|
ขึงตาข่ายรองรับกระแสโลกาภิวัตน์กระแทกเศรษฐกิจพอเพียงถอดรหัสปัญหาความอ่อนแอ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤติเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา กับปัญหาสังคมที่สั่งสมมากขึ้นทุกวัน เกิดจากระบบความคิดที่มุ่งแต่หาผลประโยชน์สูงสุดเป็นที่ตั้งปราศจากซึ่งการคำนึกถึงความพอดี พอเพียง ในสิ่งที่มี นโยบายการพัฒนาประเทศในวันนี้มุ่งแต่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับวัตถุเพื่ออวดตัวในสังคมโลกว่าพัฒนาการทางวัตถุไทยมิได้ด้อยหรือน้อยหน้าไปกว่าประเทศใดในเอเชีย หากแต่ลืมคำนึงถึงแนวคิดที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งของประเทศอย่างแท้จริงและยั่งยืนด้วยการนำ"เศรษฐกิจพอเพียง"มาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์กระแสโลกาภิวัตน์ ที่ต้องสร้างกำแพงแข็งแกร่งรับแรงกระแทก ขึงตาข่ายรับความเสี่ยงยามพลาดตกจากที่สูงโดยไม่เจ็บตัว ที่สำคัญ" เศรษฐกิจพอเพียง"คือการปิดจุดอ่อนที่คู่แข่งมองเห็นและหาโอกาสเหมาะสมเพื่อโจมตี
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นบทเรียนที่แสนเจ็บปวด และยังคงทิ้งบาดแผลเป็นรอยจารึกให้ต้องจดจำมิรู้ลืมเลือน หากแต่บทเรียนดังกล่าวเสมือนครูที่สอนให้เห็นถึงการพัฒนาประเทศในอดีตผ่านมาไม่มีความสมดุล และปราศจากซึ่งเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับศักยภาพขององค์กร และความพร้อมของคนในสังคม ยังผลให้เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง
ปัจจุบันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็มิได้ต่างจากอดีต หากแต่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นด้วยกระแสธารของโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพียงเสี่ยววินาที ซึ่งหมายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะซีกโลกใดก็ตาม กระแสคลื่นดังกล่าวจะส่งผลต่อหลาย ๆ ประเทศบนโลกใบนี้อย่างรวดเร็ว และเป็นสิ่งที่มิอาจเลี่ยงได้ หากแต่สามารถสร้างภูมิคุ้มได้
จิรายุ อิสรางกูร ณ อยุธยา ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง บอกว่า อย่างวันนี้การที่ประชาชน และภาคธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันแพง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่นิ่ง ความเสี่ยงของภัยธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดจากสงครามตะวันออกกลาง ปัจจัยเช่นนี้หากโครงสร้างของประเทศอ่อนแอย่อมนำไปสู่วิกฤตได้อีกครั้ง
ปัญหาความอ่อนแอในภาคเศรษฐกิจศึกษาได้จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตัวอย่างที่เห็นชัดคือวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เกิดขึ้นจาก การลงทุนของภาคเอกชนโดยไม่คำนึงถึงความพอเหมาะพอดี การที่สถาบันการเงินปล่อยกู้อย่างไม่ยั้งคิดจนต้องขอเงินกู้จากต่างประเทศ โดยไม่คำนึกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นล้วนอยู่บนพื้นฐานการไม่รู้จักพอเพียง
ภาคเอกชนลงทุนโดยไม่คำนึกถึงความสามารถในการจ่ายหรือชำระหนี้คืนได้หรือไม่ สิ่งที่มองเห็นอย่างเดียวนั้นคือผลประโยชน์และกำไรสูงสุกเป็นที่ตั้ง ความคิดดังกล่าวทำให้ขาดความระวัง และกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้มือที่สามเข้ามาลอบทำร้ายและโจมตีจนพินาศ ดังนั้นเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาจะโทษคนอื่นผิดนั้นคงไม่ถูกต้องทั้งหมด... หากแต่ต้องรวมถึงคนในประเทศที่คุยโตโอ้อวดถึงความยิ่งใหญ่ หากแต่ศัตรูมิได้เห็นเช่นนั้น หากเห็นถึงจุดอ่อนช่องโหว่มากมากที่สามารถเข้าโจมตีได้เมื่อสบโอกาส
นี่คือบทเรียนราคาแสนแพงที่หาซื้อไม่ได้ที่ไหนบนโลกนี้ และนำมาสู่การทบทวนและพิจารณาหาแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นความเข้มแข็งในทุกระดับทุกภาคตั้งแต่ประชาชน เอกชน และรัฐบาลจะต้องรู้จักและเข้าใจในปรัชญาและความหมายของคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง"
ภูมิคุ้มกันหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ยังไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งที่แท้จริงให้กับสังคมและเศรษฐกิจของไทย ยังคงพบความเหลื่อมล้ำทางสังคมตั้งแต่เรื่องฐานะทางการเงิน การศึกษา ของคนในสังคมที่นับวันจะยิ่งมีช่องว่างห่างไกลกันทุกที และความแตกต่างดังกล่าวนำมาซึ่งความอ่อนแอในประเทศ ที่ต่อให้แม้ประเทศไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจโลก หรือรับกระแสโลกาภิวัตน์ก็มิได้สร้างความแข็งแกร่งที่แท้จริงอย่างยังยืนในระยะยาวให้กับประเทศ
แม้จะไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศว่ามีความสำคัญ แต่ทั้งนี้ก็ต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จิรายุ บอกว่าเพราะแนวคิดนี้ไม่ได้แก้ปัญหาความอ่อนแอของภาคหนึ่งภาคใด หากแต่ทุกภาคเอกชน รัฐบาล เกษตรกร บริษัทต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้หมด และนี่จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจพอเพียง
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพบว่าพระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำคำว่าพอเพียงคือ การพึ่งตนเอง เพื่อให้เกิดการพอมีพอกิน พอมีพอใช้ ด้วยหลักของความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ไม่ให้มีความประมาท ตระหนักถึงการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีคุณธรรมและกรอบในการปฏิบัติและดำเนินชีวิต และทั้งหมดนี้คือกรอบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่จะถอดรหัสปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีระบบขั้นตอนและการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง
จิรายุ เล่าให้ฟังว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ให้มีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้เป็นกรอบความคิด เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยทั่วทุกภาคซึ่งจะช่วยเสริมพลังให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
การขับเคลื่อนไปสู่ความแข็งแกร่งนั้นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้แยกเครือข่ายออกเป็น 8 ส่วนเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้ ตั่งแต่ระดับผู้นำทางความคิด ส่วนวิชาการ ส่วนสถาบันการศึกษาเยาวชน สถาบันการเมือง สื่อมวลชนประชาชน องค์กรภาคธุรกิจเอกชน และประชาสังคม ซึ่งการขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งจะอยู่บนพื้นฐานความสุขของปวงชนในประเทศ
"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นเรื่องที่ประชาชนคนได้ได้ยินมานาน หากความเข้าใจลึกซึ้งและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืนยังเกิดขึ้นน้อย หลายคนคือว่าเรื่องนี้เป็นของเกษตรกรชาวไร้ชาวนา แท้จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุกภาคของสังคมสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ได้หมด ด้วยการยึดหลักง่าย ๆ ของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ การกระทำที่คิดถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐานความรู้และคุณธรรมตลอดเวลา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|