|
ตลาดเด็กฟุ้ง ธุรกิจสื่อแห่รุมตอมมั่นใจกำลังซื้อไม่หดหายตามเศรษฐกิจ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้เศรษฐกิจจะซบเซา กำลังซื้อในเกือบทุกตลาดส่อแววหดหาย แต่ดูเหมือนตลาดเด็กกลับไม่เป็นเช่นนั้น ฟรีทีวี 2 ช่องยักษ์ เคลียร์ผังรับรายการเด็ก ไอพีทีวี ใช้ดีสนีย์ขยายฐานลูกค้า ยูบีซี จัดอีเวนท์เด็ก เสริมภาพพจน์ ด้านค่ายการ์ตูน หนังสือ ของเล่น วิซีดี ประกาศจับมือสร้างคาแรคเตอร์กวาดกำลังซื้อเด็ก
นับเป็นปรากฏการณ์ใจตรงกันโดยไม่ตั้งใจอีกครั้งของวงการโทรทัศน์เมืองไทย เมื่อสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องหลัก พร้อมใจกันประกาศปรับผังรายการ โดยมุ่งไปหารายการเด็ก ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ผลิตรายการเด็กทุกยุคสมัยต่างออกมาโอดครวญถึงการไม่เห็นถึงความสำคัญของรายการเด็กจากสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นรายการที่มีเรตติ้งต่ำ หาโฆษณาได้ยาก
แต่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ ผู้บริโภคที่แม้จะประหยัดกับการใช้จ่ายเพื่อตนเอง แต่หากพูดถึงการจับจ่ายเพื่อบุตรหลาน เด็กเล็ก ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมุ่งหวังส่งมอบแต่สิ่งที่ดี เพื่อสร้างอนาคตที่ดีนั้น กลับไม่ได้ลดน้อยลง กลายเป็นตลาดที่ยังมีกำลังซื้อเข้มแข็งอยู่ ส่งผลให้การใช้งบประมาณด้านสื่อของเจ้าของสินค้าเด็กไม่ได้ถดถอยเหมือนสินค้าประเภทอื่น
สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างรายการข่าว และรายการผู้หญิง จนสามารถสร้างกำไรได้ถึง 465 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ประกาศเล็งเป้าไปที่รายการเด็ก เป็นลำดับต่อไป โดยในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะมีการปรับผังเพิ่มรายการเด็กและเยาวชนในช่วง 16.00 น. เป็นรายการ CSA เรียลลิตี้ การประกวดร้องเพลงของเด็ก ดูแลการผลิตโดย มณีนุช เสมรสุต พร้อมรายการสตอรว์เบอรี่ ชิสเค้ก และรายการการ์ตูนผู้หญิงถึงผู้หญิง
"การที่ช่อง 3 พัฒนารายการเด็ก ก็เพื่อปิดจุดอ่อนที่เราไม่เคยมีรายการเด็ก ถ้าพูดถึงรายการเด็กจะนึกถึงช่องอื่น แต่ตอนนี้เราจะเพิ่มให้เค้าคิดถึงเรามากขึ้น ขั้นแรกจะเริ่มจากได้คนดูมาก่อน แต่ต่อไปจะค่อย ๆ มีรายได้เหมือนรายการอื่น ๆ และในที่สุดจะกลายเป็นสถานีเด็กอันดับ 1 และเป็นรายได้หลักขาที่ 4 ให้กับบริษัท ต่อจากละคร ข่าว และรายการผู้หญิง" ประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารบีอีซี เวิลด์ ตั้งเป้า
พร้อม ๆ กับการเปิดตัวรายการเด็กของช่อง 3 คู่แข่งตลอดกาลอย่างช่อง 7 ก็บังเอิญมีแนวคิดคุมตลาดนี้อยู่เช่นกัน สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริการสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 กล่าวว่า ปีหน้ามีแผนที่จะปรับรูปแบบรายการใหม่โดยจะหันมาให้ความสำคัญกับรายการเด็กมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยเด็กอายุระหว่าง 4-14 ปี ให้มากขึ้น ขณะที่ฐานผู้ชมส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นคนอายุ 24-35 ปี
ถือเป็นการกระจายกลุ่มเป้าหมายผู้ชมของช่อง 7 ที่กว้างขึ้น โดยช่อง 7 จะให้มีการเสนอรายการเด็กอย่างน้อยวันละ 1-1.30 ชั่วโมง ในช่วงเย็น ซึ่งจะมีการเริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในเวลา 17.00-17.30 น. สมพงษ์มั่นใจว่า ด้วยความนิยมของช่อง 7 ซึ่งเป็นตัวเลือกแรกในการลงโฆษณาของเจ้าของสินค้าและเอเจนซี่โฆษณามาโดยตลอด ก็จะทำให้รายการเด็กของช่อง 7 ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน
ทรูไอพีทีวี ดึงดีสนีย์ช่วยหาลูกค้า
ไม่เพียงแต่สื่อโทรทัศน์แบบเดิม ๆ เท่านั้นที่จ้องใช้ตลาดเด็กเป็นกลไกที่ช่วยขยายเรตติ้ง ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หากแต่สื่อโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่า ไอพีทีวี ก็มองว่ารายการสำหรับเด็กจะเป็นจุดขายสำคัญในการสร้างกลุ่มผู้ชมรายการโทรทัศน์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ นี้แพร่หลายยิ่งขึ้นเช่นกัน
ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ส่วนตัวผ่านอินเทอร์เน็ตในชื่อ "ทรู ไอพีทีวี" ซื้อลิขสิทธิ์ 2 สถานีบันเทิงสำหรับเด็กและครอบครัวของวอลท์ ดิสนีย์ มาเผยแพร่ผ่านทรู ไอพีทีวี นับเป็นรายที่ 2 ในเอเชียต่อจากฮ่องกง ที่ดิสนีย์เปิดสถานีผ่านโครงข่ายไอพีทีวี โดยประกอบด้วย ดิสนีย์ ชาแนล ที่เน้นกลุ่มผู้ชมวัย 6 ปีขึ้นไป และ เพลย์เฮ้าส์ ดีสนีย์ ชาแนล สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-5 ปี รวมถึงผู้ปกครอง
ปัจจุบันไอพีทีวีของทรู เปิดให้บริการรายการบันเทิงและข่าวสาร 12 ช่องสถานี มีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่เพียงหลักพันราย ทั้งที่ทรูมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ สูงถึง 6-7 แสนราย แต่ไพสิฐ วัจนะปกรณ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป ด้านบรอดแบนด์ บรอดคาสติ้ง มัลติมีเดีย ก็มั่นใจว่า 2 ช่องสถานีดีสนีย์ที่เปิดใหม่จะเป็นส่วนสำคัญในการขยายกลุ่มผู้ชม ตั้งเป้าเวลาปีครึ่ง จะสามารถขยายฐานสมาชิกทรูไอพีทีวี เพิ่มเป็น 70% ของฐานลูกค้าทรู บรอดแบนด์ ได้อย่างแน่นอน
ยูบีซีอัดอีเว้นท์เด็กเสริมแบรนด์อะแวร์เนส
ด้าน ยูบีซี เคเบิลทีวี ประกาศนำเข้าโชว์ดัง "การ์ตูนนิวัล (Cartoonival : Cartoon Network Live! On Stage)" เพื่อสนองตอบทุกรูปแบบของความต้องการให้แก่ผู้บริโภค โดยโชว์ตัวนี้จะเจาะไปลูกค้าของยูบีซีที่เป็นเด็กตั้งแต่ 3-10 ขวบ เพื่อเน้นการสร้างอะแวร์เนสกับลูกค้ามากขึ้นและเพื่อตอกย้ำช่องรายการที่นำเสนอสาระบันเทิงผ่านบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกด้วย
"การจัดโชว์นี้จะช่วยสร้างการรับรู้หรืออะแวร์เนสให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อยูบีซีได้มากขึ้น โดยโชว์นี้จะเริ่มที่กรุงเทพฯก่อน และจะกระจายไปในต่างจังหวัดทุกพื้นที่ของประเทศด้วย หากได้กระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้เราน่าจะได้ลูกค้าที่บอกรับสมาชิกกับเราเพิ่มขึ้นด้วย" องอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายพาณิชย์ธุรกิจ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน เผยถึงวัตถุประสงค์
โชว์ตัวนี้จะจัดขึ้นเริ่มต้นประเทศในแถบเอเชียเป็นที่แรก เริ่มจากตลาดเอเชีย ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และไทยเป็นประเทศที่ 3 โดยจัดแสดงในระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ทางยูบีซีคาดว่าจะมีผู้ชมประมาณ 26,000-28,000 คน จากการแสดงทั้งหมด 5 วัน
ค่ายการ์ตูนจับมือซื้อลิขสิทธิ์ครบวงจร
ส่วนสื่อดั้งเดิม "การ์ตูน" สุดยอดแม่เหล็กที่เรียกความสนใจจากเด็ก ๆ ได้ตลอดการ ได้เริ่มปรับโฉมเปลี่ยนกระบวนทัพครั้งใหม่ เพื่อเจาะให้ถึงใจเด็ก เพิ่มแรงสะเทือนไปถึงเงินในกระเป๋าของพ่อแม่ด้วย
เริ่มการเคลื่อนไหวแรกด้วยการส่ง "แบทเทิ้ล บีดาแมน" การ์ตูนดังแดนปลาดิบมาขึ้นจอ ด้วยการผนึกของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ของวงการการ์ตูนและของเล่นไทย บงกช-ดรีมเอ็กซ์เพรส (เดกซ์)-ก.เจริญทอยส์ โดยซื้อลิขสิทธิ์รวบยอดจากบริษัท ดีไรท์ จำกัด ธุรกิจผลิตสื่อทีวีและอนิเมชั่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ภาพผ่านทางโทรทัศน์ ลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายของเล่นและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการลิขสิทธิ์ในการผลิตสินค้าเพื่อออกวางจำหน่ายและทำโปรโมชั่นด้วย โดยความเชี่ยวชาญในทำธุรกิจของแต่ละบริษัท เมื่อจับมือกัน ก็เชื่อว่าจะส่งให้คาแรคเตอร์การ์ตูนตัวนี้ประสบความสำเร็จได้แน่นอนกว่าการต่างคนต่างทำ
"หนังสือการ์ตูนเด็กอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจบ้าง แต่เรามั่นใจว่าสำหรับตัวแบทเทิ้ล บีดาแมน นี้จะสามารถฝ่าภาวะตลาดแบบนี้ได้ เพราะคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนนี้โดดเด่นมาก คงติดตลาดง่ายและที่ญี่ปุ่นเองก็ประสบความสำเร็จมาก อีกทั้งทำยอดขายสินค้าไปแล้วถึง 50 ล้านบาท" สิริจันทร์ พิพิธรังษี ผู้จัดการฝ่ายลิขสิทธิ์และการตลาด บริษัท บงกช พับบลิชชิ่ง จำกัด กล่าวถึงจุดแข็งของสินค้าที่จะช่วยทำตลาดให้กับบริษัท
สำหรับผู้ดูแลการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์และตลาดวีซีดี อย่างบริษัท ดรีมเอ๊กซ์เพรส (เอกซ์) จำกัด ที่เตรียมนำการ์ตูนเรื่องนี้ฉายผ่านโมเดิร์นไนน์ทีวี และผ่านรูปแบบวีซีดีในกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนดูหลักจะมีอายุตั้งแต่ 5-12 ปี ทั้งที่ดูผ่านฟรีทีวีและดูผ่านแผ่นวีซีดี ส่วนในเรื่องโอกาสและภาวะทางการตลาดที่จะมีผลต่อการเปิดตัวการ์ตูนเรื่องใหม่นี่ ทางพนิดา เทวอักษร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีมเอ๊กซ์เพรส (เอกซ์) มีความเห็นสอดคล้องว่า
" ตลาดอาจจะทรงตัวอยู่บ้าง แต่ถ้าคาแรคเตอร์การ์ตูนโดดเด่น ยังไงเสียกำลังซื้อก็น่าจะตามมา เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ให้ข้อคิดที่ดี และสินค้าที่มีคาแรคเตอร์ไปลงนั้นก็เป็นกลุ่มสินค้าที่ขายได้อยู่แล้ว ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|