|

Blue Ocean Products กลยุทธ์สร้างตลาดใหม่ แอลจี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) ขานรับนโยบายบริษัทแม่ในการทำการตลาดภายใต้กลยุทธ์ Blue Ocean Strategy ด้วยการลอนช์ Time Machine TV หรือทีวีที่มีเทคโนโลยี DVR (Digital Video Recorder) พร้อมด้วยฮาร์ดดิสก็ในตัวทำให้สามารถบันทึกรายการทีวีได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องบันทึก เพื่อขยายฐานลูกค้าไฮเอนด์ และเลี่ยงสงครามราคา
แอลจีเดินกลยุทธ์ Blue Ocean ด้วยการลอนช์ Time Machine TV หรือทีวีที่มีระบบบันทึกภายในตัวโดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายระดับไฮเอนด์และสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในเมืองที่ไม่ค่อยมีเวลาโดย Time Machine TV เป็นการเชื่อมตลาดทีวีและตลาดเครื่องบันทึกดีวีดีเข้าด้วยกัน แต่ต่างกันตรงที่ Time Machine TV ทำได้แค่บันทึกลงฮาร์ดดิสก์ในทีวีแต่ไม่สามารถบันทึกลงแผ่นได้อย่างเครื่องบันทึกดีวีดี ซึ่งทำให้ไม่มีปัญหาในการถูกฟ้องว่าเป็นเครื่องมือรองรับการละเมิดลิขสิทธิ์
แอลจีลอนช์ทีวีที่เป็น Time Machine TV 3 รุ่นด้วยกันโดยเป็นพลาสม่าทีวี 2 รุ่น และ แอลซีดีทีวี 1 รุ่น โดยพลาสม่า 50 นิ้ว รุ่น 50 PB 2 RR มีราคา 119,000 บาท ขณะที่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 120,000-149,000 บาท พลาสม่า 42 นิ้ว รุ่น 42 PC 1 RRราคา 79,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับคู่แข่งแต่ว่าคู่แข่งไม่มีระบบบันทึกในตัว ส่วนแอลซีดีทีวี 42 นิ้ว มีราคา 89,900 บาท
คุณสมบัติที่โดดเด่นของ Time Machine TV คือการมีฮาร์ดดิสก์ความจุ 80 GB ทำให้สามารถบันทึกรายการได้ 40 ชั่วโมงสำหรับคุณภาพระดับธรรมดา และบันทึกคุณภาพละเอียดได้ 20 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถหยุดรายการสดแล้วกลับมาชมในภายหลังได้ รวมถึงการตัดตอนรายการที่บันทึกไว้ออกไปบางส่วน เช่นในส่วนที่ไม่เหมาะกับเด็กก็สามารถลบทิ้งได้ อย่างไรก็ดีแม้ Time Machine TV จะไม่สามารถบันทึกลงแผ่นได้แต่สามารถรับข้อมูลจากภายนอกได้โดยผ่านช่องรับสัญญาณเอวี ซึ่งในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะนำ Time Machine TV รุ่นที่มี X Studio ที่รองรับการ์ดข้อมูล 9 ชนิด และมีแผนที่จะทำช่องต่อ USB ทำให้รับสัญญาณจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆได้สะดวกยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นกล้องวิดีโอ กล้องดิจิตอล ตลอดจนคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ
ปีนี้แอลจีใช้งบการตลาดในกลุ่มเอวี 100 ล้านบาท โดยกว่า 90% จะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Time Machine TV โดยแบ่งเป็นงบโฆษณา 30% และงบกิจกรรมการตลาด 70% ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่ใช้เพียง 60% เนื่องจากแอลจีได้การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและพบว่ากว่า 80% มีการตัดสินใจซื้อ ณ จุดขาย ดังนั้นบริษัทจึงเน้นการทำกิจกรรมและโรดโชว์ไปตามช่องทางต่างๆเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค ซึ่งในหลายๆครั้งที่มีการโรดโชว์สามารถสร้างยอดขายได้
อย่างไรก็ดีแม้ Time Machine TV จะมีราคาในระดับเดียวกับท้องตลาดแต่ทว่ายังถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนไปทางไฮเอนด์ ดังนั้นจึงต้องมีการเลือกช่องทางจำหน่ายให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายโดยแอลจีจะนำ Time Machine TV เข้าสู่ดีลเลอร์ประมาณ 50 แห่งที่มีศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าไฮเอนด์ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 500 ราย ขณะที่โมเดิร์นเทรดก็จะจำหน่ายผ่าน เพาเวอร์บาย และโฮมโปร โดยรวมแล้วตลาดหลักจะอยู่ในกรุงเทพฯ 70% ที่เหลือ 30% จะกระจายไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ
ทั้งนี้แอลจีตั้งเป้าว่า Time Machine TV ซึ่งเป็น Blue Ocean Products ที่สำคัญของปีนี้จะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดพลาสม่าทีวีเพิ่มจาก 25% เป็น 27-30% ส่วนแอลซีดีทีวีซึ่งมี Time Machine TV อยู่รุ่นเดียว คงยังไม่สามารถผลักดันยอดขายได้มากนัก แต่จะอาศัยไลน์อัพของสินค้าที่มีอยู่ในการสร้างตลาดไปก่อน รวมถึงการทำโปรโมชั่นพิเศษร่วมกับช่องทางจำหน่ายซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดแอลซีดีทีวีเพิ่มจาก 4% เป็น 15%
นอกจากนี้แอลจียังมีแผนที่จะการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรใหม่ๆเช่นยูบีซี เคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม เพื่อขยายตลาด Time Machine TV ไปสู่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเนื่องจากมีผังรายการที่ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง แต่ผู้บริโภคไม่สามารถรอดูได้ก็จะใช้ Time Machine TV เพื่อบันทึกรายการโปรดได้เพียงแค่เลือกเวลาและช่องสัญญาณจากนั้นก็สแตนบายเอาไว้ เครื่องก็จะบันทึกอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ย่อยคือ Value Marketing Engine (VME) หรือการให้ความสำคัญกับการลงทุนและวางแผนการตลาดอย่างชัดเจนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดและสร้างความโดดเด่นให้กับตัวสินค้ามากขึ้น
"ในตลาดโลกตอนนี้เรายังไม่มีคู่แข่งโดยตรงที่บิลต์อินระบบบันทึกเข้าไปในทีวี จะมีก็เป็นแบบแยกกล่องซึ่งทำให้มีการเดินทางของสัญญาณที่มากกว่าซึ่งส่งผลให้คุณภาพด้อยลงไป เราจึงเชื่อมั่นว่า Blue Ocean Products ตัวนี้จะได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคู่แข่งยังไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ในเวลาอันสั้นนี้ และเราก็คาดว่า Time Machine TV จะมีสัดส่วนสูงถึง 30-40% ของยอดจำหน่ายทีวีปกติ" ฉันท์ชาย พันธุฟัก ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ด้านภาพและเสียง แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าว
Blue Ocean ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับการกล่าวขานกันอย่างมากในยุคที่การแข่งขันรุนแรง โดยกลยุทธ์ดังกล่าวเน้นในเรื่องของการสร้างตลาดใหม่เพื่อเลี่ยงสงครามราคา และช่วยชะลอความถดถอยของราคาสินค้าไม่ให้ตกต่ำเร็วเกินไป รวมถึงการหาแนวทางในการลดต้นทุนเพื่อทำให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ซึ่งในช่วงต้นปีแอลจีก็ได้ประกาศกลยุทธ์ดังกล่าวพร้อมกับการเพิ่มฟังก์ชั่นคาราโอเกะให้กับเครื่องเสียง New Karaoke System (NKS) ซึ่งมีลูกเล่นในการปรับจังหวะ ปรับคีย์ รวมถึงโปรแกรมการให้คะแนนกับผู้ร้อง โดยเครื่องเสียงรุ่นใหม่ที่มีฟังก์ชั่น NKS จะบรรจุเพลงของแกรมมี่กว่า 2,000 เพลง เป็นการขยายฐานจากคนที่ชอบฟังเพลงมาสู่คนที่ชอบร้องเพลง โดยแอลจีตั้งเป้าว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะผลักดันให้บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องเสียงเพิ่มจาก 10% เป็น 12% ในปีนี้ ส่วนการทำตลาด Time Machine TV นั้น แอลจีตั้งเป้าว่าจะสามารถผลักดันให้บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากทีวีไฮเอนด์เพิ่มเป็น 30%
สำหรับในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่สามารถเข้าสู่กลยุทธ์ Blue Ocean ได้ ก็จะเน้นการเพิ่มฟีเจอร์การใช้งานที่มากขึ้น เช่น เครื่องเล่น DVD ที่สามารถอ่านแผ่น DivX ได้ การเพิ่มฟังก์ชั่นคาราโอเกะ หรือฟังก์ชั่นในการปรับเสียง 2.1 แชนนอล ให้เป็น 5.1 แชนนอล อย่างไรก็ดีในการทำการตลาดสำหรับสินค้าที่ไม่ได้เป็น Blue Ocean จำเป็นจะต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาด้วยเนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยจะเห็นได้ชัดจากเครื่องบันทึกดีวีดีที่แอลจีทำรุ่นราคา 9,990 บาทสู่ตลาด ในขณะที่ราคาระดับแบรนด์เนมส่วนใหญ่ยังอยู่ในหลักหมื่นกว่าบาทถึงสองหมื่นบาทขึ้นไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|