือหุ้นในสถาบันการเงินภายใต้กองทุนฟื้นฟูฯ นั้นประกาศชัดเจนว่าต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้น พร้อมขายออกทุกเมื่อหากได้ราคาที่ดี ขณะที่กระทรวงการคลังที่ถือหุ้นอยู่ในสถาบันการเงินบางแห่ง ไม่ใช่ว่าทุกแห่งที่กระทรวงการคลังถือหุ้นตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในอดีตจะเข้ามารักษาสัดส่วนการถือหุ้นทุกแห่ง บางแห่งก็ขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศหรือขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม แต่ในกรณีของธนาคารทหารไทยกลับเลือกที่จะรักษาสิทธิในหุ้นเพิ่มทุนที่แม้จะขัดสนในเรื่องเงิน แต่ก็ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาสิทธิ จนทำให้หลายฝ่ายข้องใจว่าทำไมต้องลงทุนกับธนาคารแห่งนี้มากเป็นพิเศษ
นับจากนี้คงต้องติดตามว่าธนาคารทหารไทยจะดำเนินงานไปในทิศทางใด แม้ว่าในรอบครึ่งปี 2549 จะมีกำไรราว 3.33 พันบ้านบาทลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย รวมทั้งแผนในการล้างขาดทุนสะสมที่มีกว่า 4 หมื่นล้านบาทจะแก้ด้วยวิธีการใด และจะมีเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ได้หรือไม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|