|
เอ็นพาร์คเร่ขายโนโวเทลภูเก็ต-สิริภูเก็ตรอเลแมนฯชี้ขาดหวังดึงเงินจ่ายหนี้กรุงไทย
ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เอ็นพาร์คฝ่ามรสุมทางธุรกิจ ประกาศขายทรัพย์ให้แก่บริษัท เลแมน บราเดอร์สฯ อีกระลอก ทั้งโครงการโรงแรมโนโวเทล ภูเก็ต-บริษัท สิริภูเก็ตฯ รวมจำนวน 750 ล้านบาท หวังนำเงินชำระหนี้สถาบันการเงิน เสริมทุนหมุนเวียนและพัฒนาโครงการใหม่ ด้านโบรกเกอร์ชี้ บริษัทเอ็นพาร์คยังมีภาระหนี้กับแบงก์กรุงไทย 2,000 ล้านบาท ชี้โอกาสผลักดันให้ผลประกอบการพลิกขาดทุนเป็นบวกอีกนาน
นายอัครพงศ์ พูลทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และวางแผน บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) (N-PARK) เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทครั้งที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติให้บริษัท แนเชอรัล โฮเต็ล พันวา จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นประมาณ 100% ของทุนจดทะเบียน ทำการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับโครงการโรงแรมโนโวเทล บีช รีสอร์ท พันวา ภูเก็ต ให้แก่บริษัท เลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด และ/หรือบุคคลที่บริษัท เลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด กำหนดในราคา 550 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับราคาซื้อขายในสัญญาซื้อขายดังกล่าว รวมทั้งให้บริษัทเข้าค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายของบริษัท แนเชอรัล โฮเต็ล พันวา จำกัด
นอกจากนี้ บริษัทได้ตัดสินใจขายหุ้นสามัญในบริษัท สิริภูเก็ต จำกัด ที่ถือโดยบริษัทฯ จำนวน 49,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท คิดเป็น 49% ของจำนวนหุ้นที่ออกแล้วทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมแก่บริษัท สิริภูเก็ต จำกัด จำนวน 105.86 ล้านบาท (เงินต้นและดอกเบี้ย ณ วันที่ 30 มิ.ย.49 ) รวมถึงดอกเบี้ยที่คิดจนถึงวันที่ทำการซื้อขายให้แก่บริษัท เลแมนฯ และ/หรือบุคคลที่บริษัท เลแมนฯ กำหนดในราคารวม 200 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับราคาซื้อขายในสัญญาซื้อขายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในบริษัท สิริภูเก็ต จำกัด เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาที่ดินที่ตั้งอยู่บนจุดชมวิวของอ่าวกะตะน้อย จังหวัดภูเก็ต ดังนั้น บริษัท เลแมนฯ จึงได้ตกลงในหลักการร่วมกันว่า หากบริษัท เลแมนฯ ไม่สามารถตกลงเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจกับบริษัท แสนสิริฯ ได้ บริษัทตกลงที่จะให้สิทธิแก่บริษัท เลแมนฯ ในการขายคืนหุ้นสามัญในบริษัท สิริภูเก็ต จำกัด จำนวน 49,000 หุ้น และสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมแก่บริษัท สิริภูเก็ต จำกัด ดังกล่าวให้แก่บริษัทได้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการได้มอบหมายให้กรรมการบริหารไปเจรจาในรายละเอียดเกี่ยวกับการให้สิทธิดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบอำนาจให้กรรมการบริหารหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริหาร มีอำนาจในการเจรจา ตกลง ทำและลงนามในเอกสารหรือสัญญาใดๆ ตามที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับการขายทรัพย์สินและการให้สิทธิขายคืนดังกล่าวข้างต้น
รายงานข่าวจากบริษัทแสนสิริ ระบุว่า การตัดสินใจขายหุ้นของบริษัทเอ็นพาร์คในบริษัท สิริภูเก็ตฯ คงไม่ได้ส่งผลกระทบหรือมีปัญหาอะไรกับบริษัท เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวมีศักยภาพในการลงทุนและพัฒนาโครงการรองรับนักลงทุนได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันหากทางบริษัทเลแมนฯ ได้ตัดสินใจซื้อหุ้นส่วนของเอ็นพาร์ค ก็ถือว่าเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ แต่ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ติดต่อกับทางบริษัทเลแมนฯ
ทั้งนี้ ราคาขายทรัพย์สินดังกล่าว เป็นราคาที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของทรัพย์สิน การขายทรัพย์สินทั้ง 2 รายการดังกล่าว จะส่งผลให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและทำให้บริษัทมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น โดยเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และชำระหนี้เงินกู้คืนให้แก่สถาบันการเงินที่ถึงกำหนดชำระแล้ว และที่จะถึงกำหนดชำระในอนาคต รวมถึงนำไปพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อไปในอนาคต
อนึ่ง ขนาดรายการที่ทางบริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่ากับ 5.67% ตามเกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน ซึ่งต่ำกว่า 15% ดังนั้นจึงอยู่ในข่ายที่คณะกรรมการคณะกรรมการจะมีอำนาจในการอนุมัติได้ โดยไม่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการทำรายการ
คาดนำเงินจ่ายหนี้แบงก์กรุงไทย
ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไซรัส จำกัด กล่าวถึงกรณีของเอ็นพาร์คว่า การประกาศขายทรัพย์สินดังกล่าว คาดว่าจะได้รับเงินประมาณ 750 ล้านบาท น่าจะเสริมให้บริษัทมีรายได้จากการขายนำไปใช้หนี้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงได้ระดับหนึ่ง เพราะเอ็นพาร์คยังมีหนี้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งต้องครบกำหนดจ่ายในปีนี้ ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นบริษัทได้ทยอยขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป เพราะหากจะรอรายได้จากการลงทุน เช่น โรงแรมก็คงจะล่าช้าไปหลายปีกว่าธุรกิจจะถึงจุดคุ้มทุนและสร้างกำไร
"การตัดขายสินทรัพย์ดังกล่าว แม้จะช่วยให้บริษัทลดภาระดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้ยืมได้ แต่คงไม่ถึงกับทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทพลิกมามีกำไรในทันที" นักวิเคราะห์สะท้อนให้เห็นถึงธุรกิจของเอ็นพาร์คในอนาคต
ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทได้พยายามที่จะขายหุ้นสามัญของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL โดยกำหนดขายทั้งหมดหรือบางส่วนในราคาไม่ต่ำกว่า 1.52 บาทต่อหุ้น ซึ่งล่าสุดได้เจรจากับบริษัท มหาศิริ สยาม จำกัด (MS) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมอีกรายหนึ่งของ BMCLและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และได้บรรลุข้อตกลงที่ MS จะซื้อหุ้นสามัญใน BMCL จำนวน 245,860,418 หุ้น จากบริษัทในราคา IPO ที่ 1.31 บาทต่อหุ้น
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.49 มีรายได้รวมจำนวน 314.03 ล้านบาท ลดลง 44.16 ล้านบาท หรือลดลง 12.33% สำหรับค่าใช้จ่าย (รวมส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) มีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 524.21 ล้านบาท ลดลง 30.99 ล้านบาท หรือลดลง 5.58 % จึงส่งผลทำให้บริษัทมีขาดทุนสุทธิจำนวน 210.18 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปี 2548
ขณะที่งวดครึ่งแรกปี 49 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 453.70 ล้านบาท ลดลง 358.22 ล้านบาท หรือลดลง 44.12 % เนื่องจากในไตรมาสแรก บริษัทไม่มีการรับรู้กำไรจากการขายทรัพย์สิน สำหรับค่าใช้จ่าย (รวมส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) รวมจำนวน 913.01 ล้านบาท ลดลง 124.25 ล้านบาท หรือลดลง 11.98% รวมมีขาดทุนสุทธิจำนวน 459.31 ล้านบาท
โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. บริษัทมีสินทรัพย์รวม 13,213.23 ล้านบาท (ปี 48 มีสินทรัพย์ 13,600.35 ล้านบาท และปี 2547 มีสินทรัพย์ 17,172.81 ล้านบาท) และหนี้สินรวม 6,483.54 ล้านบาท (ปี 48 มีหนี้สินรวม 6,368.64 ล้านบาท ปี 47 มีหนี้สินรวม 9,299.76 ล้านบาท ) และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 6,729.69 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าตามบัญชี หุ้นละ 0.84 บาท มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 30 มิ.ย.48 อยู่ที่ 3,061.72 ล้านบาท (ปี 48 จำนวน 4,592.58 ปี 47 จำนวน 9,507.45 ล้านบาท)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|